เช็คลิสต์ส.ส.สลับขั้วย้ายค่าย ลุ้น8ปี‘ประยุทธ์-แลนด์สไลด์’

เช็คลิสต์ส.ส.สลับขั้วย้ายค่าย  ลุ้น8ปี‘ประยุทธ์-แลนด์สไลด์’

ความเคลื่อนไหวในการขยับหาที่หาทางของ “ส.ส.” เพื่อหาพรรคที่เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเอง ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ทุกคนย่อมประเมินโอกาสชนะเลือกตั้ง เพื่อพาตัวเองกลับเข้ามานั่งเก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯให้ได้

เข้าสู่ 180 วันอันตรายของ “นักเลือกตั้ง” ต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หากหาเสียง แจกสิ่งของ จะถูกจับตาเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน หาก ส.ส. จะย้ายพรรค ย้ายค่าย เปลี่ยนขั้ว เลือกข้างใหม่ ในช่วง 180 วันก่อนครบเทอมสภา โดยการลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพื่อหาพรรคใหม่สังกัด ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่

ทำให้พรรคการเมืองที่เปิดดีลกับ “ส.ส.” เอาไว้ เดินหน้าได้อย่างสะดวกใจ อยู่ที่ใครจะรับเงื่อนไขใด เพราะหาก “ส.ส.” ลังเลใจขออยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุด อาจทำให้พรรคการเมืองคิดหนัก เพราะต้องเตรียมแผนสำรอง วางตัวตายตัวแทน หากโดนเบี้ยวในช่วงโค้งสุดท้าย

ฉะนั้น “ส.ส.” หลายคนที่คิดจะยื้อ เพื่ออยู่ในตำแหน่งจนครบเทอม หรือจนยุบสภา อาจจะต้องคิดใหม่ เปลี่ยนแผน ตัดสินใจเปิดตัวกับพรรคใหม่เร็วขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมรายชื่อ “ส.ส.” ที่มีความเคลื่อนไหวเปิดดีลย้ายพรรค-ย้ายค่าย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้กลับเข้ามานั่งในสภาฯ ในเวลานี้

เริ่มกันที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งมี ส.ส. “งูเห่า” เป็นที่หมายปองของหลายพรรค โดยเน้นเจาะในพื้นที่ภาคอีสาน พุ่งไปที่ตระกูลบ้านใหญ่ที่พอมีฐานเสียง ใช้กระสุนสู้กับกระแส “ทักษิณ-เสื้อแดง”

โดยก่อนหน้านี้มี ส.ส.งูเห่า จากค่ายสีแดงเลื้อยเข้าสังกัดพรรคสีน้ำเงินจำนวนมาก และรอย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยมาเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อาทิ จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ นิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก ผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก สุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสังกัด “เด็กคุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เตรียมออกจากพรรค เพื่อไทยมาเปิดตัวกับพรรค ไทยสร้างไทย(ทสท. ) ประกอบด้วย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. การุณ โหสกุล ส.ส.กทม.

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มยังไม่ตัดสินใจ แต่มีสัญญาณจะย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย อาทิ กลุ่มส.ส. สุรินทร์ และ ส.ส. นครราชสีมา (1-2 เขต) ซึ่งขอรอประเมินกระแสแลนด์สไลด์ และเสื้อแดงในพื้นที่ก่อน หากแนวโน้มอ่อนแรง ก็มีโอกาสย้ายค่าย

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร. จะขยันลงพื้นที่ แต่กระแสของพรรคไม่บวกขึ้น แต่แนวโน้มติดลบ จนยากที่จะปลุกให้กระเตื้องขึ้นมาเหมือนช่วงต้นรัฐบาล

จึงทำให้ “ส.ส. พปชร.” คิดหนักว่าจะไปต่อกับพรรคลุง หรือย้ายออกไปรอลุ้นกระแสบวกจากพรรคอื่น โดยเฉพาะ ส.ส. กทม. ที่ประเมินกันแล้วว่า กระแสพปชร. กระแส “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระแสนายกรัฐมนตรี ที่เคยช่วยเกื้อหนุนให้ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ขาลงเรื่อยๆ แถมอยู่ในแดนลบ หากฝืนไปต่อ อาจยากที่จะชนะการเลือกตั้ง

ส่งผลให้ ส.ส. กทม. หลายราย อาทิ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ภาดาท์ วรกานนท์ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ศิริพงษ์ รัสมี มีโอกาสจะย้ายสังกัดใหม่

ด้านกลุ่ม ส.ส. ภาคใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดได้เป็น ส.ส. เพราะกระแสของ “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงแม้สถานการณ์จะไม่เหมือนเดิม แต่ในพื้นที่ภาคใต้ ชื่อนายกฯลุงตู่ ยังพอขายได้ ดังนั้นจึงขอรอลุ้นคำตัดสินปมนายกฯ 8 ปีก่อน หากได้ไปต่อ ก็ต้องรอดูอีกช็อตว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อกับพรรคการเมืองไหน

ส่วนกลุ่ม “สามมิตร” สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โลว์โปรไฟล์ ยังซุ่มเงียบขอรอประเมินสถานการณ์ทางการเมือง หลังวันที่ 30 ก.ย. นี้เช่นกัน ยามนี้จึงเดินเกมเพลย์เซฟไว้ก่อน

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้า ต้องออกมาส่งสัญญาณแรงถึง “ศิษย์เก่าปชป.” กระแทกไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แม้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” จะขึ้นมาเป็นผู้นำเต็มตัว แต่ก็ถูกให้ราคาว่า เป็น”พรรคเฉพาะกิจ”

เนื่องจากพรรค รทสช.เดินแรงในพื้นที่ภาคใต้ ดูด “ส.ส. ปชป.” ฝ่ายตรงข้ามกลุ่มอำนาจในพรรคเข้าสังกัด แถมความไม่ลงรอยที่สั่งสมมา ทำให้ “ส.ส. ปชป.” หลายคนอยากย้ายพรรค

ที่เห็นชัดคือพื้นที่ จ.ชุมพร ทั้ง สราวุธ อ่อนละมัย อิสรพงษ์ มากอำไพ ภายใต้การนำของ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส เตรียมเก็บข้าวของเข้าสังกัด รวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกับ รังสิมา รอดรัศมี ส.ส. สมุทรสงคราม ที่มีแนวโน้มจะย้ายตามกันไป

ส่วนเด็กสาย “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป. อาทิ อันวาร์ สาและ ส.ส. ปัตตานี พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็นับถอยหลังวันอำลา ปชป.เช่นกัน

สำหรับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องยอมรับว่า ในช่วงตั้งไข่ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ก่อนมาเป็นพรรค ก้าวไกลที่ยอมรับปัญหาการคัดกรองคนยังไม่ดีพอ เพราะเวลากระชั้นชิด ทำให้มี “งูเห่าสีส้ม” เลื้อยออกมาให้เห็น โดยมีค่ายภูมิใจไทยเป็นสถานีต่อไป อาทิ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. รวมถึงสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. ซึ่งอยู่ระหว่างตัดสินใจ ระหว่างเพื่อไทย-ภูมิใจไทย

เมื่อ “งูเห่าสีส้ม” กลายเป็นบทเรียนของพรรคก้าวไกลทำให้สนามนี้ บรรดาแกนนำพรรคต้องเก็บข้อมูลผู้สมัครอย่างละเอียด ใครมีอุดมการณ์ไม่ตรงกัน จะถูกคัดชื่อทิ้งทันที

ด้าน “พรรคเล็ก” ถูกพิษรัฐธรรมนูญบัตร 2 ใบและสูตรหาร 500 เล่นงาน ทำให้แตกออกเป็น 4 สาย อาทิ 1.สายพลังประชารัฐ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ขอลงชิง ส.ส.สระบุรี ดำรงค์ พิเดช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ยังไม่ชัดเจนว่าจะลง ส.ส. ต่อหรือไม่

2.สายภูมิใจไทย นันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์ 3.สายเพื่อไทย สองพ่อลูก สัมพันธ์ -ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย

และ4.กลุ่มที่ยืนยันจะทำพรรคเดิมต่อไป อาทิ คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ส่วนอีกราย สุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ แม้พรรคจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมแผ่นดิน และเปลี่ยนผู้นำคนใหม่เป็น พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าตัวก็ขอไปต่อกับพรรคนี้

ด้านพรรคเพื่อชาติ (พช.) มีการรีแบรนด์พรรคใหม่ ดัน “มาดามฮาย” ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช มาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมใช้บริการคนรุ่นใหม่ยกพรรค เนื่องจาก ส.ส. ของพรรคทั้ง 5 คน กระจัดกระจายหาบ้านใหม่กันหมดแล้ว

โดย สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ลินดา เชิดชัย กลับพรรคเพื่อไทย ส่วน อารี ไกรนรา เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล เข้าสังกัดภูมิใจไทย

ความเคลื่อนไหวในการขยับหาที่หาทางของ “ส.ส.” เพื่อหาพรรคที่เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเอง ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ทุกคนย่อมประเมินโอกาสชนะเพื่อพาตัวเองกลับเข้ามานั่งเก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯให้ได้