17 ก.ค. “กลุ่ม 16” ถก “บิ๊กป้อม” ก่อนตัดสินใจอยู่ข้างรัฐบาลหรือซบ “ธรรมนัส”

17 ก.ค. “กลุ่ม 16” ถก “บิ๊กป้อม” ก่อนตัดสินใจอยู่ข้างรัฐบาลหรือซบ “ธรรมนัส”

17 ก.ค. “กลุ่ม 16” นัดพบ “บิ๊กป้อม” ที่ป่ารอยต่อฯ ยันรับฟังอย่างเดียวไม่เสนอแนะ ก่อนกลับมาหารือทิศทางการเมืองว่าจะร่วมรัฐบาล หรือย้ายไปร่วม “ธรรมนัส” เผยวันซักฟอกโหวตทิศทางเดียวกันทั้งคณะ

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2565 นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ในฐานะเลขานุการ กลุ่ม 16 กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นัดพบ กลุ่ม 16 ว่า วันที่ 17 ก.ค. 2565 พล.อ.ประวิตร มีการนัดพบกันที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยกลุ่ม 16 จะไปทุกคน เพื่อไปรับฟังท่าทีทิศทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร จะไปในทิศทางใด โดยกลุ่ม 16 จะไปรับฟังอย่างเดียว จะไม่มีการเสนอแนะอะไรทั้งสิ้น เมื่อรับทราบข้อมูลแล้ว จะมีการประชุมหารือกันในกลุ่มจนตกผลึก เพื่อกำหนดทิศทางการเมืองของกลุ่มต่อไป

นายคฑาเทพ กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่าวันที่ 18 ก.ค. 2565 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย นัดพบกับกลุ่ม 16 นั้น ยังไม่ได้รับการประสานมา เห็นแต่ในข่าวตามสื่อมวลชน และกลุ่ม 16 ก็ยังไม่มีมติว่าจะไปตามนัดหรือไม่ ต้องรอผลการนัดพบกับ พล.อ.ประวิตร ก่อนว่าจะมีท่าทีออกมาอย่างไร รวมถึงรอผลสรุปจากการประชุมหารือของกลุ่ม ส.ส. 16 เสียก่อน โดยเมื่อมติออกมาแล้ว ก็จะกำหนดทิศทางของกลุ่ม 16 ได้ว่า จะไปร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส หรือ ทำงานร่วมกับรัฐบาลจนครบวาระ

นายคฑาเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และพ่วงอีก 10 รัฐมนตรีนั้น จะต้องติดตามข้อมูลรายละเอียดของฝ่ายค้านอย่างใกล้ชิด จนวันสุดท้าย จากนั้นกลุ่ม 16 จะนำข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้าน ทั้ง 4 วัน มาประมวลพิจารณาจนตกผลึก เป็นมติของ กลุ่ม 16 ซึ่งจะโหวตตามมติของ กลุ่ม 16 ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

"กลุ่ม 16 มีเสียงอยู่ 16 บวก 2 รวม 18 เสียง หมายความว่า กลุ่ม 16 ลงมติ ก่อนวันที่ 23 ก.ค. 2565 เป็นวันยกมือจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผู้ถูกอภิปราย จำนวน 11 คน ส่วนที่มีมติของแกนนำก่อนนั้น คือ โหวต คว่ำ นายกฯ เพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ผ่าน คงต้องรอมติของทุกคนก่อน รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบางคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย" นายคฑาเทพ กล่าว

เลขานุการกลุ่ม 16 กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ตนมองว่า น่าจะผ่าน เพราะคะแนนเสียงรัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้าน ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบางคน อาจโหวตไม่ผ่าน ซึ่งเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ จะทำหน้าที่นายกฯต่อไปจนครบวาระและมีการเลือกตั้งปี 2566