เปิดความเห็น “มีชัย” แจงศาล รธน. ยันวาระนายกฯเริ่มนับ 6 เม.ย.60

เปิดความเห็น “มีชัย” แจงศาล รธน. ยันวาระนายกฯเริ่มนับ 6 เม.ย.60

เปิดความเห็นเอกสาร “มีชัย” แจง “ศาล รธน.” ปมวาระ 8 ปีนายกฯ “บิ๊กตู่” เริ่มนับเมื่อ 6 เม.ย. 60 วัน “รัฐธรรมนูญ” บังคับใช้ แจงบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 จดไม่ครบถ้วน ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวาระพิเศษ ในวันที่ 8 ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปีหรือไม่ โดยในวันดังกล่าวจะมีการพิจารณาเอกสารคำชี้แจงจากพยานฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูย (กรธ.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ. เป็นต้น

ล่าสุด มีการเผยแพร่เอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหนึ่งในพยานฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยระบุถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2565 จำนวน 3 หน้า โดยระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตน ในฐานะอดีตประธาน กรธ. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯดังกล่าว เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ และนับแต่เมื่อใดนั้น มีความเห็นดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย.2560 ตามที่ปรากฎในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับ จึงมีตั้งแต่ วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ 

2.ในส่วนที่เกี่ยวกับ ครม.นั้น รัฐธรรมนูญ 2560ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160) ที่มา (มาตรา 88) วิธีการได้มา (มาตรา 159) และมาตรา (272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพันจากตำแหน่ง (มาตรา168) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา ส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิ และเพิ่มความรับผิดชอบ  ไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้ เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับครม.ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ2560 

3.การที่จะได้มาซึ่งครม.ตามรัฐธรรมนูญ2560 จะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีส.ส.และส.ว.ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีครม. เพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติ มาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ ว่า "ให้ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

  • ยันเริ่มนับวาระนายกฯ 6 เม.ย.60 ที่ รธน.ใช้บังคับ

4.โดยผลของ มาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะ  ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อครม.และนายกฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เม.ย.2560เป็นต้นไป 

  • แจงบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 จดไม่ครบถ้วน ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้

เอกสารดังกล่าวยังชี้แจงผ่านเอกสารในช่วงท้าย ถึงกรณีมีการเผยเเพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย.2561 ก่อนหน้านี้ ที่ปรากฎความเห็นของนายมีชัย และนายสุพจน์ ไข่มุก (อดีต กรธ.) ระบุถึงวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี หรือไม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับรวมก่อนปี2560 ด้วย ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่าเป็นการจดรายงาน ที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด  กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และกรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 12 ก.ย.2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ