ทำความเข้าใจ ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ “รักษาการนายกฯ”

ทำความเข้าใจ ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ “รักษาการนายกฯ”

หลายคนอาจสงสัยว่า "รักษาการนายกรัฐมนตรี" มีอำนาจหน้าที่ เทียบเท่าหรือน้อยกว่านายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ ?

ภายหลังเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 4 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าศาลจะวินิจฉัยในวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี

เรียกได้ว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ก้าวขึ้นมาเป็น "รักษาการนายกรัฐมนตรี" ในทันที เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และให้การบริหารบ้านเมืองเดินหน้าต่อไป

แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะได้รับตำแหน่งรักษาการนายกฯ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีอำนาจในการสั่งการทางการเมืองได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นเหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง แต่อยู่ระหว่างหยุดงานชั่วคราวเท่านั้น

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมาทำความเข้าใจถึงรายละเอียดและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของ “รักษาการนายกฯ”

  • ตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีคืออะไร

ผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี หรือ ผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เรียกโดยย่อว่า “รักษาการนายกฯ” ปฏิบัติราชการเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองบางอย่าง เกิดปัญหาด้านสุขภาพ หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในประเทศและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางไกลได้

บทบาทนี้จะดำเนินการโดย "รองนายกรัฐมนตรี" ลำดับที่หนึ่ง หากมีการแต่งตั้งไว้อยู่ก่อนแล้ว หรือโดยรัฐมนตรีระดับสูงคนอื่นๆ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ หากไม่ได้มีการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้า

สำหรับประเทศไทย คำว่า "รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี" หรือ "ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี" จะมีความหมายคล้ายคลึงกัน คือแต่งตั้งขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ชั่วคราว ส่วนคำว่า "ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี" จะใช้เมื่อนายกรัฐมนตรีเสียชีวิต หรือหมดคุณสมบัติเท่านั้น

  • ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรี

ในตัวอย่างของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั้น จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุว่า “ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน”

นั่นหมายความว่า รักษาการนายกฯ ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการทางการเมือง โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินได้โดยที่นายกฯ ตัวจริงไม่เห็นชอบ รวมถึงไม่สามารถยุบสภาได้ด้วยตนเอง

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ "รักษาการนายกฯ" จะสิ้นสุดลงต่อเมื่อนายกฯโดยตำแหน่งกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง และรักษาการนายกฯ จะกลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมของตน เช่น รองนายกฯ หรือ รัฐมนตรี

ดังนั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในประเทศในช่วงนี้อาจยังมีบางคนยังเข้าใจผิดว่า กรณีของ พล.อ.ประวิตรนั่งรักษาการนายกฯ หมายถึงมีอำนาจเต็มในการว่าราชการและปฏิบัติภารกิจทางการเมืองได้ทั้งหมด

แต่ในความจริงผู้ที่มีอำนาจเต็มและมีอำนาจในการอนุมัติ ยังอยู่ในอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยังคงเป็นนายกฯ อยู่ตามตำแหน่งจริง เพียงแค่ขณะนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่หน้างานเท่านั้น