ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

“การตั้งงบประมาณในยุคนี้ จะนำเอาแนวคิดแบบ Zero Based มาใช้ เพราะที่ผ่านมาเวลาตั้งงบ ภาครัฐมักไม่คิดถึงฝั่งรายได้ มักคิดถึงแต่ฝั่งรายจ่าย แต่สิ่งที่จะเริ่มในปีงบ 2567 จะตั้งงบแบบสมดุล รายได้ กทม.มีเท่าไหร่ จะตั้งรายจ่ายได้เท่านั้น ”

เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่พลังในการขับเคลื่อน 216 นโยบาย ยังแรงดี ไม่มีตก ซึ่งรวมถึง “ทีมชัชชาติ” ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ที่ร่วมมือกัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน   

หนึ่งใน “คีย์แมน” คนสำคัญที่ทำงานเคียงข้าง คิดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งด้านสังคม ด้านบริหารจัดการงบประมาณ และด้านเศรษฐกิจ จนส่งผลออกมาเป็น “นโยบาย 216 ข้อ” คือ “ดร.ยุ้ยเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณของผู้ว่าฯ กทม. โดยสวมหมวกอีกใบคือ กรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 ในบริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย

“ดร.ยุ้ย” หรือ “อาจารย์ยุ้ย” เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาเดียวกับ “ชัชชาติ” เป็นอาจารย์สอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  

นอกจากนี้ “ชัชชาติ” ยังถือว่าเคยเป็น “ลูกศิษย์” ของ “อาจารย์ยุ้ย” เนื่องจากเคยเรียนปริญญาโท หลักสูตรการบริหารธุรกิจ (MBA) ที่มี “อาจารย์ยุ้ย” เป็นผู้สอน ทำให้ “อาจารย์ยุ้ย” และ “ชัชชาติ” รู้จักกันในช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่ง “ชัชชาติ” เปิดตัวเตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จึงชักชวนมาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านนโยบาย ก่อนที่จะก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ฯ ในทุกวันนี้

ปัจจุบันแผนงานด้านนโยบาย และการบริหารงบประมาณของ กทม. ล้วนผ่านการกลั่นกรองและความคิดเห็นของเธอผู้นี้

“ดร.ยุ้ย เกษรา” เปิดห้องรับแขก ชั้นบนสุดอาคารธัญลักษณ์ภาคย์ ริมถนนรัชดาภิเษก ที่ตั้งของ “เสนาดีเวลลอปเมนท์” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการบริหารจัดการงบประมาณต่าง ๆ ของ กทม.ในยุค “ชัชชาติ” ทำได้มากน้อยแค่ไหน นโยบาย 216 ข้อจะทำได้จริงหรือไม่ 

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

  • ปี 67 ตั้งงบ“สมดุล” แนวคิด“Zero Based”

“ดร.ยุ้ย” เล่าถึงที่มาที่ไปในการจัดสรรงบประมาณของ กทม. โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2567 ที่ทีมงาน “ชัชชาติ” จะได้ “จัดสรรเอง” ว่า ปัจจุบันงบประมาณประจำปี 2566 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ซึ่งเป็นงบประมาณที่จัดสรรไว้แล้ว ดังนั้นในงบประมาณปี 2567 ซึ่งในยุคเราจัดสรรเองนั้น จะเริ่มต้นวางกรอบการทำงานตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2565 เป็นต้นไป

“ดร.ยุ้ย” เล่าว่า การตั้งงบประมาณในยุคนี้ นำเอาแนวคิดแบบ “Zero Based” หรือแนวคิด “เริ่มจากศูนย์” มาใช้ เพราะที่ผ่านมาเวลาตั้งงบประมาณ ภาครัฐมักไม่คิดถึงฝั่งรายได้ มักคิดถึงแต่ฝั่งรายจ่าย ว่าจะใช้อะไรเพื่อประชาชนบ้างในแต่ละปี ซึ่งถูกต้อง แต่สิ่งที่จะเริ่มในปีงประมาณ 2567 คือจะดำเนินการตั้งงบแบบ “สมดุล” เรียกได้ว่า รายได้ กทม.มีเท่าไหร่ จะตั้งรายจ่ายได้เท่านั้น เช่นถ้าปี 2567 คาดว่ารายได้ กทม.มี 8.7 หมื่นล้านบาท รายจ่ายก็ต้อง 8.7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

สำหรับรายได้ของ กทม.ส่วนใหญ่มาจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถ้าเราเก็บรายได้ส่วนนี้มากขึ้น จะมีเงินใช้จ่ายเพื่อประชาชนได้มากขึ้น ดังนั้นก่อนคิดว่าจะใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องคิดก่อนว่าทำอย่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีงบประมาณใช้กับคนได้มากขึ้น

“ดร.ยุ้ย” อธิบายว่า มีงบประมาณอยู่ 1 ส่วนที่เราแตะต้องไม่ได้คือ “งบบุคลากร” เพราะเกี่ยวกับเงินเดือน และสวัสดิการของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และลูกจ้างใน กทม.ทั้งหมด ดังนั้นจะเหลืองบอีก 2 ส่วนคือ “งบผูกพัน” ที่ผูกพันมาจากโครงการในยุคก่อน ๆ และ “งบที่เหลือ” คืองบประมาณที่เหลือจาก 2 ก้อนดังกล่าว คืองบที่จะนำมาใช้ตามนโยบายของเรา

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

เราเพิ่มรายได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีรายจ่ายช่วยเหลือประชาชนได้มากเท่านั้น ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนความคิดว่า จะทำรายได้ให้เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่บริหารรายจ่ายเพื่อประชาชนเท่าที่มีเหมือนเดิม การเพิ่มรายได้สำคัญที่สุด ทำให้เรามีส่วนช่วยประชาชนได้เยอะที่สุด โจทย์งบประมาณสำหรับยุ้ย เริ่มตรงนี้ก่อน ถ้าเยอะขึ้นแล้ว แสดงว่าเรามีเยอะขึ้น” ดร.ยุ้ย กล่าว

เธอมองว่า การจัดงบประมาณแบบ “Zero Besed” เป็นการตั้งงบประมาณเพื่ออนาคต เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องคิดให้มากกว่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมือง อาจมีบางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่เราไม่เคยต้องจ่าย อาจต้องจ่าย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. (ชัชชาติ) จึงดำริว่า ในงบประมาณปี 2567 อยากใช้จ่ายแบบไหน ต้องดูว่ามีรายได้เท่าไหร่ด้วย เป็นต้น โดยแนวคิดนี้พยายามนำไปใช้กับทุกหน่วยงานใน กทม.

  • ปรับปรุงระบบภาษีเดิมให้มีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิธีการเพิ่มรายได้ของ กทม.จะทำอย่างไร “ดร.ยุ้ย” อธิบายว่า รายได้ส่วนใหญ่ของ กทม.มาจากการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีอสังหาริมทรัพย์ แนวคิดคือทำอย่างไรไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระภาษีแก่ชาว กทม. เพราะโจทย์ของเราคือ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ระบบเศรษฐกิจดี แต่การสร้างภาษีใหม่ ๆ ขึ้นมาอาจเป็นภาระกับประชาชน ดังนั้นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การจัดเก็บภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย ค่อนข้างจุกจิก เช่น การเก็บภาษีป้าย ใน กทม.เยอะมาก บางครั้งเราเก็บเงินไม่ทัน สำหรับยุ้ยคิดว่า แทนที่จะสร้างภาษีอีกแบบหนึ่ง ให้คน ๆ เดียวกันต้องจ่ายเพิ่ม เราควรพัฒนาการจัดเก็บให้ดียิ่งขึ้นก่อน ทุกคนควรเสียให้เท่ากัน แต่ที่ผ่านมาบางคนจ่าย บางคนไม่ได้จ่าย” ดร.ยุ้ย กล่าว

  • ต้องใช้เงินภาษีประชาชนอย่างรอบคอบ

ในส่วนของงบประมาณการลงทุนของ กทม.หลังจากนี้ จะให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง “ดร.ยุ้ย” ออกตัวก่อนว่า อาจตอบไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารในการจัดการงบประมาณตามนโยบาย แต่ในมุมของตนคือการจัดการ “งบกายภาพ” ที่สำคัญ เช่น งบสำนักการระบายน้ำ ทำไมถึงได้มากที่สุด ส่วนงบสำนักการศึกษาทำไมถึงอยู่ลำดับ 8 บางคนอาจคิดแบบนี้ แต่ความจริงพอไปดูสำนักการระบายน้ำ มีส่วนที่ต้องใช้เยอะจริง ๆ ยกตัวอย่างหากเกิดกรณีน้ำท่วม เป็นอำนาจหน้าที่สำนักการระบายน้ำที่ต้องจัดการ เป็นต้น

สิ่งที่เราอยากทำให้มากขึ้นคือ อย่างน้อยอยากมีงบประมาณในการช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ เมืองต้องเศรษฐกิจดี ให้คนฐานรากมีกิน ขณะเดียวกัน ถ้าในเรื่องรอง ๆ มา อาจเป็นเรื่องน้ำท่วม ฝุ่น กระทบทุกคน สิ่งที่เราต้องกระจายงบไปใช้คือเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ กระทบคนเยอะ ๆ คิดว่าเราคงต้องกระจายงบไปกับสิ่งสำคัญเร่งด่วน และอะไรที่เราอยากทำ เพื่อช่วยทำให้ เช่น ที่อยู่อาศัยเพื่อคนรายได้น้อย เราตั้งใจพยายามให้เกิด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีมาก่อนหน้านี้เท่าไหร่นัก หากให้มีตอนนี้ ต้องคิดถึงเรื่องงบประมาณ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญ แต่อาจเกิดเรื่องไม่คาดฝัน เช่น เรื่องโควิด-19 ดังนั้นการตั้งงบ ก็ต้องตั้งกับงบที่ต้องทำก่อน เพราะการตั้งงบประมาณที่ดี คือทำรายได้ให้เยอะสุด เพื่อให้ตัวเองมีงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อประชาชน” ดร.ยุ้ย กล่าว

ส่วนงบบางโครงการที่ผ่านมา ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลว แต่ยังคงมีงบผูกพันในปีต่อ ๆ ไป เช่น โครงการคลองช่องนนทรีนั้น “ดร.ยุ้ย” เล่าว่า เรื่องงบประมาณทั้งหมดท่านผู้ว่าฯชัชชาติ ต้องดูก่อนอยู่แล้ว ดูงบประมาณภาพรวมทั้งหมด เพราะการใช้เงินของประชาชน เป็นความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง แต่ถามว่าจะทำอย่างไรต่อหรือไม่ ตนไม่อยู่ในฐานะตอบได้ แต่งบประมาณทุกอย่างที่เราใช้ เรารู้ว่ากำลังเก็บจากประชาชน ดังนั้นต้องใช้ให้ได้รอบคอบที่สุด คุ้มค่าที่สุด และโปร่งใสที่สุด โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการใช้งบประมาณด้วย เช่น การขึ้นงบประมาณโชว์ให้ประชาชนรู้ว่า กทม.จะเอาไปใช้อะไรบ้าง ถือเป็นปีแรกที่ทำ

เมืองที่ดี คนต้องร่วมกัน สังคมที่ดี รัฐทำคนเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องทำร่วมกัน ดังนั้นการเปิดทุกอย่างแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความโปร่งใสเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการชวนทุกคนมองร่วมกัน” ดร.ยุ้ย กล่าว

  • นโยบายเศรษฐกิจแก้เหลื่อมล้ำสำคัญสุด​

มาถึงไฮไลต์สำคัญคือ “นโยบายเศรษฐกิจ” ของ กทม. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการ “ดร.ยุ้ย” เล่าว่า ที่ผ่านมาปกติตอนหาเสียงเลือกตั้งองค์กรท้องถิ่น มักไม่ค่อยได้ยินการหาเสียงเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่หลายคนมองเป็นเรื่องของการเมืองภาพใหญ่ เนื่องจากมีเครื่องไม้เครื่องมือดำเนินการครบกว่า แต่ กทม.หากให้เปรียบเทียบคงเป็นแค่ “เจ้าของสถานที่” แต่หลายคนอาจลืมไปว่า แม้สถานที่จะกว้างใหญ่ แต่หากข้างในไม่สวยงาม ก็ไม่มีใครอยากเข้ามา

ปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจ กทม.ของผู้ว่าฯชัชชาติ แบ่งเป็นเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

1.การแก้ไขเชิงภาพรวม เช่น การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในส่วนของกรุงเทพมหานคร หรือ กรอ.กทม. เลียนแบบ กรอ.ของการเมืองภาพใหญ่ มีไว้เพื่อรับฟังปัญหาจากเอกชนว่า มีไอเดียหรือเรื่องอะไรอยากให้ภาครัฐจัดการแก้ไขบ้าง โดยมีกลุ่มเอกชนที่มาร่วมทั้งสมาคมอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น มาหารือกัน โดย กทม.ในฐานะ “เจ้าของสถานที่” สามารถทำอะไรให้ได้บ้าง

2.ดำเนินการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการสร้าง Eco System และระบบ Supply Chain ก่อน เพราะการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไม่ใช่หมายถึงเรามีแค่บริษัทใหญ่เดียวอย่างเดียว นี่เป็นหนึ่งในวาระด้านเศรษฐกิจของเรา โดยย่อยลงมาในการแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ให้ได้เสียก่อน เพราะปัญหาขณะนี้คือ กทม.เป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ตามการจัดอันดับของหลายหน่วยงาน

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะสั้น เช่น การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย พยายามช่วยให้คนในชุมชนมีที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าคนกับแหล่งเงินทุนเข้าถึงกันง่ายขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะไปเป็นได้ง่ายขึ้น นี่คือการช่วยมหาศาล

ระยะยาว พูดตามทฤษฎี ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมกัน และต้องมีคุณภาพ ต้องยอมรับว่าใน กทม.หากพูดอย่างโลกไม่สวย เราไม่ค่อยเห็นคนมีทางเลือกไปเรียน ร.ร.กทม. เพราะเขาไม่เชื่ออะไรเลยในโรงเรียนไทย ขณะที่เด็กเรียน ร.ร.กทม. ก็ยังเหมือนเดิม ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ให้เด็กที่มาเรียนเจริญก้าวหน้า นี่เป็นเรื่องหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ

“ความเหลื่อมล้ำมักเกิดในระบบทุนนิยม แต่สิ่งที่เมืองอย่างเราอยากจะช่วย บางคนวิ่งเร็วกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า นั่นคือระบบทุนนิยม แต่เราไม่ควรให้ทุกคนมีจุดเริ่มต้นต่างกัน จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีจุดสตาร์ทพร้อมกัน เมืองไทย โดยเฉพาะ กทม. มีลักษณะแบบนี้สูง การแก้ความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ที่ยาวนาน และยาก ไม่คิดว่าเสร็จได้ภายใน 3-4 ปี แต่ว่าเราควรเริ่ม” ดร.ยุ้ย กล่าว

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

  • 216 นโยบายไม่แค่เช็คลิสต์ ใช้เวลาขับเคลื่อน

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสนใจคือนโยบาย 216 ข้อของ “ชัชชาติ” ถูกหลายคนคาดหวังว่า จะทำได้จริงหรือไม่ และจะสำเร็จเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ ในวาระ 4 ปีนี้ หรือไม่ “ดร.ยุ้ย” เล่าว่า ในฐานะทำเรื่องยุทธศาสตร์ ต้องบอกว่าท่านผู้ว่าฯ กทม. (ชัชชาติ) และรองผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คน เหนื่อยมากกับเรื่องดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ เพราะพวกเราไม่ใช่ทำแบบ “เช็คลิสต์” คือ สั่งการไป เมื่อได้แล้วก็ติ๊กว่าทำแล้วจบ ไม่ใช่แบบนี้ แต่สิ่งที่ควรเกิดหรือประสบผลสำเร็จคือ คนที่ได้ประโยชน์นั้น ได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้จริงหรือไม่ด้วย แต่บางเรื่องยากกว่านั้นอีกคือ การทำให้ กทม.เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างมาก หรือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากคือทำอย่างไรถึงจะ Identify ได้ว่า ใครเป็น “คนจน” จริง ๆ เป็นต้น

“บางเรื่องดูเหมือนว่าเสร็จได้เร็วกว่านี้ แต่เราไม่ควรเป็นเช็คลิสต์ เราต้องรอบคอบว่า นี่มันชีวิตคน ไม่ใช่กระดาษ บางคนอาจดูไม่ทันใจ หลายคนอาจรู้สึกว่า ไม่เห็นได้เคลื่อนตัวสักที แต่เราอยู่ในจุด Indentify อยู่เลยว่า จะหา Database ดี ๆ อย่างไร เพราะเราไม่อยากให้เป็นเช็คลิสต์” ดร.ยุ้ย กล่าว

  • ยังไม่เจอแรงเสียดทานฝ่ายบริหาร-สภากทม.

ถัดมา “ดร.ยุ้ย” ตอบคำถามถึงการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารของ กทม.กับสภา กทม.ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ การทำงานร่วมกันเหล่านี้เจอแรงกดดัน หรือแรงเสียดทานทางการเมืองบ้างหรือไม่ ว่า อาจไม่ได้อยู่ในจุดตอบได้ดี แต่เท่าเห็นและรู้สึกก็ไม่ เราคุยกันอย่างเข้าใจ เท่าที่ผ่านมายังไม่ได้รู้สึกว่ามีความกดดันในแง่นั้น มีการพูดคุยว่าแต่ละเรื่องคืออะไร ยอมรับเรื่องหนึ่งว่า งบประมาณหลายอย่างเราไม่ได้เป็นคนเริ่ม เราไม่เคยทำการเมืองหรือภาครัฐมาก่อน แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง อย่างงบประมาณที่ตั้งไว้ ต้องผ่านสภา กทม. นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่สภา กทม.ยุคนี้ เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ แอ็คทีฟ ชอบความโปร่งใส จึงยังไม่เห็นแรงเสียดทานอะไรในประเด็นเหล่านี้

ผ่าแผนบริหาร “งบปี 67” กทม. ตั้งงบสมดุลฉบับ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

  • “บิ๊กบอสเสนาฯ” ลั่นไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน​

สุดท้าย “ดร.ยุ้ย” นอกเหนือจากเป็นประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ยังสวมหมวกอีกใบเป็น “กรรมการผู้จัดการ-ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2” ใน “เครือเสนาฯ” ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของไทยด้วย เจอแรงเสียดทานจากสังคม หรือครอบครัวบ้างหรือไม่ ในการเข้ามาทำงานการเมือง

“ดร.ยุ้ย” ยอมรับว่าถ้าย้อนกลับไปตอนที่นายชัชชาติ ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีข่าวลือกระแสข่าวเพียบเลยว่าจะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. (หัวเราะ) เพราะเราเดินหาเสียงด้วยกัน ทำงานด้วยกัน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราก็แถลงปฏิเสธไม่รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เพราะรู้ดีว่าไม่สามารถไปรับตำแหน่งได้ เนื่องจากมีธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบกับครอบครัว กับผู้ถือหุ้น กับพาร์ทเนอร์ทั้งไทย และต่างประเทศมากมายแต่สิ่งที่ทำได้ดีสุด คือไม่ปิดบังอะไรเลย อย่างพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ บอกเขาตั้งแต่วันที่เราลงไปเดินหาเสียงช่วงแรก ๆ เลยว่า ไปเดินหาเสียงอยู่ ทำสิ่งนี้เพื่อสิ่งนี้ แต่ไม่ได้ไปบริหาร ที่ทำคืออยากเปลี่ยนจากการให้ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะถือเป็นโอกาสยาก ที่จะได้ทำงานกับคนแน่วแน่ตั้งใจทำเพื่อชาติ ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนไม่รู้ก็บอกทุกคน และไม่ได้ปิดบังอะไร เพราะยิ่งปิด ยิ่งแปลก

“ตอนนี้ก็ทำเหมือนกัน อยู่บริษัทก็บอกทุกคนว่าทำตรงนั้น เพราะอย่างนั้น อยากทำอะไร โปร่งใสที่สุด ไม่งั้นน้อง ๆ Staff ก็ใจแป้วว่า CEO วัน ๆ ทำอะไร โบนัสจะมีหรือไม่ บริษัทจะอยู่ดีหรือไม่ ก็ต้องอธิบายทุกอย่างว่า ทำอะไรอยู่ คิดอะไร อยากทำเพราะอะไร ที่ กทม. พูดชัด ๆ เลยว่า เสนาฯ จะเสียภาษีที่ดินครบทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เราจะไม่เสีย นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดนะ ถามว่า เป็นวิธีที่ดีสุดสำหรับทุกคนคิดหรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยสำหรับยุ้ยเองเป็นวิธีที่ดีสุดคือ ไม่ได้ปิดบังว่าทำแบบนี้อยู่ มีหน้าที่ทำทั้ง 2 อย่างที่อยากทำ และจะทำให้ดีที่สุด โชคดีไม่มีผู้ถือหุ้นเสนาฯว่าอะไร มีพ่อด่าบ้าง (หัวเราะ)” ดร.ยุ้ย กล่าว

หมายเหตุ: ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์