“ไอติม” ตั้ง 7 ข้อสังเกต โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู คำเตือนสุดท้ายสังคมไทย

“ไอติม” ตั้ง 7 ข้อสังเกต โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู คำเตือนสุดท้ายสังคมไทย

“ไอติม พริษฐ์” ตั้ง 7 ข้อสังเกต ชี้โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู เป็นคำเตือนครั้งสุดท้ายสังคมไทย ถึงเวลารีบหาทางออกปัญหาครอบครองอาวุธ “โรม” ถามเมื่อไหร่ถึงเวลาจัดการ “ระบบตั๋ว” วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในวงราชการ

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเหตุการณ โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ว่า  ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องร่วมกันเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยหารร่วมกันหาทางออกในการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก และร่วมกันออกแบบสังคมที่เราทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยให้ได้

เหตุการณ์กราดยิงทั้งในอดีตและที่เพิ่งเกิดขึ้นสะท้อนถึงสารพัดปัญหาที่หมักหมมมายาวนานในสังคมไทย และที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มออกมาฉายภาพให้เห็นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องการใช้และการแพร่ระบาดของยาเสพติด การคัดกรองเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ระบอบอุปถัมภ์และวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร ความล่าช้าของตำรวจในการเข้าถึงที่เกิดเหตุ หรือ การขาดแคลนระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินกับประชาชน แต่ปัญหาหนึ่งที่มีส่วนสำคัญเช่นกัน คือ ปัญหาเรื่อง “การเข้าถึงและครอบครองอาวุธปืน” ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย และทั้งโดยเจ้าหน้าที่-อดีตเจ้าหน้าที่ และโดยประชาชนทั่วไป

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สถิติหนึ่งที่ค้นพบ คือ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย (3.91 ต่อประชากร 100,000 คน) - รองจากแค่ อิรัก (9.94) และ ฟิลิปปินส์ (8.02) และสูงกว่า มาเลเซีย (0.53) เวียดนาม (0.52) เกาหลีใต้ (0.08) ญี่ปุ่น (0.08) และ สิงคโปร์ (0.05) หลายเท่าตัว

ถึงแม้สหรัฐอเมริกา (10.95) - ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องกราดยิงเยอะเป็นพิเศษ โดยบางส่วนมองว่าเป็นผลจากนโยบายปืนเสรีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงปืนได้ง่ายกว่าในอีกหลายประเทศ - ในช่วงหลังๆ จะมีสถิติที่แย่กว่าประเทศไทยพอควร แต่ไม่กี่ปีก่อนก็มีสถิติที่ไม่ห่าง (หรือบางปีดีกว่า) ในไทยด้วยซ้ำ แน่นอนว่าทางออกในประเทศไทยคงไม่ได้เรียบง่ายแค่การเพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์การครอบครองปืน หากจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ระบบ-กฎหมาย-การบังคับใช้ ด้านการเข้าถึงอาวุธปืนที่อาจมีปัญหาบางจุด 

“ไอติม” ตั้ง 7 ข้อสังเกต โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู คำเตือนสุดท้ายสังคมไทย

นายพริษฐ์ ตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. เกณฑ์การขอใบอนุญาตมีปืนถูกกฎหมาย ไม่ครอบคลุมด้านสุขภาพจิต-ไม่มีการสอบวัดความพร้อม หรือไม่อย่างไร

แม้จะมีหลายเอกสารที่ประชาชนต้องยื่นหากต้องการขอใบอนุญาตครอบครองปืน (แบบ ป.4) หรือใบอนุญาตพกพาปืน (แบบ ป.12) แต่ทั้งสองกระบวนการปัจจุบันไม่มีการขอใบรับรองจากจิตแพทย์เกี่ยวกับประวัติหรืออาการด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้เราไม่รู้ว่าผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย ณ ปัจจุบันมีสุขภาพจิตที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสมที่จะครอบครองปืนหรือไม่

ในส่วนการเตรียมความพร้อม แม้จะมีการกำหนดว่าต้องแสดงหลักฐานว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน แต่สังคมก็ตั้งคำถามถึงความรัดกุมของเนื้อหาการอบรมและความเข้มงวดของการรับรองมาตรฐานผู้ให้การอบรม รวมถึงการเสนอให้มีการสอบวัดความพร้อมของผู้ขอใบอนุญาตอย่างจริงจัง เหมือนในหลายประเทศทั่วโลก

2. ข้าราชการเข้าถึงได้ง่ายกว่า แม้ในตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปืนในการทำหน้าที่ จริงหรือไม่

ที่ผ่านมา รัฐมีโครงการจัดหาปืนเป็นสวัสดิการให้ข้าราชการในหลายสังกัดเข้าถึงและขอใบอนุญาตได้อย่างสะดวกสบายขึ้น แม้หลายครั้งเป็นการให้สิทธิแก่ข้าราชการในตำแหน่งที่อาจตั้งคำถามได้ในปัจจุบันว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ปืนในการปฏิบัติหน้าที่ (เช่น ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภา) ซึ่งการเข้าถึงปืนได้อย่างแพร่หลาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงหรือความเสี่ยงที่อาวุธปืนจะหลุดสู่ตลาดมืดได้

3. ระบบเส้นสายและการทุจริตคอร์รัปชันในการขอใบอนุญาต เปิดช่องโหว่ในการครอบครองปืนหรือไม่
เอกสารหนึ่งที่ข้าราชการต้องใช้เพื่อยื่นขอใบอนุญาตคือหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้บังคับบัญชา นอกจากถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวิธีการดังกล่าวในการคัดกรองคน ข้อกำหนดดังกล่าวยังมีข้อครหาว่าเปิดช่องให้เกิดการเรียกสินบน หรือการเซ็นอนุมัติโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการประเมินความเหมาะสมของผู้ขอใบอนุญาตอย่างแท้จริง

4. อนุมัติครั้งเดียวครอบครองได้ตลอดชีวิต เพิ่มความเสี่ยงหากสถานการณ์เปลี่ยน จริงหรือไม่

เมื่ออนุมัติแล้ว ใบอนุญาตครอบครองปืน (แบบ ป.4) เป็นใบอนุญาตที่ไม่มีวันหมดอายุ และไม่มีกำหนดการตรวจสอบหรือประเมินความเหมาะสมในการครอบครองเป็นระยะๆ ตรงนี้ทำให้หากคนหนึ่งถูกประเมินว่าอยู่ในสภาวะที่สมควรครอบครองอาวุธปืนได้อย่างปลอดภัย ณ วันที่ขอใบอนุญาต เขาจะสามารถครอบครองปืนไปได้ตลอดชีวิต แม้ในอนาคตอาจมีเหตุใดที่ทำให้เขาไม่อยู่ในจุดที่สมควรได้รับอนุญาตอีกต่อไป หรือมีเหตุใดที่ทำให้ใครอยากร้องให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต ก็ไม่สามารถริบอาวุธปืนจากคนๆ นั้นได้

5. ตำรวจซื้อปืนในนามบุคคลได้ง่ายด้วยตำแหน่งที่มี เลยไม่ต้องคืนอาวุธแม้ถูกปลด ?

ปืนที่ตำรวจหลายคนมีในครอบครอง (รวมถึงของอดีตตำรวจที่ก่อเหตุในหนองบัวลำภู) ไม่ได้เป็นปืนของรัฐที่ตำรวจเบิกไปใช้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นปืนที่ตำรวจซื้อในนามส่วนตัว ซึ่งมีส่วนมาจากการที่อาวุธปืนของตำรวจซึ่งควรจะเป็นอุปกรณ์ที่รัฐบาลจัดหาให้ มีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ตำรวจชั้นผู้น้อยจึงต้องเจียดรายได้มาซื้ออาวุธปืนของตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อซื้ออาวุธปืนในระหว่างที่เป็นตำรวจ จึงทำให้พวกเขาขอใบอนุญาตได้ง่ายขึ้นและบางครั้งได้รับสวัสดิการตำรวจที่ทำให้ซื้อปืนในราคาที่ถูกกว่าประชาชนทั่วไป แต่พอถูกปลดจากตำแหน่งหรือพ้นหน้าที่ องค์กรไม่สามารถเรียกคืนปืนดังกล่าวจากพวกเขาได้ แม้เขาจะไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว เพราะนับว่าเป็นปืนส่วนตัว เช่นในกรณีของอดีตตำรวจที่ก่อเหตุในหนองบัวลำภู

6. ปืนในระบบควบคุมได้ไม่รัดกุมแล้ว ปืนนอกระบบยิ่งควบคุมไม่ได้หนักกว่าเท็จจริงอย่างไร

แม้จำนวนปืนในระบบที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านกระบอก แต่มีการคาดการณ์ว่าปืนนอกระบบที่ไม่ถูกกฎหมายยังมีอีกประมาณ 6 ล้านกระบอก จนทำให้สัดส่วนประชากรที่ครอบครองปืนในไทยอาจสูงถึง 10-20% (หากเราคำนวณบนสมมุติฐานว่าคนที่มีปืนจะมีคนละ 1-2 กระบอก) – ด้วยปืนนอกระบบที่สูงถึงเกือบ 50% ของปืนทั้งหมดในประเทศ การเพิ่มความรัดกุมของเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตครอบครองปืนในระบบ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากไม่มาควบคู่กับการกำจัดปืนนอกระบบด้วย (ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มักมีข้อครหาว่าถูกหล่อเลี้ยงโดยผู้มีอิทธิพลในหมู่ทหาร-ตำรวจบางกลุ่มเสียเอง)

7. “วัฒนธรรมปืน” ที่ทำให้การเข้าถึงปืนหรือการแก้ปัญหาด้วยปืน กลายเป็นเรื่องปกติ ใช่หรือไม่

การวัดระดับหรือประเมินผลกระทบจาก “วัฒนธรรมปืน” เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่ - ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ – ทำให้คนไทยหลายคนเติบโตมาพร้อมกับภาพของการใช้ปืน อย่างเช่นกิจกรรมในงานวันเด็ก ที่ให้เด็กสัมผัสและเล่นกับอาวุธปืนอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าการแก้ปัญหา “การเข้าถึงอาวุธปืน” เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการป้องกันเหตุการณ์กราดยิงในอนาคตและการหาทางออกในวันนี้ สายเกินและไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มช่องว่างในหัวใจของญาติผู้สูญเสียทุกคน

“แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้ เพื่อผู้สูญเสียทุกคนที่จากเราไปก่อนเวลาอันควร คือการไม่ยอมให้เหตุการณ์กราดยิงในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่เป็นคำเตือนครั้งสุดท้าย ที่ทำให้รัฐและเราหันมาร่วมกันหาแนวทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมที่น่าหดหู่เช่นนี้ เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต” นายพริษฐ์ กล่าว

“ไอติม” ตั้ง 7 ข้อสังเกต โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู คำเตือนสุดท้ายสังคมไทย

  • “โรม” ถามเมื่อไหร่ถึงเวลาจัดการ “ระบบตั๋ว”

ส่วนนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูวานนี้ (6 ต.ค. 2565) ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กรวมถึงตัวผู้ก่อเหตุและครอบครัวว่า เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้สังคมไทยอย่างถึงที่สุด หากติดตามการรายงานข่าวที่ว่าผู้ก่อเหตุนั้นเป็นอดีตตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการเพราะเรื่องยาเสพติด ก็ควรต้องคิดได้แล้วว่าเพราะอะไรกันผู้มีหน้าที่ต้องปราบปรามอาชญากรรมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมเสียเองได้ ระบบอะไรกันที่สร้างสภาวะแบบนี้ขึ้นมาได้

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเคยอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับระบบเส้นสาย ระบบตั๋วในวงข้าราชการอยู่บ่อยครั้ง เคยต้องย้ำเตือนต่อผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่หลายครั้งว่าระบบแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องผันตัวไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจมืดเสียเอง การที่อดีตตำรวจคนนี้ไปพัวพันกับยาเสพติดในขณะที่ยังรับราชการอยู่ได้ ผู้บริหารที่มีสามัญสำนึกต้องและจริงจังได้แล้วว่าตำรวจทุกวันนี้กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนมากไปกว่านั้น ภาพเหตุการณ์ในครั้งนี้หรือการ กราดยิงครั้งที่ผ่านๆ มา มีส่วนหนึ่งที่ทับซ้อนกันกับภาพเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมราษฎร หรือภาพทหารสังหารหมู่คนเสื้อแดง นั่นคือเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงที่ฝังรากลึกในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างยาวนาน

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า ทุกครั้งที่ผู้มีอำนาจปล่อยให้ตำรวจคลุมถุงดำผู้ต้องหา ปล่อยให้ คฝ. สาดกระสุนยางตรงใส่ผู้ชุมนุม ปล่อยให้ทหารสั่งซ่อมด้วยวิธีพิสดาร ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสใช้กำลังหรืออาวุธอย่างเกินส่วนเมื่อสบจังหวะ นั่นก็คือทุกครั้งที่เครื่องจักรสังหารที่โหดเหี้ยมอำมหิตได้ถูกผลิตขึ้นเช่นกัน ผู้มีอำนาจอาจชอบที่มีเครื่องจักรเหล่านี้ไว้ใช้สนองประโยชน์ตัวเอง แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจหันมาคร่าผู้บริสุทธิ์อย่างเช่นในวันนี้

“เคยหวังตั้งแต่เหตุกราดยิงโคราชเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่าจะต้องมีการทบทวนความผิดพลาดทั้งหมดของระบบราชการ โดยเฉพาะทหารตำรวจผู้ถืออาวุธ เพื่อที่จะไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อีก แต่เมื่อได้ฟัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวโยนไปให้เป็นแค่เรื่องของผู้ก่อเหตุเสพยาแต่เพียงคนเดียว สงสัยว่าทั้งผมและสังคมไทยคงต้องผิดหวังอีกครั้ง” นายรังสิมันต์ กล่าว