ปฐมบท 18 ปีไฟใต้ 9 ปีพูดคุยฯ “ไทย-บีอาร์เอ็น” สับขาหลอก ?

ปฐมบท 18 ปีไฟใต้ 9 ปีพูดคุยฯ “ไทย-บีอาร์เอ็น” สับขาหลอก ?

9 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เหมือนเดินย่ำอยู่กับที่ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคนพูดคุย หวังยุติความรุนแรง สร้างความสงบสุข 3 จชต.นอกจากจะไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมแล้ว ความรุนแรงยังเกิดเป็นระยะ

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เริ่มจับความสัญญาณความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ตั้งแต่ช่วงเดือนรอมฎอน หลังพบข้อมูล มีการสะสมกำลังคน อาวุธ ระเบิด และทยอยต่อเหตุต่อเนื่องมาโดยตลอด

จนเป็นที่มาของการลอบวางระเบิด 17 จุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อค่ำวันที่ 16 ส.ค.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 17 ส.ค. โดยเป้าหมายมุ่งทำลายระบบเศรษฐกิจ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่เป็นร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 11 แห่ง มินิบิ๊กซี 4 แห่ง เสาส่งสัญญาณ 1 แห่ง ปั๊มน้ำมันบางจาก 1 แห่ง แต่ไม่ปรากฎผู้เสียชีวิต

“หน่วยงานความมั่นคง” สันนิษฐานว่า การก่อเหตุทั้ง 17 จุดเป็นฝีมือของคนกลุ่มเดียวกัน โดยใช้วิธีแต่งกายคล้ายผู้หญิงอำพรางตัวตน มีจักรยานยนต์เป็นพาหนะ แยกกันออกไปก่อเหตุ โดยใช้ทั้งระเบิดเพลิงขว้างเข้าไปในที่พื้นที่เป้าหมาย บางแห่งเป็นการวางระเบิดข้างในและกดระเบิด และที่รุนแรงสุด คือระเบิดแสวงเครื่องที่ปั๊มบางจาก ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุด

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดคล้อยหลังที่คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน บีอาร์เอ็น นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้มีการพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 5 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 2 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

ทั้งผู้แทน “ฝ่ายไทย-ผู้แทน -บีอาร์เอ็น” ได้ประเมินผลและพอใจกับการลดเหตุรุนแรง ในช่วงเดือนรอมฎอนเมื่อ เมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมาและเรียกว่า “รอมฎอนสันติสุข” หวังต่อยอดให้เป็นก้าวสำคัญขยายผลการยุติความรุนแรงในรูปแบบที่เข้มข้นอย่างเป็นระบบ และมีความยั่งยืน

การพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ “ฝ่ายไทย” ยังยื่นข้อเสนอกับ บีอาร์เอ็นลดความรุนแรงร่วมกันชั่วคราว และริเริ่มจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ตามกรอบและกลไกการปฎิบัติ ร่วมกันในรูปแบบที่ครอบคลุม ชัดเจน เพื่อให้เกิดขึ้นสันติสุข และสอดรับกับข้อเสนอคนไทยพุทธต้องการลดความรุนแรงช่วงเข้าพรรษา

ส่วนฝ่าย “บีอาร์เอ็น” ได้นำเสนอร่างเอกสารแนวคิดการยุติความรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเวที ปรึกษาหารือกับประชาชนมาให้พิจารณา ในแม้ร่างเอกสารยังมีข้อแตกต่าง ถ้อยคำ รายละเอียดอื่นๆ แต่ยังคงมีเป้าประสงค์ที่สอดคล้องกับ “ฝ่ายไทย” คือต่างมุ่งบรรลุลดความรุนแรงทุกรูปแบบ

หน้าฉาก เรียกได้ว่าการพูดคุยระหว่าง“ฝ่ายไทย-บีอาร์เอ็น” เมื่อ 2 ส.ค.2565 ชื่นมื่นอย่างไร้ที่ติ แต่หลังฉาก วันที่ 3 ส.ค. กลุ่มคนร้ายเริ่มออกปฏิบัติการลอบยิงชาวบ้านที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตค่าที่ ต่อด้วยวางระเบิดแหล่งท่องเที่ยว ยิงป่วนรถไฟ

ขณะที่ หน่วยงานความมั่นคงของไทย พบข้อมูลด้านการข่าว มีการสะสมกำลังคน อาวุธ ระเบิด เตรียมก่อเหตุครั้งใหญ่ พร้อมส่งกำลังตรึงสถานที่สำคัญ แหล่งชุมชน ตลาด ที่คาดว่าจะตกเป็นเป้าการโจมตี ควบคู่ไปกับจัดชุดเคลื่อนที่เร็วออกลาดตระเวณ 3 จชต. แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถระงับเหตุการณ์ดังกล่าวได้

โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า ยังไม่รู้สาเหตุ จนกว่าจะสอบสวนเสร็จ ซึ่งเราก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน 

ส่วนที่มองว่าการก่อเหตุเพื่อกดดันรัฐบาลหลังมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้น ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเดิมๆ อยู่แล้ว เป็นเหตุเดิมๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการก่อเหตุมากกว่า 17 จุด ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

“เจ้าหน้าที่ไม่มีจุดอ่อน เพราะคนที่ตั้งใจจะก่อเหตุ ก็ต้องหาจังหวะ และช่วงเวลาอยู่แล้ว ซึ่งทุกฝ่ายก็ทำดีอยู่แล้วในการช่วยกันป้องกัน เหตุการณ์ต่างๆ ถึงดีขึ้นเรื่อยๆ เหตุการณ์นี้ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บเล็กน้อยเพียงคนเดียว”

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูปฐมบทไฟใต้เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อ 4 ม.ค.2547 หลังเกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืน 413 กระบอกจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีทหารเสียชีวิต 4 นาย

จากนั้นเกิดเหตุรุนแรงรายวันต่อเนื่องตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ทั้งลอบยิง วางระเบิด เผาทำลายสถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจ 3 จชต. ในลักษณะการก่ออาชญากรรมรายวัน หรือที่เรียกว่า สถานการณ์ความไม่สงบ

แม้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อดับไฟใต้ แต่เหตุการณ์กลับทวีความรุนแรงเป็นระยะๆ จนเข้าสู่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เปิดโต๊ะโดยใช้ชื่อว่า "การพูดคุยสันติภาพ" ครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ.2556 ผ่านการลงนาม โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กับแกนนำบีอาร์เอ็น อุตตาซ ฮัสซัน ตอยิบ

โดยเงื่อนไขและข้อเสนอระหว่าง “ฝ่ายไทย-แกนนำบีอาร์เอ็น” ในขณะนั้นก็ไม่ต่างกับปัจจุบันนี้ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องยุติความรุนแรง เดินหน้าสร้างความสงบสุขให้ประชาชน 3 จชต. ในขณะเดียวที่การก่อเหตุรายวันก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

จนกระทั่งเข้าสู่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “กระบวนการพูดคุยสันติภาพ” เป็น “กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” นับจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไปแล้ว 3 คน คือ พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีต มทภ.4 และ ล่าสุด พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.

จะเห็นได้ว่า 9 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เหมือนเดินย่ำอยู่กับที่ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคนพูดคุย ซึ่งเป้าประสงค์หลักคือยุติความรุนแรง สร้างความสงบสุข 3 จชต.นอกจากจะไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมแล้ว ความรุนแรงยังเกิดเป็นระยะ

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า กระบวนการพูดคุยฯ ระหว่าง “ไทย-บีอาร์เอ็น” ทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจจะยุติปัญหาทั้งหมดบนโต๊ะเจรจา นำความสงบสุขมาสู่ 3 จชต. หรือทำได้เพียงแค่สร้างภาพ ประคองสถานการณ์ สับขาหลอกไปวันๆ