วัดกระแสแคนดิเดตนายกฯ“อุ๊งอิ๊ง”นำ3ภาค“ประยุทธ์”ครองใจคนใต้“พิธา”กทม.

วัดกระแสแคนดิเดตนายกฯ“อุ๊งอิ๊ง”นำ3ภาค“ประยุทธ์”ครองใจคนใต้“พิธา”กทม.

วัดกระแสแคนดิเดตนายกฯ-พรรค 3 อันดับนำ“แพรทองธาร-ประยุทธ์-พิธา” พรรครัฐบาลเป็นรองฝ่ายค้าน “อุ๊งอิ๊ง-พท.”นำ 3 ภาค “ประยุทธ์”ครองใจคนใต้ “พิธา-กก.”กทม.-เขตเมือง

การเมืองเข้าสู่โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงต้นปีหรือกลางปี 2566 ทำให้สำนักโพล-นักการเมือง สำรวจความนิยมของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” และ “พรรคการเมือง” อย่างต่อเนื่อง

โพลหนึ่งที่ถูกอ้างอิงมาที่สุด คือศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้ง ครบทุกภาคของประเทศไทย โดยกระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง ในแต่ละภาค

โดยผลสำรวจภาพรวม ปรากฏว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีคะแนนนิยมสูงสุด โดยได้อันดับหนึ่ง ในภาคอีสานคิดเป็น 36.45% ภาคเหนือ ร้อยละ 31.70 ภาคกลาง ร้อยละ 24.18 ได้อันดับสองในภาคใต้ ร้อยละ 13.24 และได้ลำดับสามในกทม. ร้อยละ 14.10

เหตุผลที่เลือก น.ส.แพทองธาร เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร

ขณะเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมรองลงมา โดยได้อันดับหนึ่งใน กทม. ร้อยละ 20.40 ได้อันดับสองในภาคอีสาน ร้อยละ 12.65 ภาคเหนือ ร้อยละ 15.00 ภาคกลาง ร้อยละ 16.73 และได้อันดับสามในภาคใต้ ร้อยละ 11.24

เหตุผลที่เลือกนายพิธา เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคะแนนนิยมที่สาม โดยได้อันดับหนึ่งในภาคใต้ ร้อยละ 23.94 ได้อันดับสองใน

กทม. ร้อยละ 15.20 ได้อันดับสามในภาคกลาง ร้อยละ 16.23 และได้อันดับสี่ในภาคอีสาน ร้อยละ 9.85 ภาคเหนือ ร้อยละ 12.50

พท.-ก.ก.คะแนนพรรคนำโด่ง

สำหรับแคนดินายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมือง มีคะแนนนิยมลดหลั่นกันไป ตามปัจจัยของตัวบุคคล และพื้นที่ฐานเสียงหลักของตัวเอง

นอกจากนี้ “นิด้าโพล” ได้สำรวจความนิยมของพรรคการเมือง แบ่งแนวโน้มเลือก ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยยังมาเป็นอันดับหนึ่ง กทม.เลือก ส.ส. เขต ร้อยละ 28.50 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 28.60 ภาคกลาง ส.ส. เขต ร้อยละ 32.42 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 32.57 ภาคอีสาน ส.ส. เขต ร้อยละ 54.35 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 51.40 ภาคเหนือ ส.ส. เขต ร้อยละ 48.70 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 48.75 และภาคใต้ ส.ส. เขต ร้อยละ 14.9 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 15.54

รองลงมาพรรคก้าวไกล กทม.เลือก ส.ส. เขต ร้อยละ 26.45 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 26.10 ภาคกลาง ส.ส. เขต ร้อยละ 19.98 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 19.83 ภาคอีสาน ส.ส. เขต ร้อยละ 13.60 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 15.10ภาคเหนือ ส.ส. เขต ร้อยละ 16.40 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 16.15 และภาคใต้ ส.ส. เขต ร้อยละ 11.84 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 12.49

“ขั้วรัฐบาล”กระแสพรรคเป็นรอง

สำหรับลำดับ 3-5 มีความใกล้เคียงกันมาก มีคะแนนนิยมแตกต่างกันไปในเชิงลักษณะพื้นที่ โดยพรรคพลังประชารัฐ กทม.เลือก ส.ส. เขต ร้อยละ 9.50 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 9.15 ภาคกลาง ส.ส. เขต ร้อยละ 10.54 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 10.49 ภาคอีสาน ส.ส. เขต ร้อยละ 5.30 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 5.25 ภาคเหนือ ส.ส. เขต ร้อยละ 8.05 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 7.20 และภาคใต้ ส.ส. เขต ร้อยละ 12.09 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 11.89

พรรคประชาธิปัตย์ กทม.เลือก ส.ส. เขต ร้อยละ 9.45 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 9.00 ภาคกลาง ส.ส. เขต ร้อยละ 7.54 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 7.14 ภาคอีสาน ส.ส. เขต ร้อยละ 3.05 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 3 ภาคเหนือ ส.ส. เขต ร้อยละ 5.45 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 4.75 และภาคใต้ ส.ส. เขต ร้อยละ 27.49 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 27.64

พรรคภูมิใจไทย กทม.เลือก ส.ส. เขต ร้อยละ 2.10 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 2.05 ภาคกลาง ส.ส. เขต 2.50 ร้อยละ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 2.65 ภาคอีสาน ส.ส. เขต ร้อยละ 5.60 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 5.35 ภาคเหนือ ส.ส. เขต ร้อยละ 2.20 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 1.90 และภาคใต้ ส.ส. เขต ร้อยละ 7.45 ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 6.95

“อุ๊งอิ๊ง-พท.”นำอีสาน-เหนือ-กลาง

อย่างไรก็ตามเมื่อสังเคราะห์คะแนนนิยมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะพบว่า คะแนนของน.ส.แพทองธาร เข้าวินมาเป็นลำดับหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และกลาง ควบคู่ไปกับคะแนนของพรรคเพื่อไทยที่มีความนิยมเป็นลำดับหนึ่งเช่นกัน ซึ่งคะแนนในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ค่อนข้างมีคะแนนนิยมทิ้งห่างคู่แข่งเกินครึ่ง

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ชื่อของ น.ส.แพทองธาร มีคะแนนนิยมมาเป็นลำดับที่สอง ซึ่งถือว่ามากกว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. ภาคใต้ ตรงกันข้ามพรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส. ภาคใต้ แม้แต่คนเดียว

ก.ก.นำในพื้นที่ กทม.-เขตเมือง

ขณะนายพิธา มีคะแนนนิยมในพื้นที่ กทม.มาเป็นลำดับหนึ่ง แต่คะแนนพรรคก้าวไกลในพื้นที่ กทม.ยังเป็นรองพรรคเพื่อไทย ซึ่งในพื้นที่ กทม.ทั้งสองพรรคจะต้องขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพราะถือเป็นพื้นที่ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ รวมถึงกระแสนิยมของพรรคขั้วอนุรักษ์นิยมตกฮวบลงอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ความนิยมของนายพิธาและพรรคก้าวไกล มีไม่น้อยเช่นกัน โดยทางพรรคก้าวไกลทำโพลภายในพรรคพบว่าพื้นที่เขต 1 ซึ่งเป็นเขตเมืองของทุกจังหวัด กระแสของพรรคค่อนข้างดี โอกาสได้ ส.ส. มีสูง

“ประยุทธ์”ครองใจคนใต้-กทม.ลำดับสอง

ฟากฝั่งขั้วรัฐบาล ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นเบอร์หนึ่ง โดยคะแนนนิยมหลักมาจากประชาชนภาคใต้ ซึ่งมีคะแนนนิยมอันหนึ่ง ตามมาด้วย กทม.อันดับสอง และภาคกลางอันดับสาม แต่คะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว ที่มีคะแนนนิยมสูงกว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เห็นได้ชัดในพื้นที่ภาคใต้ ตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนนิยมลำดับหนึ่ง แต่พรรคพลังประชารัฐ ส.ส. เขต อันดับสาม และส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับห้า

ปชป.วิกฤติ “จุรินทร์”ไร้กระแส

พรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “จุรินทร์” ไม่ตอบโจทย์การเลือกตั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลสำรวจในพื้นที่ภาคใต้ เป็นรอง พล.อ.ประยุทธ์ 4 เท่าตัว ที่สำคัญยังมีคะแนนนิยมต่ำกว่า น.ส.แพทองธาร นายพิธา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และกลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ เสียด้วยซ้ำ

แม้แบรนด์พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ยังขายได้ แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งปัจจัยของแบรนด์พรรค อาจจะเป็นรองความนิยมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงไม่แปลกที่จะมีปรากฎการณ์ ส.ส. และ อดีตส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากพรรค เพื่อไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเกาะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีโอกาสสูงที่เจ้าตัวจะเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ

“อนุทิน-ภูมิใจไทย”พึ่งบ้านใหญ่

ด้านพรรคภูมิใจไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค เมื่อเปรียบเทียบจากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” แล้ว แทบจะไม่มีกระแสนิยมเลย เกือบทุกพื้นที่ได้คะแนนนิยมต่ำกว่าขั้วรัฐบาล และขั้วฝ่ายค้าน ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ภาคอีสาน ชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่เหนือนายอนุทิน มีเพียงกระแสพรรคในพื้นที่ภาคอีสาน เพียงภาคเดียวที่อยู่เหนือพรรคในขั้วรัฐบาลด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย อาจจะหวังกับกระแสของ “บ้านใหญ่” ที่ดูดมาจากพรรคเพื่อไทย รวมถึงฐานเสียงของ ส.ส. ที่ในระดับพื้นที่ถือว่ามีฐานเสียงค่อนข้างแน่น

การสำรวจความนิยม อาจสะท้อนความรู้สึกนึกคิดตัวแทนประชาชนในห้วงเวลานี้ แต่เมื่อเข้าโหมดเลือกตั้ง และจนกว่าจะไปถึงวันหย่อนบัตร ยังมีโอกาสที่กระแสพรรค และตัวผู้นำ อาจพลิกผันได้ชั่วข้ามคืน