เอไอเอสพ่าย! ศาล ปค.สูงสุดชี้ กสทช.ปรับเงินปมเก็บค่าบริการล่วงหน้าถูกต้อง

เอไอเอสพ่าย! ศาล ปค.สูงสุดชี้ กสทช.ปรับเงินปมเก็บค่าบริการล่วงหน้าถูกต้อง

“เอไอเอส” พ่าย! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คำสั่ง “เลขาธิการ กสทช.” สั่งปรับเงินวันละ 1 แสนบาท ปมเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ศาลปกครองเผยแพร่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.660/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.340/2565 มีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” เป็นผู้ฟ้องคดี เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) คณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณี “เอไอเอส” ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ที่ให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 1 แสนบาท กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

ศาลปกครองสูงสุด ได้ประชุมปรึกษา รับฟังคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี และได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่าคดีนี้ผู้ฟ้องอุทธรณ์ (เอไอเอส) อุทธรณ์ว่า เลขาธิการ กสทช. ออกคำสั่งคดีชำระค่าปรับทางปกครองอัตราวันละ 1 แสนบาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ แม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งจำหน่ายคดีของเอไอเอสไปแล้ว แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่ามาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 3 และ 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 (บังคับใช้ขณะเกิดเหตุพิพาท) แต่ก็เป็นอำนาจของศาลปกครองวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรมและสิทธิของผู้ฟ้องคดีเคยได้รับและยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) หรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกรณีที่ต้องตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี (เอไอเอส) กำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า โดยผู้ใช้บริการเติมเงิน 50 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 5 วัน หรือเติมเงิน 300 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 30 วัน หรือเติมเงิน 500 บาท ใช้บริการได้ 50 วัน หรือเติมเงิน 1,500 บาท ใช้บริการได้ 365 วัน มีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 11 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสม ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อพ้นระยะเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนด แต่ผู้ฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดค่าปรับทางปกครองแก่กรณีของผู้ฟ้องคดี 

กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่อาจรับฟังได้ว่าขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรม และสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญดังข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีกรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 31 พ.ค. 2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (เอไอเอส) ชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราวันละ 1 แสนบาท ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 เป็นต้นไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการ กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2555 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน

อ่านรายละเอียดคดี คลิกที่นี่