“ไทยภักดี” ยื่น กกต.ชงยุบพรรค “ก้าวไกล” ปมเสนอนโยบายแก้ ม.112

“ไทยภักดี” ยื่น กกต.ชงยุบพรรค “ก้าวไกล” ปมเสนอนโยบายแก้ ม.112

“ไทยภักดี” รุดยื่น กกต.เอาผิด “ก้าวไกล” หลังเสนอนโยบายแก้ไข ม.112-ให้พระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้ง ชี้เข้าข่ายขัด พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ บี้ส่งศาล รธน.ฟันยุบพรรค

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี พร้อมด้วยนายภัทรพล หมดมลทิน ประธานเครือข่ายและศาสนา พรรคไทยภักดี คณะเป็นตัวแทนพรรคไทยภักดี เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ หรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายสุขสันต์ กล่าวว่า วันนี้พรรคไทยภักดีมายื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการกรณีที่พรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา116 ว่าขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ หรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระประมุขของรัฐและมีใช้อยู่กันทั่วโลก การมีกฎหมายดังกล่าวนั้นมันเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังมีประเด็นที่เสนอให้นำมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐออกไปอยู่ในหมวดที่ยอมความกันได้ ถือเป็นการลดระดับความสำคัญของกฎหมายลง

โฆษกพรรคไทยภักดี กล่าวอีกว่า การที่เสนอให้สำนักพระราชวังเป็นโจทย์แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดมาตรา 112 เป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในอนาคตข้างหน้า จึงขอให้ กกต. ตรวจสอบการนำเสนอนโยบายแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานของสังคมในอนาคตต่อไปหรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ระบุไว้ชัดเจนพรรคการเมืองต้องไม่ปฏิบัติการใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากพบว่ามีความผิด กกต.ต้องดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรคได้

ส่วนนายภัทรพล กล่าวว่า นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้เสนอนโยบายให้พระสงฆ์ใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น ขัดกับคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระภิกษุหรือสามเณรสนับสนุนหรือช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมในการหาเสียง หรือการเลือกตั้งส.ส. และมติของมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะเป็นเรื่องเทศน์ ถ้าพระมีการเลือกข้างหรือเลือกพรรคการเมืองก็ไม่เหมาะสม เพราะจะนำมาซึ่งความแตกแยกของบ้านเมือง นั้นขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่