"ชัยวุฒิ" แจง สื่อฯ นำเสนอภาพข่าวได้อิสระ ตรงไปตรงมา ไม่ผิด กฎหมาย PDPA

"ชัยวุฒิ" แจง สื่อฯ นำเสนอภาพข่าวได้อิสระ ตรงไปตรงมา ไม่ผิด กฎหมาย PDPA

"ชัยวุฒิ" แจง PDPA มุ่งคุ้มครองสิทธิ ปชช. ไม่ให้ภาคธุรกิจ นำไปใช้จนเสียหาย เผย มีข้อยกเว้น สื่อมวลชน การนำเสนอภาพข่าว ทำได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา ไม่ผิดกฎหมาย หลัง แอนนา โวย ถูกแพร่คลิป

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวรินทร วัตรสังข์ หรือแอนนา แสดงความไม่ พอใจผู้ประกาศข่าวรายหนึ่งที่นำคลิปวีดีโอระหว่างตนเองถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มาเผยแพร่ และขอใช้สิทธิ์พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ว่า โดยหลักการตามพ.ร.บ. ดังกล่าวมุ่งคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่ถูกเก็บไว้ตามร้านค้า หรือธุรกิจต่างๆ เพื่อไม่ให้นำไปใช้จนเกิดความเสียหาย ขณะเดียวกัน ก็มีข้อยกเว้นในมาตรา 4 (3) ไว้สำหรับวิชาชีพสื่อมวลชนการเสนอข่าวต่างๆไม่เข้าข่ายเป็นความผิด 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ดังนั้น สื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมาย PDPA เพียงแต่ต้องเป็นไปตามจริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจึงไม่ต้องกังวล สามารถนำเสนอข่าวได้ตามหน้าที่ ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย PDPA 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ส่วนที่นายวรินทรอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพในพื้นที่ส่วนตัวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ บัญญัติไว้ว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีกฎหมายคุ้มครอง หรือกำกับดูแลอยู่แล้ว ให้ว่าไปตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนั้นๆ อาทิ เรื่องการสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีกฎหมายกำกับดูแลและให้อำนาจเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ในมาตรา 4 ยังมีข้อยกเว้นไว้สำหรับกรณีการทำงานปกติของหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่เข้าข่ายตามความผิดของพ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีการสืบสวนสอบสวนเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาและผู้ที่กระทำความผิด สิ่งเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ขออย่านำเรื่องการดำเนินคดี หรือเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไปปะปนกับเรื่องของกฎหมาย PDPA จนทำให้เกิดความสับสน กฎหมายตัวนี้คุ้มครองเรื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆที่เราไม่อยากเปิดเผยที่ถูกเก็บตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งไม่อยากให้มีการรั่วไหล ส่วนกรณีประชาชนรู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์นั้นสามารถร้องเรียนมาที่กระทรวงดีอีเอสหรือทางเว็บไซต์ของกระทรวงได้