“16 ปี” รัฐประหาร 49 จาก คมช.ถึง คสช. ข้ามไม่พ้น “ทักษิณ”

“16 ปี” รัฐประหาร 49 จาก คมช.ถึง คสช.  ข้ามไม่พ้น “ทักษิณ”

16 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ดูเหมือนความพยายามปรองดองสมานฉันท์จะไปไม่ถึงไหน และแนวโน้มการปรองดองในสังคมการเมืองเวลานี้ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นจริง เมื่อปมปัญหายังผูกโยงกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่นักเลือกตั้ง และบางฝ่าย ไม่ยอมก้าวข้าม เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว 19 ก.ย.49 คือวันที่ คมช.หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ทำรัฐประหาร นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หรือ คปค.ในเวลาต่อมา

เป้าหมายการรัฐประหารในครั้งนั้นชัดเจนว่า เป็นการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยังมีความนิยมสูง ท่ามกลางประเด็นถูกกล่าวหา ทั้งเรื่องทุจริต ไม่โปร่งใส ที่ถูกเปิดโปงมากขึ้นเรื่อยๆ การเดินเกมการเมืองเพื่อให้ตัวเองและพรรคพวกอยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนาน

“16 ปี” รัฐประหาร 49 จาก คมช.ถึง คสช.  ข้ามไม่พ้น “ทักษิณ”

 โดย “บิ๊กบัง” บอกว่า “การปกครองช่วงนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่มีบทบาท การคอรัปชั่น องค์กรอิสระไม่ทำหน้าที่ไม่ได้ สภาพรัฐสภาเป็นเผด็จการใช้เสียงข้างมากตัดสินใจ ไม่คำนึงเสียงข้างน้อยถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ทุกคนทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม”

หลังยึดอำนาจ “บิ๊กบัง” ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนถึงการฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายใน 1 ปี แต่การรัฐประหารในรอบ 15 ปีครั้งนั้น ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเมืองสีเสื้อ และปัญหาที่ซับซ้อนตามมา ส่งผลลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ความพยายามในการหยุดอำนาจ กวาดล้างเครือข่าย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ยังมีความนิยมสูงก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้

จึงมีความพยายามหันมาใช้แนวทาง “สร้างความปรองดองสมานฉันท์” แม้แต่ “บิ๊กบัง” เอง ก็โดดเข้าไปเป็นประธานกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติเสียเอง

ความพยายามปรองดอง ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง จากดำริของรัฐบาลผู้มีอำนาจในแต่ละช่วงเวลาเอง หรือฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รวมไปถึงองค์กรอื่นๆ เช่น สถาบันพระปกเกล้า แต่ก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม

ปัจจัยหลักนอกจากจุดเริ่มต้นของการเลือกใช้วิธีผิดพลาดในการแก้ไขปัญหา คล้ายกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดแล้ว ยังเป็นเพราะ “ทักษิณ” ไม่ยอมแพ้ และต่อสู้ทางการเมืองทุกรูปแบบเรื่อยมา หนำซ้ำพรรคการเมืองที่ “ทักษิณ”สนับสนุน รีโมทจากต่างแดน ก็ได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งทุกครั้ง จนต้องมีการออกกติกาเพื่อสกัดกั้น

และเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี ในรัฐธรรมนูญปี 60 ก็เป็นหนึ่งในกฎเหล็กที่นำมาตั้งด่านรอไว้ แต่ปรากฏว่าคนที่โดนเล่นงานเสียก่อนคนแรกกลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 8 ปีก่อน

ล่าสุด กระแสปรองดองกลับมาอีกครั้ง และมาจากคนที่เป็นหนึ่งใน “คู่ขัดแย้งหลัก” นั่นก็คือ อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งปัจจุบันสื่อสารการเมืองไทยทุกสัปดาห์ผ่านคลับเฮาส์ ในชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม”

“โทนี่” เพิ่งพูดผ่านคลับเฮาส์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยบอกตอนหนึ่งว่า ตัวเองนั้นเป็นแดง แล้วก็เป็นเหลืองด้วย จึงเป็นทั้งเหลืองทั้งแดง ซึ่งถือเป็นการ “ส่งสัญญาณปรองดอง” ที่ชัดเจน แม้จะยังไม่ยอมรับว่า การเปิดตัวของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นการปูทางปรองดองเพื่อให้ได้กลับบ้าน ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังคุณหญิงอ้อปรากฏตัว

จะว่าไป คุณหญิงอ้อ จะเกี่ยวกับ “ดีลลับ” หรือไม่...ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าทักษิณจะกลับบ้าน ต้องใช้แผน “บันไดสามขั้น” ตามที่หลายฝ่ายออกมาอ่านเกม

ขั้นแรก คือต้องชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เสียก่อน จากนั้นจึงจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากพิเศษ เพื่ออ้างเป็น “ฉันทามติ” เสนอโมเดลปรองดอง ให้ตัวเองได้กลับบ้านในขั้นตอนสุดท้าย เหตุนี้เองพรรคเพื่อไทยจึงต้องการชนะแบบ “แลนด์สไลด์” อย่างมาก เพราะนัยทางการเมืองก็คือ

ฉันทามติ 1 คนไทยเลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์เกินครึ่ง โดยที่เพื่อไทยหาเสียงในแบบชูทักษิณแบบไม่ปิดบัง จึงคล้ายเป็นการทำประชามติไปในตัวว่าอยากให้ทักษิณกลับบ้าน

ฉันทามติ 2 ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด จากเกือบทุกพรรคการเมือง ก็ยังสนับสนุน

จากนั้นก็จะเสนอโมเดลปรองดอง...นี่คือยุทธศาสตร์ หรือแผนใหญ่ๆ ที่วางเอาไว้ แต่ความจริงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ตรงนี้น่าสนใจมากกว่า

นักสันติวิธีหลายคน รวมถึงนักการเมือง มองสอดคล้องกันว่า ปรองดองไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว หรือเกี่ยวข้องกับคนแค่คนเดียว ที่สำคัญยังมีประเด็นที่อาจส่งผลต่อ กระบวนการยุติธรรมของประเทศ 

นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีต ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ฟันธงว่า

“การจะอ้างผลการเลือกตั้งเพื่อล้มกติกา ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะคดีทุจริต แม้แต่กระบวนพิจารณาในศาล หรือในกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยยอมความในคดีทุจริต ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาที่มีผลต่อส่วนตัว แต่คดีทุจริตไม่มีเจรจา การจะใช้กระบวนการใดก็ตามแต่ ที่จะทำให้คุณทักษิณกลับบ้านโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม จะกระทบกับคดีทุจริตที่ศาลพิพากษาไปแล้ว คำถามคือจะทำอย่างไร เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคม”

ส่วนที่มีบางฝ่ายอ้างเหตุผลว่า คดีของอดีตนายกฯทักษิณเป็นเรื่องการเมือง เพราะมีการดำเนินคดีกันช่วงรัฐบาลปฏิวัติ รัฐประหาร “กติกานี้ไม่มีเรื่องเวลา คดีจะเริ่มตอนไหน จบตอนไหนเป็นอีกเรื่อง และหากจะอ้างเรื่องคดีในช่วงรัฐบาลจากการรัฐประหาร มันก็ต้องย้อนไปเยอะมาก (รัฐประหาร 2 ครั้งใน 8 ปี) และกระทบกับคดีจำนวนมาก บางคดีก็เป็น “คุณ” กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปแล้ว แบบนี้เขาจะยอมให้รื้อหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายหลักของความสมานฉันท์ คือการปรองดองของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาบอก คนเห็นต่างต้องมานั่งพูดคุยกัน แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่ไปยกเลิกกฎหมาย หรืองดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคนบางคน”

สำหรับความก้าวหน้าของ การปรองดองสมานฉันท์ปีนี้ 2565 บทสรุปข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมด ของคณะกรรมการสมานฉันท์เสร็จเรียบร้อย นำส่งไปยังประธานชวน หลีกภัย พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในภาพรวม 

มีทั้ง การเร่งพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ภายใต้บริบทของสังคมไทย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในเชิงวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และเพื่อเป็นฐานในการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่สถาบันทางการเมืองและสังคม ให้มีกระบวนการค้นหาความจริงในกรณีข้อขัดแย้งที่เกิดความรุนแรง โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในประเด็นที่มีข้อถกเถียงในสังคมหรือมุมมองที่แตกต่างเพื่อหาความจริง

อีกทั้ง ต้องเร่งสื่อสารและให้ข้อมูลกับประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและควรมีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนแต่ละฝ่าย โดยเน้นการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งยังมีข้อเสนอในเรื่องของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ

ทว่า ในวาระครบรอบ 16 ปีของการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ตั้งแต่ ยุค คมช. "บิ๊กบัง" สนธิ บุญยรัตกลิน กระทั่งลากยาวมาถึงยุค คสช."บิ๊กตู่" ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนความพยายามปรองดองสมานฉันท์จะไปไม่ถึงไหน และแนวโน้มการปรองดองในสังคมการเมืองเวลานี้ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นจริง เมื่อปมปัญหายังผูกโยงกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่นักเลือกตั้ง และบางฝ่าย ไม่ยอมก้าวข้าม เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง