จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ตั้งใจทำเนื้อหาให้เสร็จใน 2 เดือน ภายใต้ความเร่งรีบ มีหลายประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม หากทำเนื้อหาไม่รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุมทุกมิติ เสี่ยงอย่างยิ่งที่ ร่างกฎหมายนี้ อาจไปไม่ถึงฝั่ง

        “กัญชาเสรี” กลายเป็นปมร้อนที่ทำให้เครือข่ายเด็ก เยาวชน และเครือข่ายแพทย์ รวมถึงองค์กรด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว นำโดย ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนยย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ออกมาเรียกร้องในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร หลังจากที่พบว่า การปลดล็อค ไร้กฎหมายควบคุมการนำไปบริโภค และใช้เพื่อสันทนาการ

 

        เพราะปัจจุบันพบว่า "กัญชาเสรี” ไม่ได้ให้โอกาสใช้ทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังพบการ ขาย การค้า การเสพ และการบริโภคที่ไร้การควบคุม และเจ้าหน้าที่รัฐไร้อำนาจที่จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการกระทำเหล่านั้น เพราะกฎหมายแม่บทคือ กฎหมายยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อค “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

        แม้กระทรวงสาธารณสุขพยายามออกประกาศ ออกกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ท้ายสุดดูเหมือนยังบังคับใช้ได้ผลน้อย

 

        ทำให้หลายฝ่ายจับตามาที่บทบาทของสภาฯ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายควบคุม ภายใต้การทำงานของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ... ที่มี “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.ภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ. ซึ่งรับเนื้อหา ของ  2 ร่างกฎหมาย คือ ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.. ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสนอ และ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ.. ที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอ มาพิจารณา 

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

        เดิม กมธ.ตั้งใจทำร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่ วันที่ 17 มิถุนายน โดยเร่งรัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน แต่เมื่อวันที่  1 กรกฏาคม การประชุมต้องถูกงด เนื่องจากพบว่า เจ้าหน้าที่ประจำกมธ.  ติดโควิด-19 จำนวน 4 ราย ขณะนี้ กมธ.ยังต้องเฝ้าระวังตัวเอง แต่วันที่ 4 กรกฏาคมนี้ ยังไม่มีการยกเลิกการประชุม

       ทั้งนี้ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” กมธ.ในซีกพรรคก้าวไกล  เผยว่า การประชุมของ กมธ. ได้คุยในหลักการ โดยเน้นหนักถึงเรื่องการออกใบอนุญาต ที่จะกำหนดรูปแบบของไซส์ให้เหมาะสมกับการชำระค่าขออนุญาต นอกจากนั้นได้คุยในหลักการทั่วไป มีความพยายามทำ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย คือ การเปิดเสรีเกินกว่าจะรับได้

 

       “หลายคนสู้เพื่อเสรี แต่ไปๆ มาๆ จะไม่ให้กำกับการนำกัญชาที่ไปประกอบอาหาร หรือใส่ของกิน โดยกมธ.ที่มาจากฝั่งข้าราชการมองว่า อยู่ที่กรม อยู่ที่เจ้ากระทรวง แต่ผมมองว่าหากไม่มีการกำกับตั้งแต่ต้นอาจเป็นอันตรายได้ เพราะหากนำกัญชาไปทำคุกกี้ หรืออาหาร แต่คนกินไม่รู้ปริมาณ หากกินแล้วโอเวอร์โดส อาจตายได้ ซึ่งกัญชาหากต้องการสันทนาการเสรี ควรทำให้ถูก ต้องจำกัดปริมาณสาร ต้องมีกติกา ต้องมีโดสซิ่งเปอร์เซ็นต์ และต้องขออนุญาตต้องควบคุม ซึ่งการทำร่างกฎหมายนี้ควรทำให้ครบ ให้ครอบคลุม” เท่าพิภพ ระบุ

 

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

       นอกจากนั้นในประเด็นที่สังคมห่วงใยและเป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ต่อการปกป้องเด็กและเยาวชน “กมธ.ซีกก้าวไกล” บอกว่าที่ประชุมยังไปไม่ถึง ส่วนข้อเสนอที่รับมาอยู่ที่ ประธานกมธ.  แต่ส่วนตัวมองว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายสามารถเขียนเพิ่มมาตราหรือเนื้อหาให้ครอบคลุมข้อห่วงใย เพื่อปกป้องเยาวชนได้

 

       “ร่างกฎหมายควรทำให้ครบและจบใน พ.ร.บ.เดียว โดยหลักการ คือใครจะทำต้องได้ทำ ส่วนกฎหมายคือ กติกาที่ชัดเจนว่าจะควบคุมอย่างไร เช่น  ใครที่จะนำไปปรุงอาหาร ทำของกินห้ามใส่ช่อดอก ร้านที่จะทำต้องขอใบอนุญาต"

 

ทว่าการขออนุญาต อย. นั้น "เท่าพิภพ" บอกว่า ไม่น่าห่วง แต่ต้องมีตรงกลางในการกำกับและควบคุมด้วย อีกทั้งควรคำนึงถึงการจัดเก็บภาษีให้เหมะสม มีมาตรการบังคับใช้ได้จริง ปกป้องครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงด้วย

       กมธ.ซีกก้าวไกล มองถึงเนื้อหาที่สำคัญในร่างกฎหมายด้วยว่า การกำหนดให้มีคณะกรรมการกัญชา กัญชงที่มีข้อเสนอแตกต่างกันใน 2 ฉบับ โดยฉบับของภูมิใจไทยเสนอให้มีข้าราชการเยอะ ส่วนฉบับของพลังประชารัฐให้มีฝ่ายการเมือง  ทั้งนี้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า หากการกำหนดกลไกโดยมีแต่ฝ่ายข้าราชการ สุดท้ายความรับผิดชอบต่อประชาชนจะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งจะไม่มีคนคานอำนาจ


       ทั้งนี้ “เท่าพิภพ” มองอีกว่าหาก ส.ส.ทำเนื้อหาร่างกฎหมายไม่ครอบคลุมและมีจุดอ่อนในบางด้าน เมื่อส่งไปในชั้น “วุฒิสภา” อาจทำให้เนื้อหาถูกแก้ไข เหมือนร่างกฎหมายหลายฉบับก่อนหน้านี้ ที่ส่งเข้าสู่ชั้น "ส.ว.” และถูกแก้ไข ซึ่งบางเรื่อง “ส.ส.” รู้สึกหงุดหงิดที่ “ส.ว." ออกแอคชั่นมากเกินไป 

 

       และในอนาคตหากมีข้อขัดแย้งกัน ซึ่ง “เท่าพิภพ” เชื่อว่า ส.ว. จะไม่ปล่อยร่างกฎหมายนี้ไปได้โดยง่าย อาจทำให้เห็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือ  “ส.ว.” คว่ำร่างพ.ร.บ.ของ ส.ส. ก็เป็นได้


       ทั้งนี้ในมุมของ “ส.ว.” เอง ปัจจุบันกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) มอบหมายให้ กรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์  เป็นประธานกมธ. ศึกษาและติดตามเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2ฉบับ ที่กมธ.ของสภาฯ พิจารณาขณะนี้ ล่วงหน้า ที่ผ่านมาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

       โดย “บุญส่ง ไข่เกษ” ฐานะโฆษกกมธ.สาธารสุขของวุฒิสภา ให้ข้อมูลว่า การพิจารณาของส.ส.ขณะนี้ ส.ว.ไม่มีอำนาจก้าวก่าย ตามกลไกที่กำหนดต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ส่งมายังวุฒิสภา ถึงจะมีหน้าที่ และอำนาจพิจารณาได้ แต่จากการติดตามข้อเรียกร้องของสังคม ต่อการ ห้ามใช้กัญชาเพื่อนันทนาการโดยเสรี  ดังนั้นร่างพ.ร.บ.ที่สภาฯพิจารณาควรรับฟังประเด็นและหาช่องทางป้องกัน

 

       “จากที่ติดตามร่างกฎหมายที่มีข้อห้ามจำหน่ายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ยังจำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดเพื่อป้องกันการใช้แบบเกินขอบเขต แต่ด้วยการเขียนกฎหมายไม่สามารถไปกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยได้ ดังนั้นตามความเข้าใจเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงรัฐมนตรี ต้องออกประกาศ กำหนด กฎกระทรวงออกมารองรับอีก อย่างน้อยเพื่อไม่ให้มีการใช้กัญชาที่เกินไปกว่าใช้ทางการแพทย์ และหากมีคนนำไปใช้ทำอย่างอื่น เช่นประกอบอาหาร ต้องมีข้อบัญญัติเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคที่ไม่ประสงค์จะกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาด้วย” อ.บุญส่ง ระบุ


       กับความเคลื่อนไหวของ “ส.ว.” นอกจาก กมธ.สาธารณสุขที่ติดตามเนื้อหาและการทำงานของสภาฯ แล้ว ยังพบว่ามีกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มี สมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธาน ได้เกาะติดการพิจารณาเช่นกัน ในแง่มุมของการคุ้มครองผู้บริโภค ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคม


       ทว่าในวงวุฒิสภา ระดับวงใน ยังพูดคุยไปถึง ระดับความเร่งรีบของการออกกฎหมายควบคุม ผ่านการทำงานคู่ขนานไปพร้อมกับส.ส. ด้วยการเสนอแนะประเด็นต่างๆ  รวมถึงข้อห่วงใยอย่างไม่เป็นทางการให้กมธ.สภาฯ พิจารณาเพื่อหวังให้รับไปบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อเมื่อถึงคราวที่ ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ถึงมือวุฒิสภา จะได้ไม่เสียเวลาถกเถียงกันมาก และทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะมีกฎหมายปกป้องคุ้มครอง

 

       พร้อมกับพูดกันในทำนองว่า หากยังมีจุดอ่อน และเปิดช่องเอื้อนายทุน เอื้อการเมืองจนเกินเหตุ อาจต้องคุยกันยาว และอาจจะทำให้ ร่างกฎหมายคลอดไม่ทันกับสมัยประชุมสภาฯ ปัจจุบัน และอาจจะเลยไปถึงสภาฯ ชุดใหม่ ก็ได้ 

จุดอ่อนกฎหมาย”กัญชา” เปิดช่อง “ส.ว.” ยับยั้ง

       อย่างไรก็ดี ในมุมของส.ว. ที่จะยื้อร่างกฎหมายกัญชาฯ นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 กำหนดแนวทางของการทำร่างพ.ร.บ.ไว้ โดยขีดเส้นให้ ส.ว. ทำร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ให้เสร็จภายใน 60 วัน และสามารถขยายออกไปเป็นกรณีพิเศษ ไม่เกิน 30 วัน หากส.ว.ทำไม่เสร็จภายในกำหนด ให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นั้น

       และมาตรา 137 กำหนดด้วยว่าหากร่างพ.ร.บ.ใดที่ ส.ว.ไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งและส่งคืนไปยังสภาแต่หากแก้ไขเพิ่มเติม  ต้องส่งให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบก่อนส่งไปประกาศใช้ แต่หากสภาฯ ไม่เห็นชอบต้องตั้งกมธ.ร่วมกันพิจารณา และส่งกลับไปให้แต่ละสภาฯ เห็นชอบ แต่หากสภาฯใดไม่เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.นั้นจะถูกยับยั้ง

 
       สำหรับร่างพ.ร.บ.ที่ถูกยับยั้ง  สภาฯ จะมีสิทธิหยิบยกมาพิจารณาได้ ต่อเมื่อพ้น 180 วันไปแล้ว

 

       ดังนั้นแม้ ส.ว. จะไม่มีอำนาจ “คว่ำ” ร่างพ.ร.บ.ของสภาฯ ได้ แต่ยังมีหน้าที่ยับยั้ง หากนับดูปฏิทินการเมืองแล้ว อาจต้องใช้เวลานาน จนผ่านสมัยที่ “พรรคภูมิใจไทย” เป็นผู้คุมนโยบายกัญชาทั้งระบบ  ก็เป็นได้.