“ก้าวไกล” เรียกร้องทหารหยุดละเมิดสิทธิ หลังเก็บ DNA เด็กทารก 10 เดือน

“ก้าวไกล” เรียกร้องทหารหยุดละเมิดสิทธิ หลังเก็บ DNA เด็กทารก 10 เดือน

“รอมฎอน ปันจอร์” ทีมงาน “ก้าวไกล” ชายแดนใต้ ออกโรงเป็นห่วงสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดน เรียกร้อง “ทหาร” หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน ปมเก็บ DNA เด็กทารกวัยแค่ 10 เดือน ญาติ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ที่เสียชีวิตในค่ายทหาร

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 นายรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้ ปาตานี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาขอเก็บ DNA เด็กน้อยวัย 10 เดือนใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ทำลายหลักการของมนุษยชนอย่างร้ายแรง และบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนที่อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายได้

กรณีดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. สายบุรีและทหารพราน ฉก. 44 ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านประชาชนแห่งหนึ่งซึ่งภายในบ้านมีผู้หญิง 2 คน และเด็กชายอายุ 10 เดือน 1 คน ซึ่งแม่ของเด็กหญิงเป็นญาติของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชายมุสลิมที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า รายได้ประมาณ 4,000 บาท/เดือน โดยภายหลังในวันเดียวกันได้มีการเชิญตัวไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สภ.สายบุรี โดยทางเจ้าหน้าที่พยายามขอเก็บ DNA ของเด็กอายุ 10 เดือน แต่ฝ่ายแม่ยืนกรานไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่จึงมีการข่มขู่ว่าจะมาทุกวันและจะควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายรอมฎอน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้ทำให้บรรยากาศความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะคนทั้งสังคมไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิมล้วนเห็นตรงกันว่าเด็กๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมที่เปราะบางที่สุดนั้นไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือความขัดแย้งของผู้ใหญ่ เรื่องทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเก็บดีเอ็นเอผู้บริสุทธิ์ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีกฎหมายใด ๆ อนุญาต ต่อให้อ้างกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ก็ยังไม่มีข้อบัญญัติส่วนไหนที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร สนธิกำลังกันล้อมบ้านประชาชนหรือเรียกตัวไปที่ตั้งและชี้นิ้วขอเก็บตัวอย่างของเด็กชายอายุเพียงแค่ 10 เดือนได้

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่จะจับตาและระแวงสงสัยคนเป็นพ่อหรือใครก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิใช้อำนาจที่เกินเลยทะลุฟ้าเช่นนี้ แม้แต่นักโทษเด็ดขาดก็ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะเก็บดีเอ็นเอ ไม่พักต้องพูดถึงการเก็บข้อมูลชาวบ้านธรรมดาและเด็กที่ยังเดินไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ สะท้อนภาพที่ใหญ่กว่าก็คือปัญหา “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญเท่าไหร่ ที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะการใช้อำนาจพิเศษจนคุ้นเคยคุ้นชิน โดยไม่สนใจหัวจิตหัวใจของผู้คน

“ทั้งหมดนี้อาจจำเป็นที่จะต้องรื้อ โละ บรรดากฎหมายความมั่นคงและกฎหมายพิเศษ แล้วยกร่างขึ้นมาใหม่ ทำให้การใช้อำนาจของรัฐชอบธรรมมากขึ้น ที่สำคัญคือเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มองชีวิตของผู้คนเป็นของศักดิ์สิทธิ์จะละเมิดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ รวมทั้งต้องมีคนมาตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ถืออาวุธอย่างจริงจัง ไม่ให้ทหารใช้อำนาจเหนือประชาชนได้อย่างตามอำเภอใจ” นายรอมฎอน กล่าว