วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.  “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.   “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

จับตาคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ ต่อการชี้ขาด ว่า ร่างกม.เลือกตั้งส.ส. นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผลที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ จุดชี้ชนะ พรรคใหญ่-พรรคเล็ก และอาจเป็น จุดพลิกชะตาการเมือง

         วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย คำร้องของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนำโดย “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ขอให้พิจารณา 2 ประเด็น

 

         ประเด็นแรกคือ ให้พิจารณาว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... มาตรา 25 และมาตรา 26 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่

 

         ประเด็นสอง ให้วินิจฉัยว่าการ ตรา “ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.” นั้น ทำโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

         สำหรับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบาทและหน้าที่ต้องชี้ขาดให้สิ้นสงสัย คือ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 25 และมาตรา 26 นั้น “ขัด” หรือ “ไม่ขัด” กับรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ มาตรา94 และกระบวนการตรากฎหมายนั้นทำอย่าง “ถูกต้อง“ หรือ ”ไม่ถูกต้อง” ตามรัฐธรรมนูญ

 

วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.   “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

         หากผลคำวินิจฉัยออกมาในทางที่ “ขัด” กับ รัฐธรรมนูญ จะทำให้ มาตราที่ยกมาในคำร้องนั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 148 กำหนดไว้เป็นรายละเอียด เพิ่มเติมว่า

 

         “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อความของร่าง พ.ร.ป.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ถือว่าร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งฉบับ แต่หากไม่ใช่สาระสำคัญ ให้เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นตกไป”

         หมายความว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า สิ่งที่ยื่นตีความเป็นสาระสำคัญ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งต้องตกไปทั้งฉบับ กระบวนการต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนที่เสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาให้พิจารณา

 

         ทว่า ทางนี้อาจทำให้เกิดทางตันทางการเมือง เพราะระยะเวลาทำกฎหมายลูกอาจไม่พอกับสมัยประชุม หรืออายุของสภาฯ ที่เหลืออยู่

 

         แต่หาก “เนื้อหาไม่ใช่สาระสำคัญ” ร่างกฎหมายนี้ยังไปต่อได้ โดยตัดเนื้อหาที่ขัดออก และส่งเฉพาะส่วนที่ไม่ขัดให้นายกฯ ดำเนินการตามขั้นตอน “ทูลเกล้าฯ” ได้ต่อไป

วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.   “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

         สำหรับเนื้อหามาตรา 25 และมาตรา 26 ในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งนั้น เป็นบทกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 ที่เขียนเป็นเงื่อนไข - ขั้นตอน การทำหน้าที่ของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบพึงมี

 

         ประเด็นนี้ หากมองว่า มีความสำคัญต่อการคิดคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ย่อมมีความเป็นไปได้ แต่ในชั้นการขอคำชี้แจงจาก “กกต.” เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และถ้อยคำที่เคยส่งไปยัง “รัฐสภา” กกต. ไม่มีประเด็นใดที่ติดใจ หรือมีเป็นปัญหา อุปสรรคต่อการทำหน้าที่

 

         ดังนั้น แม้ประเด็นนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “ขัด” เชื่อว่าไม่อาจถึงขั้นที่ทำให้ “ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.” ต้องตกไปทั้งฉบับ

         ขณะที่การขอให้วินิจฉัยว่าการตรา “ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.” นั้น ตราโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจาก “เกมล่มประชุม” ทำให้การพิจารณาเนื้อหาที่ทำมาในชั้นกรรมาธิการฯ และสภาฯ โหวตในวาระสอง เสร็จไม่ทันตามกรอบ 180 วัน และต้องกลับไปใช้เนื้อหาที่ถูกเสนอมาในวาระแรก

 

         ทำให้ "สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่รัฐสภาเสียงข้างมาก 354 เสียงโหวตให้ใช้ จำนวน 500 เป็นตัวเลขเพื่อหาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องถูกตีตก และกลับไปใช้จำนวน 100 หาร ด้วยเทคนิคของกฎหมาย ประเด็นนี้ เชื่อว่าจะไม่ถูกชี้ในทิศทางที่เลวร้ายที่สุด เพราะคำว่า “เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา” คุ้มครองการทำหน้าที่

วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.   “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

         ส่วนผลของคำวินิจฉัยที่ อาจออกมาว่า “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” ซึ่งกระแสและทิศทางโน้มเอียงในทางนี้มากที่สุด เพราะจากเหตุผลของการแก้กติกาเลือกตั้ง เป็นบัตร 2 ใบ ทำให้การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกแยกคะแนนออกจากกันชัดเจน

 

         หากจะเกิดกรณีการเลือกตั้งใหม่ การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่ต้องถูกรื้อ เพื่อคำนวณเป็นตัวเลข ส.ส.ใหม่ ตามที่ มาตรา 93 มาตรา 94 ซึ่งเป็นกติกาที่เขียนบนโจทย์ของ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ไม่ถูกนำมาใช้บังคับ

 

         ขณะที่ประเด็นการ “ตราไม่ถูกต้อง” นั้น เนื้อหาซึ่งยึดกรอบ 180 วันทำให้เสร็จ ถือเป็นกติกาให้ ส.ส.ต้องทำหน้าที่ โดยระบบการแบ่งแยกอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะไม่ก้าวล่วงการทำงานของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เว้นแต่เป็นกรณีที่มีการฉ้อฉลในการออกเสียงหรือลงมติ

 

         ดังนั้น หากทิศทางออกมาว่า “ไม่ขัด” ขั้นตอนต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งผลคำวินิจฉัยมายัง “ประธานรัฐสภา” เพื่อให้ “ชวน หลีกภัย” ในฐานะประธานรัฐสภา ส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.​ให้ “นายกฯ” ดำเนินการขั้นตอนทูลเกล้าฯ 

วิกฤติ-โอกาส ในมือ ศาลรธน.   “สูตรเลือกตั้ง” พลิกการเมือง ?

         โดยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายกฯ ต้องพักรอไว้ 5 วัน เผื่อมี “สมาชิกรัฐสภา” หรือ “นายกฯ” เห็นว่า ร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ต้องส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย

 

         หากพ้น 5 วันแล้ว ไม่มีประเด็นส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปคือ นายกฯดำเนินการต่อ ในกระบวนการทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน 

 

         ส่วนระยะเวลาที่คาดกันว่าร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่จะประกาศใช้ จะไม่ช้าไปกว่าเดือนมีนาคม 2566 

 

         หากนับปฏิทินเวลาแล้ว อาจไวกว่าที่สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล ชุดนี้ครบเทอม ไม่เกิน 10 วัน

 

         ขณะที่ กติกาเลือกตั้งที่ถูกปรับให้เป็น “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ไปก่อนหน้านี้ จะเติมเต็มความสมบูรณ์ ด้วยสูตรหาร 100 เพื่อหาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อว่า จะเอื้อให้ “พรรคใหญ่” ได้ส.ส.เป็นกอบเป็นกำเข้าสภา ขณะที่ “พรรคเล็ก” ที่เคยได้ประโยชน์จากสูตรหาร 500 มีโอกาส “สูญพันธุ์".