"สมชาย" แนะ"รัฐสภา" ถกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ให้ถึงวาระสาม เพื่อรักษาเกียรติ

"สมชาย" แนะ"รัฐสภา" ถกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ให้ถึงวาระสาม เพื่อรักษาเกียรติ

"สมชาย" ชี้ ถกร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ให้ถึงวาระสาม เป็นทางออกรักษาเกียรติของรัฐสภา ประเมินไทม์ไลน์ร่างกม.ลูก ทันใช้ก่อน สภาหมดสมัย-ทันเลือกตั้งครั้งหน้า

         นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางแก้ปัญหาการล่มประชุมรัฐสภา วันที่ 15 สิงหาคม นี้  โดยระบุว่า แนวทางที่ 1 พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ผ่านวาระสาม ตามเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย จากนั้นจะมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ใน15วัน, กกต. อาจมีความเห็นกลับ ภายใน 10วัน, รัฐสภาอาจมีมติแก้ไขหรือมีมติไม่แก้ไขก็ได้ 

 

             "เมื่อประธานรัฐสภาส่งร่างพ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกฯเพื่อโปรดเกล้าฯ  ฝ่ายที่เห็นต่างจากสูตร100หรือสูตร500 ย่อมสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้   ซึ่งศาลจะรับไว้วินิจฉัยอาจใช้เวลาประมาณ45-60วัน   ถ้าผลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ   รัฐสภาต้องนำร่าง พ.ร.ป.แก้ไขปรับปรุงอีกครั้งก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ  สรุปรวมเวลาทั้งหมดตามแนวทางนี้จะเสร็จทันก่อนครบวาระ 4ปี ของสภาผู้แทนราษฎร และย่อมทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน" นายสมชาย ระบุ

        นายสมชาย ระบุด้วยว่าแนวทางที่2 คือ โหวตวาระ3  แต่เสียงโหวตเห็นชอบ มีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่ปัจจุบันมีอยู่ 727คนหรือต้องมากเกิน364 คะแนน ซึ่งยากมากที่จะผ่าน  หากร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งตกไป สามารถเร่งเสนอใหม่ในวาระแรกก่อนปิดสมัยประชุม 18 กันยายน และให้กมธ. พิจารณาให้เสร็จและบรรจุเข้าวาระในสมัยประชุมถัดไปวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยเชื่อว่าจะสามารถผ่านกฎหมายนี้ก่อนหมดวาระของสภา ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 

 

            "หรือกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร100 ควรเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 มาตรา94 ที่ยังคงค้างอยู่ในเรื่องการคำนวณส.ส.พึงมีไวให้เสร็จสิ้นกระแสความไปในคราวเดียวกันสรุปได้ว่า รวมเวลาทั้งหมดตามแนวทางนี้ ย่อมแล้วเสร็จทันก่อนครบวาระ 4ปี ของสภาผู้แทนราษฎร และทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน" นายสมชาย ระบุ

          นายสมชัย กล่าวด้วยว่าหากเกิดกรณียุบสภาก่อนที่จะมีพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับ สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ด้วยกระบวนการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. แม้บางส่วนจะอ้างว่าเป็นความต่างในศักดิ์ชั้นของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกับศักดิ์ชั้นของพระราชบัญญัติ ย่อมไม่ใช่ปัญหา เพราะต่างเป็นกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งทั้งคู่

 

            "ที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างที่ตรวจสอบพบว่า เคยปฏิบัติตามประเพณีกฎหมาย ออกพระราชกำหนดเลือกตั้งอย่างน้อยรวม 3 ครั้ง คือ   ปี 2526 ปี 2529 และ ปี 2538  ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เกียรติยศย่อมเกิดจากการกระทำที่สุจริต ด้วยความเคารพในความเห็นต่างและการทำหน้าที่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีแห่งสมาชิกรัฐสภา" นายสมชาย ระบุ.