กรรมการปฏิรูปปราบโกงชู 5 กิจกรรมแก้ทุจริต ACT ชี้รัฐ-ฝ่ายการเมืองตัวถ่วง

กรรมการปฏิรูปปราบโกงชู 5 กิจกรรมแก้ทุจริต ACT ชี้รัฐ-ฝ่ายการเมืองตัวถ่วง

กรรมการปฏิรูปปราบโกง ชู 5 กิจกรรมขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริต ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ ภาคประชาชนตื่นตัว แต่ภาครัฐ-ฝ่ายการเมืองยังถ่วง แนะผลักพัน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร-กฎหมายฟ้องปิดปาก เปิดทาง ปชช.มีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมจัดเวทีสาธารณะ “ปราบโกงประเทศไทย 2022 : มรดกกรรมการปฏิรูปประเทศ” โดยมีการเสวนาหัวข้อ “เปิดแผน 5 Big Rock ปราบโกง” ที่เป็นการเปิดข้อมูลแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และแลกเปลี่ยนข้อมูล

โดยนายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า ตอนปรับแผนปฏิรูป เราเน้นที่ประเด็นสำคัญ 3 เรื่องเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาในแผนเดิมที่ทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ประสบความสำเร็จ คือ 1.ปฏิรูปประชาชน เปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง มีส่วนร่วมต่อต้านทุจริตในเชิงรุก 2.ปฏิรูปกฎหมาย เพราะกฎหมายหลายฉบับยังเป็นปัญหา และ 3.การปฏิรูปภาครัฐ ระบบราชการปัญหาใหญ่คือการประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดระบบอุปถัมภ์ จาก 3 ประเด็นดังกล่าว นำไปสู่ 5 กิจกรรมปฏิรูป ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ 3.การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ  

กรรมการปฏิรูปปราบโกงชู 5 กิจกรรมแก้ทุจริต ACT ชี้รัฐ-ฝ่ายการเมืองตัวถ่วง

นายภักดี กล่าวอีกว่า ในการดำเนินคดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 4.พัฒนาระบบราชการไทยให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ และ 5.การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่  ทั้งนี้หากมีการขับเคลื่อนโดยรัฐบาลผลักดันทั้ง 5 กิจกรรมปฏิรูปอย่างจริงจังน่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาทุจริตได้ อย่างไรก็ตามปัญหาข้อติดขัดยังมีอยู่มาก ทั้งปัญหาการไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ปัญหาการขาดแผนการขับเคลื่อน รวมทั้งปัญหาเรื่องกรอบเวลาที่จำกัดเพียง 5 ปี จึงทำให้การดำเนินการไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศประเทศฯ จึงได้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติบูรณาการเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อเนื่อง

ส่วนนายมานะ นิมิตรมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประชาชนมีการตื่นตัวต่อต้านการทุจริตมากขึ้น มีการรวมตัวของประชาชนเป็นเครือข่าย ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ในด้านการปฏิรูปกฎหมายเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง เพราะยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก ส่วนการปฏิรูปภาครัฐยังช้ามาก หลายมาตรการออกมาเพื่อตอบสนอง KPI ของหน่วยงานเท่านั้น เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการให้บริการแบบไม่เชื่อมโยงกัน การปฏิรูปภาคการเมืองยิ่งน่าหนักใจ มีการแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ ทุกปีจะต้องมีการพูดเรื่องการโกง การซื้อขายผลประโยชน์ในการจัดทำงบประมาณ นักการเมืองบางคนทำตัวเป็นเจ้าพ่อแย่งกันเป็นอนุกรรมาธิการ อย่างไรก็ตามโดยรวมเรื่องการปฏิรูปเรามีของดีที่ตั้งไว้ แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะภาครัฐและภาคการเมืองยังเป็นตัวถ่วงของภาคประชาชน

ขณะนายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป สิ่งที่จะล้มเหลวคือการเขียนยุทธศาสตร์ไว้อย่างดีแต้ล้มเหลวเพราะวัฒนธรรมองค์กร ของคนที่มีส่วนร่วมในการทำ รวมถึงการไม่มีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งนี้การจะปฏิรูปเราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ว่าแต่ละหน่วยงานรัฐมีเรื่องทุจริตอะไรบ้าง การทุจริตที่เกิดเป็นประจำมีอะไรเป็นพื้นฐาน หรือทัศนคติขององค์กรนั้นๆ เพราะเราคุ้นเคยกับการทุจริตมานาน และคิดว่าสิ่งที่ทำบางอย่างไม่ทุจริต อย่างไรก็ตามตนมองว่าสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนคือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะการที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ได้เท่ากับแพ้การทุจริตไปครึ่งหนึ่งแล้ว