กระทรวงอุตฯ ดันแผนยกระดับกัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ 2. 5หมื่นล้าน

กระทรวงอุตฯ ดันแผนยกระดับกัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ 2. 5หมื่นล้าน

"สุริยะ" ผลักดันแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้และการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนใน 5 ปี สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกัญชงในตลาดโลกมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป จีน รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หลังจากเริ่มผ่อนคลายกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 1.42 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 22.4% ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าประมาณ 5.58 แสนล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสูเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชง ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ จะมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชง 4 มาตรการ ได้แก่ 

1. มาตรการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยมีแนวทางในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา 

2. มาตรการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ มุ่งส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้ขยายตัว เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรตลอดห่วงโซ่กัญชง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล 

3. มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด โดยจะสร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงาน Hemp Forum และส่งเสริมการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เพื่อเชื่อมโยงการค้าโลก รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ทางด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมกัญชง และกระตุ้นอุปสงค์หน่วยงานภาครัฐ เช่น สนับสนุนการใช้สิ่งทอจากเส้นใยกัญชง 

4. มาตรการสร้างปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชง โดยมีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ อำนวยความสะดวกด้านการตรวจรับรองเอกสารสำคัญและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สู่สากล สร้างความมั่นคงภาคเกษตร จัดตั้ง Center of Hemp Excellence (CoHE) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนทางการเงินและการร่วมลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ พืชกัญชงเป็นพืชที่มีความสำคัญในหลายประเทศ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ราก ลำต้น เปลือก แกนใน ใบ ช่อดอก และเมล็ด สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้หลายด้านมากกว่า 50,000 ผลิตภัณฑ์ ต่างจากในอดีตที่จะนำไปผลิตสิ่งทอและกระดาษ ซึ่งแต่ละส่วนของกัญชงมีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุในอุตสาหกรรม S-Curve อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบินและอวกาศ เป็นต้น

"โดยหากแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและนำไปสู่การปฏิบัติฯ คาดว่าพืชกัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนต่อไป”