ชำแหละ “กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่” ลบจุดอ่อน สร้าง “รัฐซ้อนรัฐ”

ชำแหละ “กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่” ลบจุดอ่อน สร้าง “รัฐซ้อนรัฐ”

เห็นได้ว่า “อำนาจ-หน้าที่” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ลบจุดอ่อนที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็น “ข้อครหา” ในการชี้มูลผิดทางวินัย แล้วผู้บังคับบัญชาไม่ยอมลงโทษตามความเห็นของ ป.ป.ช. รวมถึงเพิ่มอำนาจในการ “ดักฟัง-เข้าถึงข้อมูล-สะกดรอย-แฝงตัว”

กลายเป็นที่ฮือฮา พลันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ฉบับใหม่ ถูกนำมาเผยแพร่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็น โดยเมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 2565) เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หารือร่วมกันตัวแทน 35 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อถกประเด็นเหล่านี้

สาระสำคัญในการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับนี้ เพิ่มกลไกลและมาตรการในการดักฟัง การเข้าถึงข้อมูล การแฝงตัว และการสะกดรอย เพื่อการอนุวัติตามอนุสัญญา UNCAC ข้อบทที่ 50 และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีทุจริต สามารถทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีพิเศษ โดยเพิ่มมาตรา 34/2, 34/3, 34/4, 34/5

โดยในมาตรา 34 นี้ มีการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นขอต่อศาล เพื่อขอข้อมูลที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด รวมถึงการสะกดรอยหรือการได้มาซึ่งข้อมูลหรือพยานหลักฐานในการกระทำผิด โดยหากข้อมูลดังกล่าวรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ

นอกจากนี้ยังให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายบุคคลใด จัดทำเอกสารหรือหลักฐานใด หรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด หรือปฏิบัติการอำพราง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้น โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

อ่านข่าว: เปิดร่าง “กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่” เพิ่มอำนาจ “ดักฟัง-สะกดรอย-แฝงตัว” ป้องปรามโกง

นอกเหนือจากกรณี “ดักฟัง-สะกดรอย-แอบแฝงตัว” แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ใหม่ที่ “ลบจุดด้อย-เพิ่มจุดเด่น” ขึ้นอีก ได้แก่

เดิมการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากไม่พบมูลความผิดทางอาญา เมื่อมีการชี้มูลความผิด “ทางวินัย” จะต้องสัมพันธ์กับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการ “ทุจริต” ด้วย หากการชี้มูลผิดทางวินัยที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต ฝ่าย “มหาดไทย” จะสามารถ “เล่นแง่” ไม่ดำเนินการตามความเห็นของ ป.ป.ช.ได้ อย่างที่ผ่านมาหลายครั้ง

โดยคราวนี้เพิ่มมาตรา 91/1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนคดีเรื่องใดแล้ว และผลการไต่สวนตามมาตรา 91 ไม่มีมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้น มีมูลความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาได้ในทุกฐานความผิดตามที่ไต่สวนได้ความ และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ตามมาตรา 91 (2) ต่อไป ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจสั่งลงโทษดำเนินการตามมาตรา 98

ขณะเดียวกันยังแก้ในประเด็น “การอุทธรณ์” คดี จากเดิมหากส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้อง หากศาลพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด แล้ว อสส.ไม่อุทธรณ์หรือฎีกาต่อ คดีก็จะตกไป

แต่มีการแก้ไขในมาตรา 94 เมื่อศาลที่มีเขตอำนาจพิพากษาในคดีที่ อสส.เป็นโจทก์ตามสำนวนที่ได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ถ้า อสส.จะไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ให้ อสส.หารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน กรณีที่มีความเห็นต่างกัน และไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลได้เสมือนเป็นโจทก์ในคดี

ประเด็นนี้หมายรวมถึงคดี “ร่ำรวยผิดปกติ” ที่ขอให้ศาลยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินด้วยเช่นเดียวกัน ตามมาตรา 122/1

มีการเพิ่มประเด็นการ “ป้องกันการทุจริต” ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือจัดทำโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย โดยเพิ่มความในมาตรา 35/1 เปิดช่องให้มีการ “เฝ้าระวัง” การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยหน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยแผนงานโครงการ หรือราคากลางให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป และแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง นอกจากนี้หากแผนงานหรือโครงการใดส่อว่าจะใช้จ่ายโดยทุจริต หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากำหนดราคากลางสูงเกินความจำเป็น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้มีการเอื้อประโยชน์กับบุคคลหรือนิติบุคคล หรือคู่สัญญารายใด ให้เรียกข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานมาพิจารณา หรือส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ได้ โดยมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการ มีอำนาจเช่นเดียวกับคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย

ขณะเดียวกันในการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อเรียกข้อมูลหรือเอกสารจากบุคคลหน่วยงานใดที่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นห้ามมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ให้ถือว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทำโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.ฉบับนี้ และเป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกเรียกข้อมูลในการส่งข้อมูลมาตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนอาจต้องรับผิดตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถึงบรรทัดนี้ เห็นได้ว่า “อำนาจ-หน้าที่” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ลบจุดอ่อนที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็น “ข้อครหา” ในการชี้มูลผิดทางวินัย แล้วผู้บังคับบัญชาไม่ยอมลงโทษตามความเห็นของ ป.ป.ช. รวมถึงเพิ่มอำนาจในการ “ดักฟัง-เข้าถึงข้อมูล-สะกดรอย-แฝงตัว” สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นไปเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต

อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับนี้ ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน ต้องรอรับฟังความคิดเห็น ก่อนส่งร่างให้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย และส่งกลับไปยัง ครม.ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาอีก

ต้องรอดูว่าอำนาจ ป.ป.ช.ตาม “กฎหมายใหม่” เพิ่มขึ้นในระดับ “ฟูลพาวเวอร์” จะยังคงอยู่ตามที่เสนอไปหรือไม่