ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละข้อพิรุธ “โคก หนอง นา โมเดล” 4.7 พันล้าน

ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละข้อพิรุธ “โคก หนอง นา โมเดล” 4.7 พันล้าน

โชว์ฉบับเต็ม! ผลสอบ สตง.ชำแหละสารพัดข้อพิรุธโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” 4.7 พันล้านบาท ล่าช้าขอขยายเวลา 2 ครั้ง สร้างฐานเรียนรู้-ใช้ครุภัณฑ์ไม่ครบ ผู้รับจ้างคุณสมบัติไม่ตรง

“ตอนเริ่มโครงการภาครัฐโฆษณาด้านดีด้านเดียว โดยอ้างแต่หลักปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง พอทำจริงข้างนอกสดใส ข้างในตะติ๊งโหน่ง ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้แล้วว่าโครงการทำจริงในทางปฏิบัติแทบไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ยังดันทุรังทำ ผลคือโครงการล้มเหลวตามที่พรรคก้าวไกลอภิปรายไว้ทุกประการ”

คือหนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์จาก “อดิศักดิ์ สมบัติคำ” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม พรรคก้าวไกล ที่เปิดเผยรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมพัฒนาชุมชน โดยระบุว่า ได้รับงบประมาณจำนวนนี้ราว 4.7 พันล้านบาท

โดยจากรายงานของ สตง.พบว่าโครงการแทบไม่เดิน ทำจริงไม่ได้ ยังไม่เกิดผลทางปฏิบัติ และบี้ให้ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องรับผิดชอบ

อ่านข่าว: “ก้าวไกล” โชว์รายงาน สตง.ชี้ “โคก หนอง นา โมเดล” สูญ 4.7 พันล้าน

ชวนอ่านผลการตรวจสอบโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จาก สตง.ฉบับเต็มกันดู

สตง. ทำบทสรุปสำหรับผู้บริหารในโครงการดังกล่าว ระบุว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมพัฒนาชุมชน เป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน)

จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือน ก.ค. 2563 จนถึงสิ้นสุดโครงการ มี.ค. 2565 มีประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้

  • การดำเนินงานโครงการล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการดำเนินโครงการตามกรอบระยะเวลาที่ ครม.อนุมัติเมื่อ 8 ก.ค. 2563 พบว่า กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการยังไม่แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ จำนวน 6 กิจกรรม โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 1 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย

ทั้งนี้ การที่กรมพัฒนาชุมชนยังดำเนินกิจกรรมตามโครงการส่วนใหญ่ไม่แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาอนุมัติ ทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการต่อ ครม.จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2564 เป็นสิ้นสุด ธ.ค. 2564 โดยผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2564 พบว่า ยังมีกิจกรรมที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้จำนวน 4 กิจกรรม

กรมพัฒนาชุมชนจึงต้องขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเป็นครั้งที่ 2 จากสิ้นสุด ธ.ค. 2564 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2565 และจากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 พบว่า กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการแล้วเสร็จทุกกิจกรรมแล้ว

  • ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง

โดย สตง.พบว่า พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลบางแห่ง ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เช่น พื้นที่เรียนรู้ระดับตำบลส่วนใหญ่ ยังมีฐานการเรียนรู้ไม่ครบ 9 ฐาน 31 แปลง โดย พื้นที่อยู่ระหว่างการสร้างฐานเรียนรู้ 24 แปลง และพื้นที่สร้างฐานเรียนรู้แล้วบางส่วน จำนวน 5 แปลง และพื้นที่ยังไม่ได้สร้างฐานเรียนรู้ 2 แปลง

รวมถึงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ที่มีฐานการเรียนรู้แล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับสาธิต และฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้ โดยมีจำนวน 29 แปลงที่ยังจัดเตรียมไม่ครบถ้วนทุกฐาน

สตง. ยังพบอีกว่า ผู้เข้าร่วมโครงการไม่พร้อมที่จะดำเนินการโครงการในการเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยจากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามโครงการในการเป็นแหล่งเรียนรู้ จำนวน 15 ราย โดยบางรายให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา บางรายไม่สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้ หรือไม่เข้าใจว่าต้องดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร บางรายมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอจะถ่ายทอด หรือส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ และบางรายไม่มีแนวคิดที่จะดำเนินการเป็นศูนย์เรียนรู้ หรือแหล่งเรียนรู้ตามที่โครงการกำหนด

  • การใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับนุนของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล

จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล พบว่า มีพื้นที่เรียนรู้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนครบทุกรายการ ร้อยละ 22.92 และพื้นที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์บางรายการ ร้อยละ 77.08

การที่ผลการดำเนินโครงการล่าช้า ไม่เป็นไปตามงานที่กำหนด และผลการดำเนินงานบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนบางรายการมีความเสี่ยงจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ล่าช้า ส่งผลกระทบสืบเนื่องถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ

สตง.ระบุว่า สาเหตุเกิดจาก กรมการพัฒนาชุมชน กำหนดพื้นที่เป้าหมายโดยขาดการพิจารณาถึงความพร้อม และข้อจำกัดของพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ รวมถึงไม่ได้กำหนดให้มีการสำรวจพื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการ และขาดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการประเมินศักยภาพและความพร้อมของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งแบบมาตรฐาน “โคก หนอง นา โมเดล” ยังไม่ครอบคลุม และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาที่ต้องดำเนินการจัดสร้างฐานเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองให้แล้วเสร็จ ตลอดจนมีการกำหนดรายการครุภัณฑ์ที่จะให้การสนับสนุน ไม่ได้มีการสำรวจความต้องการจากพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น

สตง.ตั้งข้อสังเกตสำคัญไว้ 2 ประการ ได้แก่

  • ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการบางส่วนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด

จากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จำนวน 11,332 ราย พบว่า มีผู้มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกำหนด 36 ราย ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 12 ราย ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการสมัครเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ 24 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับการจ้างงานเป็นทายาทโดยชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 จำนวน 9 ราย

  • ความเหมาะสมและความปลอดภัยของสถานที่จัดเก็บครุภัณฑ์

จากการสังเกตการณ์สถานที่จัดเก็บครุภัณฑ์ของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล จำนวน 48 แปลง พบว่า มีพื้นที่เรียนรู้จัดเก็บครุภัณฑ์บางรายการในสถานที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย จำนวน 28 แปลง

ผู้ว่า สตง. มีข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนพิจารณาดำเนินการ 3 ข้อ ได้แก่

1.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและรวบรวมข้อมูลการสร้างฐานเรียนรู้ การจัดเก็บและการใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ตามโครงการของพื้นที่ต้นแบบ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นและดำเนินการ โดยให้กำหนดแนวทางดำเนินการกรณีพื้นที่ต้นแบบยังมีฐานการเรียนรู้ไม่ครบ 

2.กำหนดมาตรฐานหรือแนวทางจัดเก็บครุภัณฑ์อย่างปลอดภัย ปรับปรุงเกณฑ์ ทบทวนเกณฑ์ประเมินศักยภาพพื้นที่ต้นแบบ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเก็บข้อมูลของแต่ละองค์ประกอบทั้ง 5 ด้านตามสภาพความเป็นจริง โดยละเอียด ครบถ้วน โดยเฉพาะสภาพปัญหาของพื้นที่ต้นแบบ

3.ในอนาคตหากมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันกับโครงการดังกล่าว ควรพิจารณาในการคัดเลือกพื้นที่ต้องให้ความสำคัญกับศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่เป้าหมาย และผู้เข้าร่วมโครงการ กำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ รวมถึงให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยหรือสภาพปัญหาอื่น ๆ รอบด้าน

นอกจากนี้กำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน ทั้งในส่วนรูปแบบการดำเนินงาน กรอบระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ต้องมีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงกรณีมีการสนับสนุนครุภัณฑ์ให้แก่ผู้ร่วมโครงการ ในการกำหนดรายการครุภัณฑ์ที่จะให้การสนับสนุน ต้องพิจารณาถึงความต้องการใช้งาน ความพร้อม และสอดคล้องกับบริบทของสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ให้กำหนดแนวทางและวิธีการในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการให้มีความชัดเจน และสั่งการให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้เป็นตามแนวทาง หลักเกณฑ์การดำเนินโครงการอย่างเคร่งครัด รอบคอบ รัดกุม