ผ่างบ "กลาโหม" ปี 66 วงเงิน 1.97 แสนล้านบาท นำไปใช้อะไรบ้าง คุ้มค่าภาษีหรือไม่?

ผ่างบ "กลาโหม" ปี 66 วงเงิน 1.97 แสนล้านบาท นำไปใช้อะไรบ้าง คุ้มค่าภาษีหรือไม่?

ศึกอภิปรายงบประมาณปี 66 จบวาระแรก แต่ “งบกลาโหม” ไม่จบ ภายหลังหลายฝ่ายไล่บี้กองทัพว่า แท้จริงแล้วใช้เงินทำอะไร รวมถึงพบ "งบลับ" ซุกอยู่ทั้ง 4 เหล่าทัพ

จบลงไปแล้วสำหรับการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาทในวาระแรก แต่ยังมีข่าวที่ไปสะกิดงบประมาณของ “กองทัพ” จากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่มีข่าวเรื่องวงเงินของการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกจับตามองมาโดยตลอด

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมาตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมวงเงิน 197,292 ล้านบาท ว่านำไปใช้ดำเนินการอะไรบ้าง (เอกสารงบประมาณ) ตั้งแต่หน้า 743 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีกระทรวงกลาโหม ในปี 2566 มีจำนวนอยู่ที่ 197,292,732,000 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันสองร้อยเก้าสิบสองล้าน เจ็ดแสนสามหมื่นสองพันบาท) คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ส่วน

1.รายจ่ายประจำ 150,908,908,900 บาท

2.รายจ่ายลงทุน 46,383,823,100 บาท 

ถึงแม้การตั้งงบประมาณของกระทรวงกลาโหม จะปรับลดลงจากปี 2565 ซึ่งเคยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ยังเป็นกระทรวงลำดับที่ 4 ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด รองจากกระทรวงการคลัง (ลำดับที่ 3) กระทรวงมหาดไทย (ลำดับที่ 2) และกระทรวงศึกษาธิการ (ลำดับที่ 1)

โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม จัดอันดับกระทรวงที่ตั้งงบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข (ลำดับ 6) ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 ของไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเยอะเป็นจำนวนหลักพันแต่ละวัน 

หากลงรายละเอียดไปที่วิสัยทัศน์ ที่กำหนดไว้ระบุว่า "มีศักยภาพทางทหารที่ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ.2570" รวมถึงมีพันธกิจที่ระบุไว้ 6 ข้อ ประกอบด้วย 

1.พิทักษ์รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

2.การปฏิบัติการทางทหารเพื่อรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์แห่งชาติ

3.สนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

4.ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน มิตรประเทศ และนานาประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ

5.สนับสนุนการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน และแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ

6.ดำเนินงานการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเพื่อความมั่นคง

ขณะเดียวกัน หากตรวจสอบงบประมาณกระทรวง "กลาโหม" และหน่วยงานในกำกับ ต่อการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ มีดังนี้

1.กองทัพบก

มีโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ ประมาณ 5,127 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ 2,771 ล้านบาท และโครงการซ่อมแซม และปรับปรุงยุทโธปกรณ์ 2,356 ล้านบาท

นอกจากนี้กองทัพบกยังใช้เงินไปกับโครงการเสริมสร้างกำลังพล ผูกพันตามสัญญา จำนวน 16 โครงการโดยไม่ระบุรายละเอียด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2567 รวมเป็นเงิน 16,863 ล้านบาท

รวมถึงมีโครงการที่จะเริ่มผูกพันในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 4 โครงการ ตั้งแต่ปี 2566-2568 วงเงิน 3,123 ล้านบาท และยังมีงบที่ใช้ไปกับโครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพบก รวม 325 ล้านบาท 

2.กองทัพเรือ 

มีโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ รวม 3,510 ล้านบาท โดยจำนวนนี้เป็นโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ วงเงิน 1,510 ล้านบาท และโครงการซ่อมแซม และปรับปรุงยุทโธปกรณ์ 2,000 ล้านบาทถ้วน

รวมถึงยังใช้เงินไปกับโครงการเสริมสร้างกำลังพล ผูกพันตามสัญญา รวม 11 โครงการ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2573 วงเงินทั้งสิ้น 50,232 ล้านบาท และมีโครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ตั้งแต่ปี 2566-2568 รวม 3 โครงการ รวมวงเงิน 2,504 ล้านบาท

3.กองทัพอากาศ

มีโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ รวม 3,287 ล้านบาท แต่ไม่ได้ระบุว่ามีโครงการจัดหา และซ่อมบำรุงหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้เงินไปกับโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ผูกพันตามสัญญา จำนวน 18 รายการ ระหว่างปีงบประมาณ 2562-2569 วงเงินทั้งสิ้น 25,524 ล้านบาท รวมถึงมีโครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ตั้งแต่ปี 2566-2569 รวม 2 โครงการ วงเงิน 7,882 ล้านบาท

4.กองบัญชาการกองทัพไทย

มีโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ รวม 463 ล้านบาท แต่มิได้ระบุว่ามีโครงการจัดหา และซ่อมบำรุงหรือไม่ รวมถึงใช้เงินไปกับโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ผูกพันตามสัญญา จำนวน 1 โครงการ ระว่างปี 2562-2567 วงเงินทั้งสิ้น 880 ล้านบาท

เงินราชการลับ

ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหม มีการระบุถึง “เงินราชการลับ” ถูกระบุไว้ในหลายโครงการของทั้ง 4 หน่วยงาน และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 469,955,000 บาท ประกอบด้วย

"สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม" มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ระบุว่ามีเงินราชการลับถึง 32,393,000 บาท

"กองทัพบก" มีโครงการสนับสนุนการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ระบุเงินราชการลับ 290,046,000 บาท

"กองทัพเรือ" มีโครงการเสริมสร้างหน่วย ระบุเงินราชการลับ 62,694,000 บาท

"กองทัพอากาศ" มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถ ระบุเงินราชการลับ 30,000,000 บาท

"กองบัญชาการกองทัพไทย" มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถ ระบุเงินราชการลับ 54,822,000 บาท

อีกประเด็นที่สำคัญคือ โครงการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศของกองทัพบก ตั้งงบประมาณ 12,721 ล้านบาท โดยจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการจิตวิทยาและงานปฏิบัติการมวลชน หรือที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็นปฏิบัติการไอโอ ตั้งวงเงิน 11,340,000 บาท

นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีโครงการเสริมสร้างความเข้าใจ และประสานความร่วมมือ โดยเป็นค่าใช้จ่ายปฏิบัติการทางจิตวิทยา วงเงิน 7,974,600 บาท

ค่าใช้จ่ายป้องกันการทุจริต

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กองทัพไทยถูกตั้งฉายาว่าเป็น “แดนสนธยา” เพราะตรวจสอบได้ค่อนข้างยาก ขณะที่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ไทยตกลงแทบทุกปี โดยปีล่าสุดเมื่อ 2020 อยู่อันดับ 104 ของโลก

ทว่าหน่วยงานกองทัพไทยกลับมีการตั้งค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการทุจริตน้อยมาก เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุ อยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพกำลังกองทัพ โดยเป็นค่าการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต วงเงิน 100,000 บาท

กองทัพอากาศ ระบุอยู่ในงบรายจ่ายอื่น เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันปราบปรามทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐ วงเงิน 404,300 บาท

กองบัญชาการกองทัพไทย ระบุผ่านโครงการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการป้องกัน และปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเพียง 1,001,900 บาท โดยทางด้านของกองทัพบก และกองทัพเรือ ไม่พบการตั้งงบประมาณในส่วนนี้แต่อย่างใด

แม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะผ่านสภาในวาระแรกแล้ว แต่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในวาระที่ 2 และ 3 งบประมาณนี้จะสามารถนำออกมาใช้ได้จริงหรือไม่

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์