"โคกหนองนาโปรดปัน"ของสองเภสัชกร ตามแนว"ศาสตร์พระราชา"

"โคกหนองนาโปรดปัน"ของสองเภสัชกร ตามแนว"ศาสตร์พระราชา"

"โคก หนอง นา" เป็นอีกแนวทางการเกษตร ที่กลุ่มเล็กๆ ขยายแนวคิดและลงมือทำจริง โดยยึดหลักตามรอย"ศาสตร์พระราชา" ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้เกือบทั่วประเทศ และนี่คือครอบครัวตัวอย่างที่ทำแล้วได้ผลผลิต

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว คนกลุ่มเล็ก ๆค่อยๆ ขยายแนวคิดการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชา ทำจนมั่นใจว่า แก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน และกิจกรรมที่ร่วมด้วยช่วยกันกับคนในชุมชน พวกเขาเรียกว่า เอามื้อสามัคคี หรือลงแขก

ล่าสุด เมื่อต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พวกเขาโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ โคกหนองนาโปรดปัน ต.ระโสม อ.ภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามรอยศาสตร์พระราชา

 แรกเริ่มเดิมทีไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ และภรรยา สองเภสัชกรที่เปิดร้านขายยาในจังหวัดสระบุรี ตั้งใจซื้อที่ดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อปลูกบ้านอยู่กับธรรมชาติแค่ 2 ไร่เศษ จากนั้นซื้อเพิ่มอีก 8 แปลง รวมเป็น 19 ไร่เศษ ปัจจุบันทั้งสองเป็นเจ้าของพื้นที่โคกหนองนาโปรดปัน ต.ระโสม อ.ภาชี

พื้นที่เดิมที่พวกเขาซื้อ เป็นที่นาทั้งหมด มีป่าไผ่ 1 ไร่ จากนั้นทั้งสองเริ่มหาความรู้โดยดูยูทูป อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

อีกทั้งได้แรงบันดาลใจจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ที่ทุ่มเทเผยแพร่ศาสตร์พระราชา ในปี 2558 จึงเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) รุ่นแรก ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติและที่มาบเอื้อง จากนั้นกลับมาปรับพื้นที่

  “เมื่อพื้นที่มีขนาดใหญ่ จึงเน้นทำแบบ ‘เล็ก แคบ ชัด’ ขุดบ่อ 8 บ่อกักเก็บน้ำได้ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ขุดคลองไส้ไก่ มีแปลงนาขนาด 2 ไร่

บนโคกปลูกไม้ป่าหายาก โดย 70-80% เป็นต้นไม้ที่เพาะเอง จนมีผลผลิต เช่น ข้าว ตะไคร้ และกล้วย เน้นเก็บกินเอง เพราะไม่มีเวลาตัดไปขาย”

 5 ปีแล้วที่ทั้งสองปลูกข้าวกินเอง และปลูกพืชผักอื่นๆ โดยใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์เข้ามาอยู่ในสวน ส่วนวันธรรมดาทำงาน

\"โคกหนองนาโปรดปัน\"ของสองเภสัชกร ตามแนว\"ศาสตร์พระราชา\" ไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ เจ้าของพื้นที่ โคกหนองนาโปรดปัน

 

\"โคกหนองนาโปรดปัน\"ของสองเภสัชกร ตามแนว\"ศาสตร์พระราชา\"

อาหารเมี่ยง สมุนไพร 9 อย่าง

 “นอกจากได้ผลผลิตความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังจะได้สุขภาพที่ดีด้วย เป้าหมายของผมคืออยากทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้นแบบให้คนทั่วไปเห็นว่าทำได้จริง

และอยากให้ชาวนาที่เป็นเจ้าของพื้นที่โดยรอบเห็นว่า นอกจากทำนาได้แล้ว ยังสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย โดยพร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมได้” ไพโรจน์ กล่าวถึงแผนการในอนาคตของโคกหนองนาโปรดปัน

ศาสตร์พระราชาแก้วิกฤติ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก  ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรฟมธรรมชาติ เล่าว่า เราเลือกกลับมาจัดที่พระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุดท้ายของปลายลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ อีกครั้ง

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มและเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำสำคัญหลายสาย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ทุกปี

“เราจึงยังคงต้องรณรงค์ให้เกษตรกรนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งการขุดหนองเพื่อเก็บน้ำ การนำดินที่ได้จากการขุดหนองมาปั้นเป็นโคกสูง เพื่อเป็นที่สร้างที่อยู่อาศัย เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์

\"โคกหนองนาโปรดปัน\"ของสองเภสัชกร ตามแนว\"ศาสตร์พระราชา\" ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำที่พระนครศรีอยุธยา จังหวัดปลายน้ำเพียงจังหวัดเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำทั้งระบบทุกจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำมา จึงจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน”

อยุธยาน้ำท่วมทุกปี

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 2,556.64  ตารางกิโลเมตร หรือ 1,579,900 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เนื่องจากน้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้

มีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่  แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อย รวมความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร มีลำคลองใหญ่น้อยประมาณ 1,254 คลอง เชื่อมต่อกับแม่น้ำเกือบทั่วบริเวณพื้นที่

ในฤดูน้ำหลากจึงเกิดการท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี เรื่องนี้ ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า พื้นที่ของคุณไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ เป็นพื้นที่ตัวอย่างพิสูจน์ให้เป็นแล้วว่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัตินั้นสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ทางด้าน อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ร่วมกิจกรรมกลุ่มนี้เกือบทุกทริป เพราะเห็นแล้วว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อสังคม

เขากล่าวว่า แนวทางศาสตร์พระราชาว่าสามารถรอดพ้นจากทั้งวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง และล่าสุดคือวิกฤตโควิด-19 ได้จริง

"เป็นที่พึ่งให้กับคนและชุมชนรอบข้างได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้มีผู้สนใจและลงมือปฏิบัติตามองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมไทย” ติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking