เปิดโมเดลรวมพรรคชพน.-กล้าเสริมจุดแข็งเศรษฐกิจ-สร้างกระแสปาร์ตี้ลิสต์

เปิดโมเดลรวมพรรคชพน.-กล้าเสริมจุดแข็งเศรษฐกิจ-สร้างกระแสปาร์ตี้ลิสต์

เปิดโมเดลควบรวมพรรค “ชาติพัฒนา-กล้า” เสริมจุดแข็งเศรษฐกิจ-สร้างกระแสปาร์ตี้ลิสต์ ดึงดูด “นักการเลือกตั้ง” อยู่ในโฟกัส “ทุนการเมือง”

ถึงเวลา “พรรคการเมืองเกิดใหม่” รวมถึง “พรรคการเมืองเก่า” ที่มีขนาดเล็กลง ต้องทบทวนทิศทางการเมืองเสียใหม่ เพราะกลศึกของสนามเลือกตั้งครั้งหน้า บรรดาพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลาง ทุ่มทุกสรรพกำลังแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.เข้าพรรคของตัวเองให้ได้มากที่สุด

ทุกวันนี้ “นักเลือกตั้ง”สายแข็ง และกลุ่มบ้านใหญ่ ที่มีฐานเสียงของตัวเองในพื้นที่ มีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่กระจายตัว สังกัดพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลาง ทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ไม่มีตัว “นักเลือกตั้ง” เกรดเอ-เกรดบี เป็นต้นทุน เพราะนี่เป็นข้อได้เปรียบและเป็นทางลัดการเมือง

มิหนำซ้ำการส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำเป็นต้องใช้ทั้งกระแสและกระสุน เงินถุงเงินถัง เพื่อขับเคี่ยวช่วงชิงคะแนนทุกแต้ม หาก “พรรคใหม่-พรรคเล็ก” ทุนไม่หนาพอ ย่อมไม่เสี่ยงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะเสียทั้งแรงเสียทั้งเงิน

ที่สำคัญเวลานี้ “ทุนการเมือง” โฟกัสไปที่พรรคใหญ่-พรรคขนาดกลาง ที่มีโอกาสลุ้น ไม่ได้ลงขันแบบหว่านไปทั่ว เน้นจับพรรคการเมืองที่โชว์ตัวเลข ส.ส.เก่า แล้วมีโอกาสทำได้ตามเป้า “นายทุนการเมือง” ถึงจะยอมควักกระเป๋า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องกติกาเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ “พรรคใหม่” ต่างมีความหวังกับ “บัตรใบเดียว” เพราะโอกาสจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีสูง แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมร่างกติกา “บัตรสองใบ” พ่วงด้วยสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 ทำให้ “พรรคใหม่-พรรคเล็ก” แทบไร้ที่ยืนในสภา โดยเฉพาะ“พรรคใหม่” กลับหลังหันไม่ทันเสียแล้ว

ด้วยเหตุผลทางการเมืองหลายปัจจัย จึงไม่แปลกที่ "พรรคชาติพัฒนา" ภายใต้การนำของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานพรรค ตัดสินใจจับมือกับ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า แถลงข่าวความร่วมมือทางการเมืองระหว่างสองพรรค โดยนัดหมายที่บ้านพักส่วนตัว เลขที่ 333 ราชวิถี 20 ดุสิต กทม. เวลา 10.30 น. วันนี้ (2 ก.ย.)

จุดลงตัวของ “สุวัจน์-กรณ์” คือการพบกันคนละครึ่งทาง “สุวัจน์” มีพื้นที่ฐานเสียงอยู่ที่ จ.นครราชสีมา แม้จะโดนเจาะในหลายเขต แต่ชื่อชั้นยังพอขายได้อยู่ จึงมีโอกาสได้ ส.ส.เขต นครราชสีมา และสามารถต่อยอดในพื้นที่อีสานตอนใต้ได้ในบางจังหวัด

ขณะที่ชื่อชั้นของ “กรณ์” เป็นที่รู้จักทั้งกลุ่มคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ในพื้นที่เขตเมือง ที่สำคัญ “กรณ์” ยังมีภาพของมือเศรษฐกิจ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง สามารถสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอยู่เป็นประจำ ทำให้ “กรณ์” ไม่เคยหายไปจากหน้าสื่อ หลายมุมมองทางเศรษฐกิจถูกหยิบยกไปเป็นคำถาม เพื่อชี้แนะให้ผู้มีอำนาจนำไปแก้ปัญหา

อีกทั้งยังมีมือเศรษฐกิจ รุ่นเก๋า อย่าง กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานยุทธศาสตร์นโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมทีม และใน กทม.ยังพอมีกระแสในพื้นที่ โดยเฉพาะเขตจตุจักรของ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า

ดังนั้นการควบรวม “ชาติพัฒนา-กล้า” จึงได้มากกว่าเสีย เพราะ “สุวัจน์-กรณ์” มีจุดเด่นกันคนละด้าน เมื่อนำมารวมกันย่อมทำให้พรรคมีพลังมากขึ้น เพื่อจะชูให้เห็นภาพความชัดเจนในสถานะ “พรรคเศรษฐกิจ” ที่ขาดแคลนในสารบบการเมืองไทยได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในการสร้างกระแสปาร์ตี้ลิสต์ในกติกาบัตร 2 บัตรได้อีกชั้น 

ที่สำคัญ ยังมีโอกาสสูง จะกลับมาอยู่ในโฟกัสของ “ทุนการเมือง” ได้ไม่ยาก

หลังจากนี้ จะมีความเคลื่อนไหวของ “พรรคใหม่-พรรคเล็ก” เคลื่อนตัวเข้าหากัน ใช้โมเดลควบรวมเพื่อสร้างพลังทางการเมืองเพิ่มเติมอีกอย่างแน่นอน

โฟกัส ไปที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ภายใต้การนำของ “คุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคกับพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ภายใต้การบัญชาการของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีการทอดไมตรี พูดคุยกันก่อนที่ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค สอท.จะประกาศตั้งพรรค

แต่ทั้ง “สุดารัตน์-สมคิด” ยังไม่มีปิดประตูใส่กัน เรื่องรวมพรรคเสียทีเดียว เพราะสมการการเมืองจากวันที่ตั้งพรรคเปลี่ยนไปมาก ตัวว่าที่ผู้สมัครในตลาด “นักเลือกตั้ง” ที่มีจำกัด หากยังเดินกันคนละทาง โอกาสประสบความสำเร็จมีน้อย แต่หากมามัดรวมกัน ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.ได้ ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็ได้ลุ้น

จึงอยู่ที่สูตรการเมือง “สุดารัตน์-สมคิด” จะแบ่งเก้าอี้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ กันอย่างไร ในเชิงบริหารพรรค ใครจะเดินนำ-ใครจะเดินตาม ซึ่งการเจรจากันหลายครั้งก่อนหน้านี้ โจทย์ยังติดอยู่ที่สองปมดังกล่าว

นอกจากนี้ ต้องจับตา "9 พรรคเล็ก" ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเสียงเดียว ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคพลังธรรมใหม่

พรรคปัดเศษเหล่านี้ ได้เก้าอี้ ส.ส. สมัยแรก หลังการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยกติกาเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” แต่ครั้งนี้ เมื่อกติกาเปลี่ยน จึงเริ่มเคลื่อนไหวรวมตัวกันเป็นพรรคเดียวกัน เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ยังไม่ปรากฎความชัดเจนว่า จะควบรวมในนามพรรคใด แต่ฟันธงได้เลยว่า หาก “9 พรรคเล็ก” ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โอกาสริบหรี่ที่จะกลับเข้าสภาได้

 สถานการณ์ลุ้นระทึกผลกระทบวาระ 8 ปีนายกฯ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ จึงต้องจับตาทิศทางการเมือง สูตรเอาตัวรอดของนักเลือกตั้งทุกฝีก้าว เพราะหลังม่านการเมือง “ดีล” ไม่ลับ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกว่าผลประโยชน์จะลงตัว