"วิษณุ" ชี้ "รมต." เป้าซักฟอก ถ้าได้เสียงไม่ไว้วางใจ ถึง 239 ตกเก้าอี้

"วิษณุ" ชี้ "รมต." เป้าซักฟอก ถ้าได้เสียงไม่ไว้วางใจ ถึง 239 ตกเก้าอี้

"วิษณุ" เผย เล่าความหลัง ให้รมต.ฟัง อภิปรายฯ แต่ละยุค เป็นอย่างไร ชี้ รอบนี้ ฝ่ายค้าน จัดคิวเชือด เป็นระเบียบ รับ ห่วงบริหารจัดการเวลา ฝ่ายรัฐบาล ระบุ ใครได้ เสียงไม่ไว้วางใจ ถึง 239 ตกเก้าอี้ แจง แม้ "นายกฯ" รั้งบ๊วย ไร้ปัญหาทางกฎหมาย ทางการเมืองไม่มีมารยามเรื่องนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนมาร่วมพูดคุยขอคำปรึกษาก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เป็นการพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่มีใครขอคำปรึกษาด้านกฎหมายจากตน เพียงแต่ตนได้เล่าถึงสมัยอดีตในยุคที่นายกรัฐมนตรีหลายคน เช่น นายกฯชวน นายกฯบรรหาร นายกฯชวลิต นายกฯทักษิณ ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง และเป็นอย่างไรในการอภิปรายในสมัยนั้น เล่าให้ฟังสนุกๆ เพราะรัฐมนตรีหลายคนไม่ได้อยู่ในรัฐบาลยุคนั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นนี้ก็เป็นธรรมดา ไม่ได้หนักเบาไปกว่ากัน แต่รอบนี้ผู้ถูกอภิปราย 11 คน ถือว่าเยอะ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง ครม. ก็เคยมีมาแล้ว ตนไม่ได้เจตนาที่จะหวังผลปลุกใจก่อนวันอภิปรายตามที่ถูกวิจารณ์ แต่เป็นคนที่อยากจะเล่าให้รัฐมนตรีฟังถึงเรื่องในอดีต ไม่ใช่ว่ามีใครหวั่นไหวอะไร ซึ่งหากจะเป็นห่วงก็คืออภิปราย 11 คน ในเวลาเพียง 4 วัน อาจจะตอบได้คนละนิด จึงเกรงในเรื่องการบริหารเวลาทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่อาจจะยากหน่อย

เมื่อถามว่า การวางคิว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นคนสุดท้าย ถือเป็นเทคนิค หรือนัยยะของฝ่ายค้านหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ วิปทั้งสองฝ่ายตกลงกันอย่างไรตนไม่ทราบ แต่ถ้าจะลำดับเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด  เพราะหากตนเป็นฝ่ายค้านก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน 

ทั้งนี้ ผู้อภิปราย 1 คนสามารถอภิปรายรัฐมนตรีหลายคนได้ ซึ่งฝ่ายค้านแบ่งเอาไว้เป็นสูตร 2 : 3 : 3 : 3 คือเริ่มที่

- พรรคภูมิใจไทย 

  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล 
  • นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ 

- พรรคประชาธิปัตย์

  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 
  • นายจุติ ไกรฤกษ์ 
  • นายนิพนธ์ บุญญามณี 

- พรรคพลังประชารัฐ 

  • นายสันติ พร้อมพัฒน์ 
  • นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 
  • นายสุชาติ ชมกลิ่น 
  • ส่วนวันสุดท้ายคือ 3 ป. 

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐบาลไม่ได้มีการจัดระเบียบอะไร แต่เตรียมไว้ให้รัฐมนตรีแต่ละคนตอบประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนนายกฯตอบ 5 ชั่วโมง แต่ถ้ารัฐมนตรีจะตอบมากกว่านั้น ก็ไปตอบหลังเที่ยงคืน หรือไปตอบนอกสภา ดังนั้นสิ่งที่น่าห่วงคือการบริหารเวลา

ส่วนกรณีเสียงปริ่มน้ำ น่าห่วงหรืออย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เห็นว่ามีใครห่วง ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง คือคะแนน 238 ครึ่ง ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีได้ 239 ตามที่โหวตไม่ไว้วางใจ ถือว่ารัฐมนตรีคนนั้นสอบตก ส่วนคะแนนเสียงไว้วางใจจะมีเท่าไรนั้น ในทางกฎหมายไม่เป็นสาระสำคัญเช่น อาจจะงดออกเสียงเป็นร้อยเลยก็ได้ แต่ในความรู้สึกของสื่อและประชาชนจะไปจับตาดูว่าคะแนนไว้วางใจมีเท่าไรแล้วเอามาเปรียบเทียบ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 151 ไม่ได้ให้เทียบเช่นนั้น โดยรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่

“วันนี้สภามี 477 เสียง ดังนั้น ก็ต้องคอยดูว่าคะแนนที่จะได้แต่ละคนเป็นอย่างไร ส่วนใครจะได้เท่าไรถือเป็นเทคนิคฝ่ายการเมือง ผมไม่ทราบว่าใครมีคะแนนอยู่เท่าไหร่ ตอนนี้เราก็รู้อยู่ว่าฝ่ายค้าน 206-207 เสียง และบางคนยังบอกว่ามีฝากเลี้ยง มีงูเห่า แต่สำหรับผมไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งตัวเลข 239 ถือเป็นตัวเลขหลักที่อยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชน ที่จะต้องดูที่ 239 เสียง”

เมื่อถามว่า คะแนนของรัฐมนตรีแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเท่ากันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรผิดบาป เพียงแต่ทำให้รู้สึกเสียเครดิต เสียรังวัดไปนิดหน่อยว่าคนนั้นได้รับความไว้วางใจมากกว่าคนนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นต้องถือสา อภิปรายกันมา 3 ครั้งแล้วในรัฐบาลนี้ และคะแนนเสียงไว้วางใจก็ไม่ได้เท่ากัน

เมื่อถามว่า มีการเรียกร้องว่าหากใครได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูง จะต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า โดยมารยาทไม่มีปัญหา 

เมื่อถามย้ำว่า หากคนนั้นคือนายกฯ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองก็ไม่เคยมีมารยาทอะไรในเรื่องนี้ ผ่านไป 7 วันก็ลืมกันแล้ว ถ้าใครได้ไม่ถึง 239 ก็อยู่ไป

เมื่อถามว่า นายกฯ เครียดกับการเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้สื่อก็ไปถามนายกฯ ดูสิ และเดี๋ยววันที่ 23 กรกฎาคม ช่วงเช้าก็รู้ว่าใครได้คะแนนอย่างไร เเละถ้ามีรัฐมนตรีที่ไม่ถูกยื่นอภิปราย แต่ถูกพาดพิงก็สามารถลุกขึ้นชี้แจงได้ จะปล่อยให้ถูกด่าฟรีได้อย่างไร เช่น ถ้าอยู่ดีๆ อภิปรายเรื่องพลังงานโดยไปซ่อนอยู่ในการอภิปรายนายกฯ ทางนายกฯก็มอบ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบแทนได้