บทเรียน “งูเห่า” ผ่าโจทย์ใหญ่ “ก้าวไกล” เฟ้นหา “ดีเอ็นเอสีส้ม” สู้เลือกตั้ง

บทเรียน “งูเห่า” ผ่าโจทย์ใหญ่ “ก้าวไกล” เฟ้นหา “ดีเอ็นเอสีส้ม” สู้เลือกตั้ง

“โจทย์ใหญ่” ของพรรคก้าวไกลคือทำให้ประชาชน และสังคมเชื่อมั่นว่า เราบริหารประเทศได้อย่างมั่นใจ วางใจให้พรรคก้าวไกล ให้พรรค บริหารประเทศได้ แก้ปัญหาทั้งในประเทศที่มีปัญหาทางการเมือง และปัญหาต่างประเทศที่สถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมือง “ระดับนำ” ที่เคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ แต่มีความคืบหน้าตลอด สำหรับ “พรรคก้าวไกล” 

หลังจากผุดแคมเปญ “ก้าวไกล NEXT” เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรค อาสาสมัครพรรค รวมถึงประชาชนทั่วไปตลอดช่วงเดือน ส.ค. 2565 จนเคาะ “บทเรียน” สรุป “โจทย์ใหญ่” ที่ต้องแก้ไขมา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. การสื่อสารการทำงานของพรรค
  2. การลงพื้นที่ทำงานของสมาชิก และ ส.ส.ของพรรค
  3. การคัดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค

“ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พรรคได้รับข้อเสนอในช่องทางออนไลน์มามากกว่า 400 ข้อเสนอ, ได้สร้างบทสนทนามากกว่า 5,700 ครั้ง, มีผู้มีส่วนร่วมในการโหวตกว่า 6,000 ครั้ง และมีการเข้าถึงเว็บไซต์กว่า 10,000 ครั้ง และยังมีการเปิดเวทีในพื้นที่กว่า 27 เวที ในทุกภาคทั่วประเทศ นอกจากโจทย์เรื่องการสื่อสาร การทำงานพื้นที่ และตัวผู้สมัครแล้ว สิ่งที่ได้รับการเสนอเข้ามามากที่สุดคือเรื่องของนโยบาย มากกว่าเรื่องอื่นเป็นเท่าตัวถึง 204 เรื่อง ตามมาด้วยข้อเสนอแนะเรื่องการสื่อสาร และการทำงานพื้นที่ ตามลำดับ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สรุปประเด็นไว้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรง “ค่ายสีส้ม” จำเป็นต้อง “ปักธงความคิด” ระดมสรรพกำลังทั้งหมด ทุ่มออกมาเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้

โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญ ที่ไม่ใช่พรรคฝ่ายรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีฐานเสียงใกล้เคียงกันอีกด้วย

สมการสูตรเลือกตั้งแบบ “หาร 100” ซึ่งไม่ค่อย “เป็นคุณ” เท่าไหร่กับ “พรรคก้าวไกล” ที่ได้จำนวน ส.ส. จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในนาม “พรรคอนาคตใหม่” จำนวน 81 ที่นั่ง ส่วนใหญ่เป็น “ปาร์ตี้ลิสต์” มี ส.ส.เขต แค่เพียง 26 ที่นั่งในสภาเท่านั้น และในจำนวนนี้ “เกือบครึ่ง” กลายเป็น “งูเห่า” ทรยศอุดมการณ์ “สีส้ม” ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ปัจจุบัน “ก้าวไกล” เหลือ ส.ส.เขตเพียง 18 รายเท่านั้น

ทำให้โจทย์ใหญ่ในการเตรียมสู้สมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้า “พรรคก้าวไกล” ประเมินว่า ต้องโฟกัสคัดเลือกตัวผู้สมัครอย่าง “เข้มข้น” เพื่อสืบทอด “ดีเอ็นเออนาคตใหม่” เข้าตัว ไม่ทรยศหักหลังประชาชนอีก

สำหรับเป้าหมายของ “ก้าวไกล” เตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทุกเขต โดยเชื่อว่าจะได้จำนวน ส.ส.เขต ในทุกภาค แม้ว่าจะใช้สูตรการเลือกตั้งแบบ “หาร 100” ก็ตาม

แต่จะเน้นโฟกัสไปใน “พื้นที่สีส้ม” เข้มข้น เช่น กทม.ในหลายเขต สะท้อนจากผลการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา จังหวัดปริมณฑล ภาคกลางบางจังหวัด รวมถึงภาคเหนือตอนบนบางส่วน ภาคตะวันออกบางจังหวัด และภาคอีสานบางจังหวัด ที่คาดว่าจะมีจำนวน ส.ส.เข้าสภาแน่นอน ส่วนภาคใต้แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตไว้บางส่วนแล้ว และจาก “โพลพรรค” มีคะแนนค่อนข้างเป็นที่พอใจ

อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้คงต้องรอการแบ่งเขตจาก กกต.ก่อนว่า จะแบ่งในรูปแบบใด เขตไหนเป็นเขตไหน เพื่อวางตัวผู้สมัครลงเลือกตั้ง

สำหรับผลคะแนนการเลือกตั้งนั้น แกนนำระดับสูงในพรรคก้าวไกล เชื่อว่า จะได้คะแนนไม่ต่ำกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ 6.3 ล้านเสียง แม้ว่าจะมีบางเขตที่เป็นคะแนนจากพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แต่ผลจากการทำงานที่ผ่านมาในสภา เชื่อว่าได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น มาถมคะแนนจาก ทษช. 

ประเด็นที่หลายคนสนใจคือ บรรดา ส.ส.ที่มี “ดีเอ็นเออนาคตใหม่” ทั้ง “ส.ส.เจี๊ยบอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “วรรณวรี ตะล่อมสิน” ส.ส.กทม. ประกาศ “วางมือ” ไม่ลง ส.ส.สมัยหน้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเป็นเพราะ “ก้าวไกล” ต้องการปรับลดบทบาทลง ไม่รื้อฝ้า-ทะลุเพดานเหมือนที่ผ่านมาแล้ว

ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า “พรรคก้าวไกล” ยังคงมีอุดมการณ์เดิม ไม่ได้เปลี่ยนวิธีเล่นเหมือนที่หลายคนตั้งข้อสังเกต

“เลขาฯต๋อม” ระบุว่า ทั้ง 2 รายยังคงอยู่กับพรรคก้าวไกล ไม่ได้ไปไหน โดย น.ส.อมรัตน์ ขณะนี้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่จะปรับบทบาทมาดูงาน “หลังบ้าน” เพิ่มมากขึ้น พัฒนาพรรคไปในทิศทางที่ดีขึ้น เปิดทางให้ “เลือดใหม่” เข้าไปเป็น ส.ส. ส่วน น.ส.วรรณวรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักฟื้นหลังคลอดบุตร จึงต้องการปรับบทบาทตัวเองให้เวลาครอบครัวมากขึ้น แต่ยังคงสนับสนุนพรรคก้าวไกล และร่วมทำงานกับพรรคก้าวไกลเช่นเดิม

ไม่เปลี่ยนวิธีเล่นหรอกครับ จุดยืน ทิศทางการเมืองยังเหมือนเดิม และปรับปรุงด้านที่เราอาจยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่เด่นชัด ให้ครบเครื่องมากขึ้น แต่ว่าการที่ ส.ส.เจี๊ยบ ถอยออกไปอยู่เป็นกรรมการบริหารพรรคอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่า พรรคปรับจุดยืน คงไม่หรอก เดี๋ยวเห็นว่าที่ผู้สมัครใหม่ ครบเครื่อง มีทั้งผู้สมัครทำงานทางการเมือง ประเด็นสังคม เศรษฐกิจ หรือประเด็นต่าง ๆ ก็รอบด้านอยู่แล้ว” ชัยธวัช ยืนยัน

ส่วนโจทย์ใหญ่ของ “พรรคก้าวไกล” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผ่านการสะท้อนแคมเปญ “ก้าวไกล NEXT” มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างนั้น “ชัยธวัช” อธิบายว่า ก้าวไกล NEXT เน้นกระบวนการระดมความเห็นจากสมาชิกพรรค อาสาสมัคร ประชาชนที่สนับสนุนพรรค เพื่อที่จะไปสู่การปรับปรุง ปฏิรูปพรรคหลาย ๆ ด้าน ได้ประเด็นหลัก ๆ แล้วที่เป็นความเห็นที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การพิจารณาผู้สมัคร แนวทางการนำเสนอนโยบาย การปรับปรุงเรื่องการสื่อสารของพรรค เป็นต้น โดยความเห็นเหล่านี้คงจะนำไปสู่การปรับการทำงาน บางเรื่องทำได้เร็ว บางเรื่องต้องใช้เวลาในการทำ ทั้งนี้วันที่ 9 ก.ย. 2565 เรื่องแคมเปญเลือกตั้ง เริ่มที่ กทม. พร้อม ๆ กับการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ที่พรรคมีการรับรองไปแล้ว หลังจากนั้นคงจะเดินสายไปทั่วประเทศ แต่ละภูมิภาค ตลอดเดือน ต.ค. 2565

ส่วนการถอดบทเรียนเรื่อง “ส.ส.งูเห่า” นั้น “ชัยธวัช” กล่าวว่า สิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เกิดจากเราไม่มีเวลาในการคัดสรรให้ดีพอ หรือทดลองการทำงานร่วมกัน เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น ในรอบนี้เรามีเวลาพิจารณา กระบวนการทดลองการทำงานก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่จริง ๆ และส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการ ตรงนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง คราวนี้เราให้ทีมงานในพื้นที่มีส่วนร่วมประเมิน และทำงานกับผู้สมัคร ส.ส. อย่างใกล้ชิดด้วย ส่วนในระยะยาวสิ่งที่จะต้องทำให้ได้ คือการสร้างนักการเมืองของพรรค มีกระบวนการที่เรามีความมั่นใจขึ้นมา ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องรอเป็นการรับสมัครเป็นครั้ง ๆ ไป

“ชัยธวัช” กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “โจทย์ใหญ่” ของพรรคก้าวไกลคือทำให้ประชาชน และสังคมเชื่อมั่นว่า เราบริหารประเทศได้อย่างมั่นใจ วางใจให้พรรคก้าวไกล ให้พรรค บริหารประเทศได้ แก้ปัญหาทั้งในประเทศที่มีปัญหาทางการเมือง และปัญหาต่างประเทศที่สถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่แน่นอน การสร้างความไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าเราบริหารประเทศได้ในปัญหารุมเร้า และปัญหาระยะยาวคือสิ่งสำคัญ

ทั้งหมดคือสถานการณ์ของ “พรรคก้าวไกล” อีกหนึ่ง “พรรคใหญ่” ในขั้ว “ฝ่ายค้าน” ที่เสริมทัพ ระดมสรรพกำลัง เพื่อเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ ส่วนจะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องรอติดตามผลกันต่อไป