เปิดตัว บ.ลูกเครือ “ชาญวีรกูล” ทำธุรกิจศึกษากัญชง ก่อนปลดล็อกกัญชา 6 เดือน

เปิดตัว บ.ลูกเครือ “ชาญวีรกูล” ทำธุรกิจศึกษากัญชง ก่อนปลดล็อกกัญชา 6 เดือน

บริษัทในเครือ “ชาญวีรกูล” STPI จัดตั้ง “บริษัทลูก” ศึกษา-ขยายขอบเขตลงทุนตลาดผลิตภัณฑ์กัญชง ก่อนปลดล็อกกัญชา 6 เดือน

กลายเป็นอีกหนึ่งซีนไฮไลต์ ภายหลัง “หมอหนูอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ถึงกรณีการปลอดล็อก “กัญชา-กัญชง” เพื่อเอื้อธุรกิจของครอบครัวหรือไม่

ภายหลังชมรมแพทย์ชนบท อ้างอิงถึงสื่อบางแห่งเผยแพร่ข้อมูลว่า บริษัทในเครือข่ายตระกูล “ชาญวีรกูล” ได้จัดตั้ง “บริษัทลูก” เมื่อปี 2564 เพื่อลงทุนในธุรกิจ “กัญชง” โดยที่ร่างกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.กัญชากัญชงฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากยังไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดย “อนุทิน” ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุแค่ว่า จะให้ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เป็นผู้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการปลดล็อคครั้งนี้ 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ธุรกิจในครอบครัว “ชาญวีรกูล” ดำเนินการจริงหรือไม่

กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัว “ชาญวีรกูล” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บอร์ดบริษัท STPI เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 อนุมัติหลักการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชง” พร้อมทั้งอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะ

บริษัทฯจึงดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ถือหุ้นโดยบริษัทฯ (STPI) 100% พร้อมด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง และกระจายความเสี่ยงของการดำเนินงานของบริษัทฯ

เปิดตัว บ.ลูกเครือ “ชาญวีรกูล” ทำธุรกิจศึกษากัญชง ก่อนปลดล็อกกัญชา 6 เดือน

สำหรับบริษัทดังกล่าว STPI แจ้งในรายงานประจำปี 2564 แก่ ตลท. ระบุว่า บริษัทย่อยที่ศึกษาลงทุนธุรกิจกัญชงดังกล่าวคือ บริษัท แคนนาธอรี่ จำกัด

บริษัทแห่งนี้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 32/24 อาคารซิโน-ไทย ทาวเวอร์ ชั้นที่ 3 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การปลูกพืชอื่น ๆ ประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรคและพืชทางเภสัชภัณฑ์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

ปรากฏชื่อกรรมการดังนี้

  • นายมาศถวิน ชาญวีรกูล
  • นายชำนิ จันทร์ฉาย
  • นายชวลิต ลิ่มพานิชย์
  • นางอนิลรัตน์ นิติสาโรจน์

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 มีบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9994% ที่เหลืออยู่ในชื่อของนายชำนิ จันทร์ฉาย นางอนิลรัตน์ นิติสาโรจน์ และนายวรราช พรหมขุนทอง ถือคนละ 0.0002%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 3,352,795 บาท หนี้สินรวม 12,681 บาท มีรายได้รวม 729 บาท รายจ่ายรวม 1,659,965 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 650 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,659,886 บาท

สำหรับบริษัท STPI ผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบ 100% ใน “ธุรกิจกัญชง” ดังกล่าวคือบริษัทในของครอบครัว “ชาญวีรกูล” โดยมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตนักการเมืองชื่อดัง บิดานายอนุทิน เป็นประธานกรรมการบริษัท มีนายมาศถวิน ชาญวีรกูล น้องชายนายอนุทิน เป็นกรรมการผู้จัดการ มีนายชำนิ จันทร์ฉาย เป็นกรรมการ

โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ซึ่งรับโอนหุ้นจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นไปตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 โดยถือหุ้นอยู่จำนวน 164,590,285 หุ้น หรือคิดเป็น 10.13% 

โดยข้อมูลนี้ตรงกับที่นายอนุทิน แจ้งต่อ ป.ป.ช. กรณีขอรับประโยชน์จากหุ้นส่วนในบริษัทเกินร้อยละ 5 ซึ่งต้องโอนให้นิติบุคคลจัดการแทน โดยเจ้าตัวได้โอนหุ้น STPI จำนวน 164,590,285 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 662,308,673 บาท ให้ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ดำเนินการ

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 คือบริษัท เบสท์ ควอลิตี้ สกิลส์ จำกัด จำนวน 77,880,000 หุ้น คิดเป็น 4.79% คือธุรกิจการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฏชื่อคนในตระกูล “ชาญวีรกูล” เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้น เช่น นายเศรณี ชาญวีรกูล น.ส.นัยน์ภัค ชาญวีรกูล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดานายอนุทิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 อยู่ที่ 56,906,765 หุ้น คิดเป็น 3.5%

เปิดตัว บ.ลูกเครือ “ชาญวีรกูล” ทำธุรกิจศึกษากัญชง ก่อนปลดล็อกกัญชา 6 เดือน

ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และวาระที่ 3 โดยก่อนหน้านี้มีการยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯเมื่อต้นปี 2565 และเพิ่งมีบรรจุนำเข้าญัตติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ก่อนที่ประชุมสภาฯจะโหวตผ่านวาระ 1 ไปแบบท่วมท้น

ขณะที่ STPI ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัว “ชาญวีรกูล” ดำเนินการให้จัดตั้ง “บริษัทลูก” เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ “กัญชง” ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 หรือราว 6-7 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงฯ เข้าสู่สภาฯ และก่อนหน้าจะมีการ "ปลดล็อกกัญชากัญชง" อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 มิ.ย. 2565

เป็นอีกหนึ่งปมร้อนที่พลพรรค “ภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นพรรคที่ผลักดันนโยบายเรื่องนี้ และมี “อนุทิน” เป็นหัวหน้าพรรค ต้องมีคำตอบ