พลิกความเห็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” จากบันทึก กรธ. ถึงคำชี้แจงศาล

พลิกความเห็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” จากบันทึก กรธ. ถึงคำชี้แจงศาล

"...การชี้แจงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญของ “มีชัย” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ย้อนแย้ง” กับบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อราว 4 ปีก่อน ซึ่งปรากฏความเห็นของนายมีชัย และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีต กรธ. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว..."

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองอีกครั้ง พลันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุม “วาระพิเศษ” ในวันที่ 8 ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปีหรือไม่

โดยในวันดังกล่าว จะมีการพิจารณาเอกสารคำชี้แจงจากพยานฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ. เป็นต้น

วานนี้ (6 ก.ย.) มีการเผยแพร่เอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และหนึ่งในพยานฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยระบุถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2565 จำนวน 3 หน้า 

สรุปสาระสำคัญ คือ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้นั้น การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มี ส.ส.และ ส.ว.ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมี ครม. เพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด 

จึงได้มีบทบัญญัติ มาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ ว่าให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวัน ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่ 

มีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ ผลของ มาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะ ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560

โดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อ ครม.และนายกฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป

พลิกความเห็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” จากบันทึก กรธ. ถึงคำชี้แจงศาล

การชี้แจงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญของ “มีชัย” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ย้อนแย้ง” กับบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 หรือราว 4 ปีก่อน ซึ่งปรากฏความเห็นของนายมีชัย และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีต กรธ. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

มีแหล่งข่าวใน กรธ.หลายคน “คอนเฟิร์ม”ว่า นายมีชัย และนายสุพจน์ มีความเห็นว่า การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับ

สำหรับการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการจัดทำ “กฎหมายลูก” และเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปรียบเสมือน “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” 

โดยพบว่า สาระสำคัญในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ระบุว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หลังพ้นจากตำแหน่ง

คำอธิบายมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดหลักการใหม่ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของบุคคลดังกล่าวแล้ว เกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ

อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในระหว่างรักษาการ ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุวิกฤติทางการเมืองได้

แต่ประเด็นเหล่านี้ “มีชัย” ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 ดังกล่าว ซึ่งปรากฎความเป็นของตัวเองว่า เป็นการจดรายงาน ที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และกรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 12 ก.ย.2561 

ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ 

กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีนายกฯ ที่ “มีชัย” มือกฎหมายระดับ “พญาครุฑ” เขียนคำชี้แจงแก่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันข้อเท็จจริงว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ-ครม. ให้เริ่มนับเมื่อ 6 เม.ย. 2560 คือวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้

ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาออกในแนวทางใด และจะนัดฟังคำวินิจฉัยเรื่องนี้เมื่อไหร่ คงต้องรอลุ้นการประชุมในวันที่ 8 ก.ย.นี้