เปิดชื่อ-พฤติการณ์! ป.ป.ช.ตีตกคดี “ยิ่งลักษณ์-36 ครม.” จ่ายเงินเยียวยาม็อบ

เปิดชื่อ-พฤติการณ์! ป.ป.ช.ตีตกคดี “ยิ่งลักษณ์-36 ครม.” จ่ายเงินเยียวยาม็อบ

เปิดชื่อครบ-พฤติการณ์ละเอียดยิบ! ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ตีตกข้อกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์” พ่วง ครม. 36 คน อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง วงเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท ชี้ทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตีตกข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก รวม 36 ราย กรณีถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 วงเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 และตามประมวลกฎหมายอาญา

โดยพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดสรุปได้ ดังนี้

1.วันที่ 6 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมืองตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฯ โดยนำหลักการเยียวยาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานขึ้นกล่าวอ้าง แต่ได้ยกข้อเสนอขึ้นเพียงบางส่วนและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ คอป. เสนอ และอนุมัติวงเงิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2553 รวมผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ จำนวน 2,369 ราย ประมาณการวงเงินเยียวยา จำนวน 1,931,530,000 บาท

2.วันที่ 24 พฤษภาคม 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธานในการมอบเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบครั้งแรก จำนวน 524 ราย รวมวงเงิน 577 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย ทุพพลภาพ 6 ราย บาดเจ็บสาหัส 58 ราย บาดเจ็บทั่วไป 177 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย การจ่ายเงินครั้งนี้เป็นการจ่ายจากเงินงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 หมวดงบประมาณสำรองฉุกเฉินซึ่งถือเป็นงบกลาง สำหรับจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น โดยให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยเบิกจ่าย

3.การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกรณีต่างๆ ตามปกตินั้น หากมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การชดเชยเยียวยาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีกฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ เช่น กรณีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ได้บัญญัติสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่ต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้นว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดไว้ รัฐมีหน้าที่จะต้องเยียวยาชดเชยความเสียหาย โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน รวมทั้งจำนวนเงินที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าว 

บุคคลมีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา คือ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนฯ ดังกล่าว

การกำหนดค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 18 วรรคสอง และมาตรา 21 วรรคสอง คณะรัฐมนตรีไม่ใช่คณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว การกระทำของคณะรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

  • ยกตัวอย่างเยียวยายุค "สมชาย-อภิสิทธิ์"

ตัวอย่าง กรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 โดยอ้างพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 มาเป็นแนวทางการเยียวยาเพื่อให้มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับไว้ด้วยและใช้เป็นบรรทัดฐานในการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในกรณีต่างๆ ต่อมาภายหลังให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันในหลายกรณี

กรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2551) กำหนดให้นำมติคณะรัฐมนตรีในการจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และ มติคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นมาตรฐานในสมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งการสลายการชุมนุมในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 8 ถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552) และเหตุการณ์วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553) ซึ่งให้ถือเกณฑ์มาตรฐานการเยียวยาเดียวกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 มาเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปอย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานของความเสมอภาคทุกกรณี

4.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนี้มีลักษณะข้อเท็จจริงเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับข้างต้นกำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่มีกฎหมายและระเบียบในการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว แต่กรณีการจ่ายเงินเป็นการกระทำที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติในการเยียวยาในอดีตที่เคยปฏิบัติมาอย่างสิ้นเชิง

ผู้ถูกกล่าวหาตามข้อเท็จจริงข้างต้นได้ให้ความเห็นชอบในการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ ทั้งวิธีการ ขั้นตอน รวมถึงอัตราจำนวนเงินในการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนตัวเลขที่แตกต่างจากกรณีผู้ได้รับการเยียวยาในอดีตที่ผ่านมาอย่างมากอีกทั้งการออกมติดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานในการเยียวยามาอ้างอิง โดยคณะรัฐมนตรีผู้อนุมัติหลักเกณฑ์ทราบดีว่าการเยียวยาที่ไม่มีกฎหมายรับรอง แต่คำนึงถึงการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก เนื่องจากผู้ได้รับการเยียวยาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองรัฐบาลตั้งแต่ก่อนได้รับการเลือกตั้ง ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่าเคยมีการให้คำมั่นสัญญาของนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำกลุ่ม นปช. ว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่เสียชีวิตรายละสิบล้านบาท เป็นการตอบแทนผลประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินมาจ่ายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเป็นหลัก อันมีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดทางกฎหมายและถือเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

เทียบกับบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่ อม.1/2551 คดีหวยบนดินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ มีความคล้ายคลึงกับการออกมติคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าออกสลากตามนโยบายฝ่ายบริหารในการปราบปรามยาเสพติดและหวยบนดิน แต่ก็ควรที่จะต้องคำนึงว่าทั้งโครงการออกสลากและนโยบายฝ่ายบริหารที่จะต้องนำมาปฏิบัติจะต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย ... หรือคำพิพากษาฎีกาหมายเลขแดงที่ อม.1/2548 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกระเบียบค่าตอบแทนให้แก่ตนเอง ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ตนเองโดยไม่มีอำนาจ ถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หากเปรียบเทียบเหตุผลคำพิพากษาดังกล่าวกับข้อเท็จจริงกรณีนี้ การที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจใด ๆ ในทางบริหารกำหนดการจ่ายเงินงบประมาณไปเยียวยาใช้จ่ายในกรณีใดจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายรองรับด้วยเช่นกัน และหากกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับแล้ว ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายได้เช่นในคำพิพากษาคดีดังกล่าว

5.การจ่ายเงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการนำรายจ่ายงบกลางประจำปี ในพระราชบัญญัติงบประมาณปี พ.ศ. 2555 ซึ่งส่วนมากจัดสรรไว้เพื่อให้ใช้จ่ายในกรณีที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึง กรณีเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีนี้ ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สมควรนำงบประมาณส่วนกลางจากส่วนนี้ไปเบิกจ่าย อีกทั้งการจ่ายเงินเยียวยากรณีนี้ไม่มีฐานกฎหมายใดรองรับอีกด้วย

6.การที่คณะรัฐมนตรีโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ได้อนุมัติให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และกำหนดให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยมีนายปกรณ์ พันธุ ในฐานะอธิบดี เป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

7.ผู้กล่าวหาจึงขอกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาข้างต้นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินการเรียกเงินค่าเยียวยา จำนวน 1,931,530,000 บาท จากผู้ถูกกล่าวหาคืนแผ่นดินต่อไป

ที่ประชุคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันดังกล่าวมี 6 ราย โดยมี 2 รายไม่ได้เข้าร่วมการประชุม พิจารณาแล้ว เห็นว่า 

ประเด็นแรก การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบ ตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่เห็นว่า ข้อเท็จจริง จากการไต่สวน รับฟังได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 กําหนดว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทําได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ ในกรณีจําเป็น เร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 

พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 18 กําหนดว่ารายจ่ายที่กําหนดไว้สําหรับ ส่วนราชการหรือ รัฐวิสาหกิจใดตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีก็ดี พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ก็ดี จะโอนหรือนําไปใช้สําหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ เว้นแต่จะได้ ตราเป็นพระราชบัญญัติจากบทบัญญัติข้างต้น ย่อมแปลความได้ว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องถูกกําหนดไว้ ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอน งบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายอื่นใดในระดับพระราชบัญญัติ เท่านั้น อาทิ การจ่ายเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงาน ของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2553 เมื่อปรากฏว่าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548 - 2553 ไม่มีกฎหมายรองรับให้จ่าย การจ่ายเงินแผ่นดินดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 2 เมื่อการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 ไม่มีกฎหมายรองรับให้จ่าย ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ แยกพิจารณาได้ ดังนี้

  • “สุชาติ-นลินี-วิรุฬ” รอด เหตุไม่ได้ร่วมประชุม

1. การกระทําของ นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ นางนลินี ทวีสิน เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตาม ความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่เห็นว่า พิจารณาข้อเท็จจริง จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า กรณีนายสุชาติฯ ในวันที่ 5 มีนาคม 2555 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก มีภารกิจเปิดงานอนาคตการศึกษาไทยที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งยืนยันได้จากพยานหลักฐาน ภาพถ่าย เทปบันทึกภาพ (VDO) ประกอบกับหม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว ก็ได้ให้การ ยืนยันว่า นายสุชาติฯ อยู่ที่ อิมแพค เมืองทองธานี เวลา 09.00 - 11.40 น. จึงไม่มีทางใดที่จะกลับมาประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทันในวันนั้น 

กรณีนางนลินีฯ ในวันที่ 5 มีนาคม 2555 ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเพียง ครึ่งชั่วโมง และกลับบ้าน เพื่อเตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตอนบ่ายโมงกับนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ โดยมีหนังสือยืนยันข้อเท็จจริง ของพลตํารวจตรี สัมพันธ์ เศรษฐาภรณ์ ผู้ซึ่งได้ร่วมประชุมกับนางนลินีฯ เกี่ยวกับการจัดทํางบประมาณ รายจ่ายในการตรวจราชการ เวลา 09.30 น. และหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงของนายไพฑูรย์ ใจแน่น พนักงานขับรถ ที่ขับรถพาผู้ถูกกล่าวหาแวะไปเอาสัมภาระที่บ้านและไปส่งที่สนามบิน 

กรณี นายวิรุฬฯ ในวันที่ 5 มีนาคม 2555 หลังจากผ่านวาระของกระทรวงการคลังแล้ว ได้รีบออกจากห้องประชุม คณะรัฐมนตรี เพื่อประชุมร่วมกับคณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ได้นัดไว้ และกลับไปบ้าน เพื่อเตรียมกระเป๋าเดินทาง และเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อไปประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในวันเดียวกัน โดยได้ยื่นหนังสือเดินทางที่ลงตราเข้าประเทศนิวซีแลนด์มาประกอบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วย 

ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า นายสุชาติฯ นางนลินีฯ และนายวิรุฬฯ ไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุม คณะรัฐมนตรี ในการลงมติ ประกอบกับมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายให้นํานโยบายเกี่ยวกับ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548 - 2553 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปปฏิบัติให้บรรลุผล นายสุชาติฯ นางนลินีฯ และนายวิรุฬฯ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

  • “ยิ่งลักษณ์” รอด เหตุแต่งตั้ง ปคอป.มาทำงานแทน

2.การกระทําของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เหลืออีกรวม 30 ราย

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่เห็นว่า จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบราย จะได้ร่วมลงมติในวันดังกล่าว แต่ก็เป็นการทําหน้าที่ในฐานะองค์กรบริหารหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 

แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้มีอานาจหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดําเนินการเกี่ยวกับการเยียวยาครั้งนี้ เนื่องจากมีการมอบหมายและแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาดำเนินการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) คณะอนุกรรมการด้านเยียวยาทางแพ่ง และการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น และคณะทํางานช่วยเหลือ เยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ฉะนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายให้นํานโยบายเกี่ยวกับการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2558 - 2553 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปปฏิบัติ ให้บรรลุผล ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีอํานาจหน้าที่ไม่อาจกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่ถูกกล่าวหาได้ กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

  • “ยงยุทธ-กิตติรัตน์” รอดด้วย เหตุไร้เจตนาพิเศษ

3. การกระทําของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ประชุมลงคะแนนเสียง แยกเป็นสองฝ่ายดังนี้

ฝ่ายเสียงข้างมาก ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จํานวน 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่า จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2558 - 2553 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะเยียวยาและฟื้นฟูแก่บุคคล ทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง สอดรับกับความเห็นของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่เสนอให้ใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติด อยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดําเนินการในกรณีปกติ 

ฉะนั้น การกระทําของนายยงยุทธฯ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินต่อคณะรัฐมนตรี การกระทําของนายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณและ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีบทบาทที่ต้องบังคับบัญชาข้าราชการหน่วยงานทั้งสองแห่งให้ต้องดําเนินการเสนอเรื่อง จ่ายเงินเยียวยาต่อคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทําอันเป็นผลโดยตรงมาจากนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องทางรัฐประศาสโนบาย หรือเป็นการกระทําในทางการเมือง ซึ่งอยู่ในอํานาจของ คณะรัฐมนตรีที่จะกระทําได้ สอดคล้องกับคําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 87/2557 ที่เห็นว่า " การที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะดําเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในเหตุการณ์ใด หรือไม่ เพียงใด จึงเป็นกิจการในทางรัฐประศาสโนบาย หรือเป็นการกระทําทางการเมือง และสอดคล้องกับความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 480/2554 ที่เห็นว่า เป็นเรื่องในทางนโยบายที่อยู่ในอํานาจ ของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ 

ฉะนั้น การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงหาใช่ เป็นการกระทําโดยพลการหรืออําเภอใจ ประกอบการดําเนินการเพื่อจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองฯ หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านระเบียบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มิได้มีการโต้แย้งหรือทักท้วงว่า ดําเนินการโดยมิชอบ ย่อมทําให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายเชื่อได้ว่าเป็นการกระทําที่ถูกต้อง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุม ทางการเมืองฯ มิได้จ่ายให้แก่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการจ่ายในเหตุการณ์การชุมนุม ของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร เหตุการณ์การชุมนุม รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2553 ดังนั้น จึงมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการจ่ายเงิน เพื่อเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมโดยเสมอภาคทั่วหน้ากัน กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูล ตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

  • ข้างน้อยเสียงเดียวชี้ “ยงยุทธ-กิตติรัตน์” ผิด เหตุไร้อำนาจตามกฎหมาย

ฝ่ายเสียงข้างน้อย จำนวน 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงฝ่ายเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า การที่นายยงยุทธฯ และนายกิตติรัตน์ฯ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 แม้จะไม่มีกฎหมายรองรับให้จ่าย แต่เป็นการจ่ายเงินตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนําเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 ข้อ 31 ซึ่งออก ตามความในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 21 (2) ที่ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 

จากคําชี้แจงฯ เห็นว่า การจ่ายเงินแผ่นดินเพื่อจ่ายเงิน เยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองฯ ต้องมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติให้จ่ายเท่านั้น เมื่อการจ่ายเงินแผ่นดินตามที่ถูกกล่าวหาเป็นการจ่ายตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนําเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 มิใช่เป็นการจ่ายตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กําหนดไว้ ย่อมเป็นผลให้การจ่ายเงินแผ่นดินในกรณีดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย 

ส่วนการที่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2555 งบกลางรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จึงเป็นกฎหมายให้อํานาจในการจ่ายเงินเยียวยานั้น เห็นว่าการจ่ายเงินแผ่นดิน จากรายการ เงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2555 จะต้องเป็นกรณีที่รายจ่ายตามรายการที่กําหนดไว้ ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ไม่พอจ่าย แล้วเกิดเหตุฉุกเฉินหรือจําเป็น จึงจะสามารถนําเงินงบประมาณรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นมาใช้ได้ ฉะนั้น เมื่อการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองฯ ไม่ได้ถูกกําหนดรายการไว้ใน พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2555 จึงไม่อาจที่จะนํางบกลาง หรือ รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น มาจ่ายตามที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างได้ 

ประกอบกับระเบียบ การเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนําเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 ที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง ก็เป็นเพียงระเบียบที่กําหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเบิกจ่าย เพื่อใช้รองรับหากมีกรณีต้องจ่ายเงินแผ่นดินตามที่ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติกําหนดไว้ และแม้คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 เห็นชอบ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองฯ โดยอนุมัติให้ใช้จ่าย จากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2555 รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นก็ตาม แต่หากยังไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับการจ่ายเงินแผ่นดิน ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีอํานาจ หน้าที่ย่อมไม่อาจอาศัยเพียงมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและ การนําเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 มาเป็นเหตุแห่งการจ่ายเงินแผ่นดินได้ 

สําหรับความเห็นของคณะกรรมการ กฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 480/2558 ที่ให้ความเห็นว่า หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาในทางรัฐประศาสโนบาย เห็นว่า การชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ทางการเมือง พ.ศ.2556 - 2557 เป็นกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดําเนินการตามนโยบายและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่ต้องส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และจําเป็นต้องใช้งบกลางรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จึงเป็นเรื่องในทางนโยบายที่อยู่ในอํานาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้

เห็นว่าตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ให้ความเห็นแต่เพียงว่าการจ่ายเงินเยียวยาเป็นเรื่องทางรัฐประศาสโนบาย ที่คณะรัฐมนตรีสามารถ ให้ความเห็นชอบได้ แต่ไม่ได้ให้ความเห็นไปถึงขนาดว่าไม่ต้องดําเนินการออกกฎหมายรองรับเพื่อจ่ายเงิน แผ่นดิน อีกทั้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 ซึ่งกําหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องมีกฎหมาย รองรับ จึงไม่อาจหยิบยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้พ้นความรับผิดได้

กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ให้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ไปดําเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ประสานและติดตามผล การดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป. รวมถึงกรณีของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดํารง ตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 และเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชากระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 มาตรา 20 

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายได้ใช้อํานาจหน้าที่ซึ่งตนได้รับแต่งตั้ง ร่วมกันกระทําความผิด ตามบทบาทของแต่ละคน โดยนายยงยุทธฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป. มีบทบาทเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์และ วิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนนายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณและกระทรวงการคลัง มีบทบาทที่ต้องบังคับ บัญชาข้าราชการหน่วยงานทั้งสองแห่งให้ต้องดําเนินการ เสนอเรื่องจ่ายเงินเยียวยาให้เป็นไปตามกรอบของ กฎหมาย แต่กลับให้หน่วยงานทั้งสองแห่งเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาจากรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ซึ่งไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 14 ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความ ช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินและเห็นชอบให้จ่ายเงินแผ่นดินจากรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น แล้วต่อมามีการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ในวงเงินจํานวน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงครบองค์ประกอบความผิด มีมูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ) จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียง เพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จํานวน 5 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการ ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า นายยงยุทธ และนายกิตติรัตน์ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

4. การกระทําของ นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ และในฐานะประธานคณะทํางานช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตาม ความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า จากการไต่สวนรับฟัง ได้ว่า นายปกรณ์ฯ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และในฐานะประธาน คณะทํางานช่วยเหลือเยียวยาด้านเงินตามหลักมนุษยธรรม มีหน้าที่ในดําเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับ ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินจาก เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พ.ศ.2548 - 2553 และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในนโยบาย เรื่องการเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองฯ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานว่าในการทําหน้าที่ ดังกล่าวของนายปกรณ์ฯ กระทําลงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตอบแทน หรือกระทําโดยมี เจตนาทุจริตหรือเจตนาทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ฉะนั้น กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

สำหรับ รายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด มีดังนี้

1. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
2. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)
3. ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
4. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
5. พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
6. นายชุมพล ศิลปอาชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
7. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
8. นางนลินี ทวีสิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
9. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
10. พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
11. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
12. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
13. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
14. นายสันติ พร้อมพัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
15. นายธีระ วงศ์สมุทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
16. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
17. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
18. พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
19. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
20. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
21. นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
22. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
23. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
24. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
25. นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
26. นายฐานิสร์ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
27. พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
28. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
29. นางสุกุมล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
30. นายปลอดประสพ สุรัสวดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
31. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
32. นายศักดา คงเพชร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
33. นายวิทยา บุรณศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
34. นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
35. หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
36. นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์