“ก้าวไกล” ออกโรงแฉ 3 กรมใน 3 กระทรวงส่อทุจริต ขู่ซักฟอก 1 รมต.คว่ำกลางสภา

“ก้าวไกล” ออกโรงแฉ 3 กรมใน 3 กระทรวงส่อทุจริต ขู่ซักฟอก 1 รมต.คว่ำกลางสภา

“หมอวาโย” ออกโรงแฉยับมี 3 กรมใน 3 กระทรวงส่อทุจริต พบความผิดปกติในการใช้งบประมาณ ฝากถึง “ประยุทธ์” บอกมาเพื่อปราบโกงแต่ความจริงกลับละเลย ขู่ศึกซักฟอกครั้งนี้มี รมต. 1 คนคว่ำกลางสภาแน่

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อผิดสังเกตหลายประการใน 3 กระทรวง อาจส่อถึงการทำทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่

1.กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีการโอนงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปในปีก่อน ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปี พ.ศ. 2565 รวม 46 รายการ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,143 ล้านบาท ไปให้กับ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการ โดยอ้างว่า “ทหารมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำเอง” จึงเป็นข้ออ้างที่ผิดวิสัยมากว่า หน่วยงานทหารจะมีอุปกรณ์เพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำซึ่งมีหน้าที่เฉพาะได้ย่างไร ซึ่งต่อมายังปรากฏหลักฐานว่า ทหารกลับไม่สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้แล้วเสร็จอย่างครบถ้วน โดยดำเนินการแล้วเสร็จไปได้เพียง 35 โครงการจาก 46 โครงการเท่านั้น ขัดกับข้ออ้างของหน่วยงานที่อ้างว่าทหารมีความพร้อมมากกว่า 

“นอกจากนี้ มีข้าราชการน้ำดีได้แอบกระซิบและส่งข้อมูลมาให้ว่า เมื่อทหารได้รับโอนงบประมาณดังกล่าวไปแล้ว ได้โยกย้ายถ่ายเทนำไปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีกฎหมายพิเศษและสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งส่อไปในทางทุจริต จึงได้ขอเรียกเอกสารพยานหลักฐานดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกรรมาธิการฯ เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป” นายแพทย์วาโย กล่าว

2.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีการให้สัมปทานแก่บริษัท BEM ด้านการขายโฆษณา ทั้งบนรถไฟฟ้าและรวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในสถานี ซึ่งสามารถหารายได้ได้อย่างมหาศาล แต่รฟม.กลับทำสัญญาเรียกรับส่วนแบ่งจากเงินรายได้เพียง 7% เท่านั้น โดยในปี พ.ศ. 2564 ส่วนแบ่ง 7% ปรากฏในงบการเงินเพียง 18 ล้านบาทเศษเท่านั้น เมื่อคำนวณไปกลับต่าง ๆ แล้วหมายความว่า BEM มีรายได้จากการขายโฆษณาเพียง 20 กว่าล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ขัดกับราคาขายซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต เอาเฉพาะจากบริษัท PlanB โดยเมื่อคำนวณร่วมกับจำนวนจุดต่าง ๆ ที่ขายได้นั้นมีส่วนต่างอย่างมากมายมหาศาล และกลับปรากฏว่า BEM ไม่ได้ดำเนินการขายโฆษณาต่าง ๆ ด้วยตนเอง กลับไปจ้างช่วงให้กับบริษัท BMN ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการนำสัมปทานไปให้บุคคลอื่นต่อ โดยปรากฏข้อสงสัยว่า BMN อาจจ่ายเงินเป็น “ราคาเหมาถูก ๆ” ให้กับ BEM เพื่อให้ BEM สำแดงรายได้น้อย ๆ ต่อรฟม. และให้ BEM ส่งเงินส่วนแบ่ง 7% นั้นน้อยที่สุดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานอีกว่า BEM เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน BMN และ“PlanB” เองก็เป็นผู้ถือหุ้นลำดับต้น ๆ ใน BMN เช่นกัน และยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายศักดิ์สยามกับ BEM ไว้อีกมาก นายแพทย์วาโยจึงขอเรียกเอกสารสัญญาทั้งหมดที่รฟม.ทำกับ BEM เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป

3.กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งกำกับดูแล ปรากฏข้อผิดสังเกตอย่างมาก คือ งบประมาณแต่ละปีซึ่งแต่เดิมได้รับจัดสรรอยู่ประมาณพันกว่าล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2565 ได้รับจัดสรรไป 2 พันล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กลับเพิ่มขึ้นไปถึง 15,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินงบประมาณถึง 17,000 ล้านบาท เป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 

“เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า งบประมาณที่ถูกจัดสรรเพิ่มเติมมาเป็นในส่วนของ โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรฯ เพียงโครงการเดียว ซึ่งเป็นโครงการใหม่ โดยอาจมีความคล้ายคลึงกับ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เมื่อถามหาถึงบทวิเคราะห์คาดการณ์ผลประโยชน์และผลสัมฤทธิ์ กลับไม่ปรากฏคำตอบหรือพยานหลักฐานใด ๆ ที่หนักแน่นเพียงพอ แต่กลับพบข้อน่ากังวลว่า โครงการดังกล่าวซึ่งมีการกระจายเงินลงไปกว่า 5,000 จุดทั่วประเทศ จุดละ 3 ล้านบาท ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเห็นเป็นเพียงเบี้ยหัวแตก แต่ทว่า โครงการนี้ได้จัดให้มี ‘แคตตาล็อก’ ให้แต่ละจุดเลือกซื้อของจากแคตตาล็อกซึ่งถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ‘ของ’ ในแคตตาล็อกนั้นเป็นของใคร และมีเอี่ยวถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานหรือไม่ คงต้องเรียกรายละเอียดของแคตตาล็อกดังกล่าวนี้มาตรวจสอบ” นายแพทย์วาโย กล่าว

นายแพทย์วาโย กล่าวอีกว่า มีข้าราชการน้ำดีระดับ ‘อธิบดี’ มากระซิบว่า ที่เรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้เกิดขึ้น อาจไม่แปลกประหลาดนัก หากระดับอธิบดีกรมสนิทสนมกับระดับรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและรัฐมนตรีช่วยว่าการ เป็นสามเหลี่ยมแห่งความเป็นไปได้ที่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนนัก ทั้งนี้ คงต้องถามไปยังผู้ที่ชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์จริงหรือ กล้ารับปากหรือไม่ว่า หากโครงการดังกล่าวล้มเหลว ตนจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์

“พลเอกประยุทธ์บอกตลอดว่าตนเองเข้ามาเพื่อปราบโกง แต่จากที่ผมยกตัวอย่างไปก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนมากแล้วว่า พลเอกประยุทธ์นั้นปล่อยปละละเลย และไม่ได้เข้ามาเพื่อปราบโกงอย่างที่พูด ที่ผมค้นเจอความแปลกประหลาดและน่าสงสัยยังมีอีกมาก ผมคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์และ 10 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายต้องเจอศึกหนักอย่างแน่นอน และผมค่อนข้างมั่นใจว่า จะมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกโหวตคว่ำกลางสภา” นายแพทย์วาโย กล่าว