ฉบับเต็ม! ปมดอกไม้จันทน์ทำพิษ ชนวนเหตุ “ศาล รธน.” ยุบ “พรรคไทรักธรรม”

ฉบับเต็ม! ปมดอกไม้จันทน์ทำพิษ ชนวนเหตุ “ศาล รธน.” ยุบ “พรรคไทรักธรรม”

เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม! ศาล รธน.เสียงข้างมาก “ยุบพรรค” ไทรักธรรม ชนวนเหตุจูงใจกลุ่มทำดอกไม้จันทน์ จ.พิจิตร ให้สมัครสมาชิก-รับซื้อคืนดอกละ 1 บาท ปั้นสาขาพรรคโดยมิชอบ ชี้ฝ่าฝืนเจตนารมณ์กฎหมาย ไม่อาจทำพรรคเป็นสถาบันการเมืองแท้จริง

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 1/2565 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักธรรม (ผู้ถูกร้อง) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 30 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 92 วรรคสอง และห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 94 วรรคสอง

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 45 ประกอบ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 30 และมาตรา 94 วรรคสอง คือ 

  • มีเหตุสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 30 หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มีจุดมุ่งหมายรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งในการบริหารพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง บริหารจัดการภายในเพื่อประชาธิปไตยภายในพรรค โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรค สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ โดยบุคคล หรือคณะบุคคลโดยมิชอบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มแรก กำหนดให้การบริหาร ส่งผู้สมัคร ส.ส. และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรค สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย ป้องกันมิให้เป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาบงการพรรคการเมือง

ขณะที่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ห้ามมิให้พรรค ผู้ใด เสนอให้ สัญญาให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโชน์อื่นใด ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม จูงใจบุคคลใดสมัครเป็นสมาชิกพรรค เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ บุคคลพึงได้รับ โดยมีความมุ่งหมายต้องการให้บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค เป็นผู้ที่ศรัทธาในพรรคการเมืองนั้นอย่างแท้จริง มิใช่เพียงเพราะมุ่งหวังอามิสสินจ้าง เพราะสมาชิกพรรคย่อมมุ่งหวังผลประโยชน์ หรือย่อมไม่ใส่ใจในการเข้ามีมส่วนร่วมในการดำเนินการของพรรค

โดยตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีหลักการสำคัญตรงกันว่า สมาชิกพรรค ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของพรรค มิเช่นนั้นเป็นช่องทางของกลุ่มทุน หรือกลุ่มอิทธิพลพรรค ครอบงำพรรค โดยไม่มีสมาชิกโต้แย้ง ทำให้พรรคสูญเสียประชาธิปไตยภายในพรรค ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ทำให้พรรคไม่ส่งต่อเจตนารมณ์ของประชาชนไปสู่การบริหารประเทศ แต่กลับส่งต่อเจตนารมณ์ของกลุ่มทุน หรือกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง บริหารประเทศ อันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคการเมืองเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยการตั้งพรรคการเมือง เกิดจากการรวมตัวของบุคคลรวมตัวแนวทางเดียวกัน ดำเนินกิจการทางการเมือง ตามหลักปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่พรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และต้องไม่ดำเนินกิจการ อันมีลักษณะแสวงหากำไรแบ่งปันกัน

ดังนั้นการตั้งพรรคการเมืองจึงเป็นไปเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ดำเนินการเพื่อประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ บริสุทธิ์ ปราศจากแสวงหาส่วนตัว หรืออำนาจใด ๆ โดยมิชอบ กฎหมายจึงให้การสนับสนุนพรรค ให้เงินอุดหนุนพรรค โดยกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง สำนักงาน กกต. เพื่อไม่ให้พรรคการเมือง แสวงหาประโยชน์หรือรับประโยชน์จากบุคคลใดโดยมิชอบ

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้อง (กกต.) มีมติเมื่อปี 2563 ว่า พรรคผู้ถูกร้อง (พรรครักไทธรรม) รับสมัครสมาชิกพรรคเมื่อปี 2561-2562 เชิญชวนชาวบ้าน ต.ป่ามะข้าม อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร รวมกลุ่มทำดอกไม้ประดิษฐ์ (ดอกไม้จันทน์) โดยต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรค หากสมัครครบ 500 คน สามารถเปิดสาขาพรรคได้ และพรรคผู้ถูกร้องจะลงทุนออกค่าใช้จ่าย ซื้อวัสดุอุปกรณ์แค่สมาชิกพรรค และเปิดสาขาพรรคพิจิตร เมื่อทำดอกไม้จันทน์เสร็จ พรรคจะรับซื้อดอกละ 1 บาท ในการสมัครสมาชิกพรรค ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าสมัคร ค่าบำรุงพรรค 

โดยพยานในสำนวนการไต่สวนของผู้ถูกร้องให้การสอดคล้องกัน 15 ปากว่า ผู้ประสงค์เข้าร่วมกลุ่มทำดอกไม้จันทน์ ต้องสมัครสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง ไม่ต้องเสียเงิน เพราะพรรคออกให้ หากไม่มีการจูงใจทำดอกไม้จันทน์ จะไม่ส่งสมัครสมาชิกพรรค โดยนายมนัส มีชาวนา ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้อง (นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค) ผ่าน น.ส.สุชาดา ขวัญสกุล ให้ดำเนินการหาสมาชิก เพื่อเปิดสาขาพรรคในพิจิตร โดยใช้วิธีการดังกล่าว 

ทั้งนี้พรรคผู้ถูกร้องมีพยาน 5 ปาก (รวมนายพีระวิทย์) โต้แย้งว่า พรรคดำเนินการเป็นไปตามนโยบายพรรค เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวนา จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ไม่ได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้ชาวบ้าน ไม่ได้ซื้อดอกไม้จันทน์ ไม่เคยจูงใจ หรือสั่งบุคคลจูงใจให้สมาชิกกลุ่มดอกไม้จันทน์ ต้องสมัครสมาชิกพรรคก่อน ทั้งนี้การสมัครสมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุงตามเงื่อนไข และไม่เคยสั่งการบุคคลใดสำรองค่าบำรุงพรรคไปก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แม้พรรคผู้ถูกร้องมีพยาน 5 โต้แย้งปฏิเสธข้อเท็จจริง ตามคำร้อง แต่หัวหน้าพรรคเคยให้ถ้อยคำ กกต. ยอมรับว่า สำนักงาน กกต. ให้คำปรึกษาแก่พรรค คือการสมัครเป็นสมาชิกพรรค และส่งเสริมอาชีพลักษณะดังกล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ พรรคจึงยุติการดำเนินการดังกล่าวก่อนเลือกตั้ง และพรรคเคยรับว่าซื้อดอกไม้จันทน์ จากกลุ่มดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมการเมือง

ส่วนข้อโต้แย้งว่า พยานเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกร้อง เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พยานจะได้รับประโยชน์อันใดหากพรรคถูกยุบ ยิ่งไปกว่านั้น การให้ถ้อยคำของพยานอาจทำให้บุคคลผู้กระทำ ต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่พยานของพรรคผู้ถูกร้อง ได้แก่ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค น.ส.สายชล ไม้เจริญ น.ส.นิตยา ยอดเจริญ และ น.ส.พรพิมล ฉิมนาคพันธ์ เป็นหรือเคยเป็นกรรมการพรรคไทรักธรรม ในขณะกระทำความผิด อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ หากถูกยุบพรรค นอกจากนี้นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ เป็นบุคคลมีตำแหน่งในพรรค มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพีระวิทย์ มีส่วนได้เสียโดยตรง และให้การเป็นประโยชน์กับพรรคผู้ถูกร้อง ดังนั้นข้อโต้แย้งของพรรค ไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องได้

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หัวหน้าพรรคให้นายมนัส มีชาวนา จูงใจชาวบ้าน ต.ป่ามะข้าม อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร เชิญชวนกลุ่มทำดอกไม้จันทน์ให้มาสมาชิกพรรค โดยไม่ต้องเสียค่าบำรุงพรรค โดยเสนอว่าจะซื้อวัสดุอุปกรณ์ และรับซื้อคืนดอกละ 1 บาท กระทั่งพรรคผู้ถูกร้องมีสมาชิกครบ 500 และพรรคเปิดสาขาพรรคได้ที่ จ.พิจิตร วิธีการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หัวหน้าพรรค มอบหมายนายมนัส ดำเนินการ จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และมีผลผูกพันพรรค

แม้การยุบพรรคไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา กระทบเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะกฎหมายประสงค์ให้เสริมสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง รวมถึงกระทบต่อสมาชิกพรรคอีกจำนวนมาก ที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันในการจัดตั้งพรรค แต่การหาสมาชิกพรรคด้วยวิธีดังกล่าว ไม่อาจส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข้ง และเป็นองค์กรในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผลักดันแนวคิดของประชาชนไปสู่การปฏิบัติได้ 

เพราะการสมัครสมาชิกพรรค เกิดจากการหลงเชื่อ จูงใจของพรรคผู้ถูกร้อง บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้ศรัทธา พรรค ไม่ได้รู้ศึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ ไม่ได้ใส่ใจมาดำเนินกิจกรรม มีส่วนร่วม แต่สมัครเพราะมุ่งหวังเงินจากการทำดอกไม้จันทน์ หรือประโยชน์อื่นใดที่พรรคเสนอให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมาย เจตนารมณ์เสรีภาพจัดตั้งพรรค ตามวิถีทางปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคไทรักธรรม กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 30 อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

  • กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติลักษณะเป็นบทบังคับว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการไต่สวน มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคกระทำการตามวรรคหนึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค

เมื่อพรรคไทรักธรรม กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่าง ก.ย. 2561-ม.ค. 2562 เป็นช่วงเวลากระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง

มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาเท่าใด เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง พฤติการณ์ในคดีสมควรกำหนดให้สอดคล้องกับเวลาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคถูกยุบ

ดังนั้นให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคไทรักธรรม ที่ดำรงตำแหน่งระหว่าง ก.ย. 2561-ม.ค. 2562 เป็นช่วงเวลากระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง

  • กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ถูกยุบพรรค จะจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ถูกยุบตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 ;รรคสอง ว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทรักธรรม เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแล้ว จึงต้องให้กรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ก.ย. 2561-ม.ค. 2562 เป็นช่วงเวลากระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคใหม่อีกไม่ได้ มีกำหนด 10 ปี ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง สั่งให้ยุบพรรคไทรักธรรม ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 30 

เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือน ก.ย. 2561-ม.ค. 2562 เป็นช่วงเวลามีการกระทำเป็นเหตุให้ยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง 

และห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว จดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคอื่น หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตาม 94 วรรคสอง