"ไพบูลย์" เตรียม ยื่นตีความ ปาร์ตี้ลิสต์ หาร500 เชื่อ "กกต." ยืนตามเดิม หาร100

"ไพบูลย์" เตรียม ยื่นตีความ ปาร์ตี้ลิสต์ หาร500 เชื่อ "กกต." ยืนตามเดิม หาร100

“ไพบูลย์” เปิดไทม์ไลน์ ประชุมร่วม พิจารณา "ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง" 26 ก.ค. นี้ จบวาระ3 ก่อนชง "กกต." เชื่อ ยืนสูตร ปาร์ตี้ลิสต์ หาร100 "รัฐสภา" จะเปลี่ยนตาม ระบุ หาร500 ไม่สอดคล้อง รธน. เตรียมเอกสารยื่นร้อง ศาล ตีความแล้ว 1พันหน้า

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกาารเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งจะพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต่อเนื่อง ว่า เหลือมาตราที่ต้องพิจารณาในวาระสอง อีก10 มาตรา เริ่มตั้งแต่มาตรา 25 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จและลงมติวาระสามได้ภายในวันดังกล่าวและเชื่อว่าเสียงของที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเห็นชอบกับเนื้อหา 

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าขั้นตอนต่อไป ประธานรัฐสภาต้องส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็นต่อเนื้อหาว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือมีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งกกต.ต้องทำความเห็นส่งให้สภา ภายใน 10 วัน เบื้องต้นเชื่อว่า กกต. จะพิจารณาในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ และยืนยันหลักการที่เสนอไว้ตั้งแต่แรกที่ทำเนื้อหาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นเนื้อหาที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากเห็นชอบด้วย

“เมื่อกกต.ยืนยันเนื้อหา รัฐสภามีหน้าที่ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันว่าจะแก้ไขตามสิ่งที่กกต.ให้ความเห็น  หรือยืนยันสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ยโดยใช้เสียงข้างมาก โดยผมเชื่อว่ารัฐสภาจะเปลี่ยนตามที่กกต. เสนอความเห็น เพราะเป็นมิติทางกฎหมาย จากนั้นรัฐสภาส่งเนื้อหาไปยังนายกฯ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้อง นายกฯ มีเวลารอไว้ 5 วันก่อนทูลเกล้าฯร่างพ.ร.ป. โดยช่วงเวลาดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นร่างส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดสูตรคำนวณ ส.ส.ตามพ.ร.ป. นั้น ต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข โดยเฉพาะประเด็นคำว่าสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง ซึ่งแปลความถึงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้นในมิติทางกฎหมายจะแปลงไปเป็นจำนวน 500 คน ซึ่งหมายถึงส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ ไม่ได้ อย่างไรก็ดีในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนได้เตรียมดำเนินการไว้แล้ว เบื้องต้นจะมีเอกสารประกอบคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญประมาณ 1,000 หน้า

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง หากเป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา โดยไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จะประกาศใช้เมื่อใด นายไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐสภาโหวตวาระสามแล้วแล้วเสร็จในวันที่ 26 กรกฎาคม จากนั้นส่งให้ กกต. ดำเนินการ คาดว่าจะเป็นต้นเดือนสิงหาคม และหากไม่มีประเด็นปัญหาที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามคำร้อง คาดว่าร่างพ.ร.ป.จะประกาศใช้ได้ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565