GT200 ย้อนอดีต 14 ปีฉาว ทำไมถึงขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องลวงโลก

GT200 ย้อนอดีต 14 ปีฉาว ทำไมถึงขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องลวงโลก

GT200 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง จากกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกทำสัญญาจ้าง สวทช. 7.5 ล้านบาท ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง (เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท)

ประเด็น GT200 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง จากกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณ กระทรวงกลาโหม ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง (เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท)

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ฉาวอีก! ดร.เจษฎา จี้ สวทช. แจง ปมกลาโหมจัดงบ GT200

 

"ถ้ายังจำกันได้มันคือไม้ล้างป่าช้าลวงโลก ที่พอแงะดูข้างในมันว่างเปล่า สุดท้ายแค่กล่องพลาสติกเปล่าสีดำมีหนวดกุ้งชี้ไปชี้มา ไม่สามารถนำใช้ตรวจจับอะไรได้  จนถึงวันนี้คดีความก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เมื่อพยายามขอข้อมูลรายละเอียดสัญญาการจ้างตรวจสอบ GT200 จาก กองทัพบก และ สวทช. ก็ได้คำตอบว่าเป็นความลับ"

 

นายจิรัฏฐ์ อภิปรายว่า ตนมีประเด็นเดียวที่อยากให้รัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหมชี้แจง คือ กลาโหมเอาเงินภาษี 7,570,000 บาท ไปจ้างตรวจสอบกล่องพลาสติกเปล่าสีดำ ในราคาชิ้นละ 10,000 บาททั้งหมด 757 ชิ้นเพื่ออะไร ทั้งโลกเขารู้กันว่าข้างในไม่มีอะไร ขอให้ชี้แจงด้วย ชาวบ้านรอฟังอยู่

 

โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพ GT200 และ ALPHA 6 ก็ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามว่า กองทัพบก กับการซื้อ GT200 และแปลกใจ เสียใจว่า องค์กรที่มี ดร.อยู่เป็นพันคนอย่าง สวทช. ไปร่วมหัวจมท้ายด้วยหรือไม่

 

"รู้ทั้งรู้ ว่าทุกเครื่องมันก็เป็นกระป๋องพลาสติกเปล่าๆ แกะดู ข้างในก็ไม่มีอะไร จะไปเสียเวลาตรวจทีละเครื่องทำไม นอกเสียจากว่าจะรับเศษเงินไม่กี่ล้าน แลกกับชื่อเสียงขององค์กร และวงการวิทยาศาสตร์ไทย ฝาก พี่สุกิต ท่านผู้อำนวยการ สวทช. ดูเรื่องนี้ด้วยครับ สวทช. และวงการวิทยาศาสตร์ จะเสียชื่อได้นะครับ ถ้าร่วมหัวจมท้ายกับ GT200" 

 

อาจารย์เจษฎ์ ยืนยันว่า GT200 เป็นแค่แผ่นพลาสติกประกบกัน เอาไขควงงัดก็ออกแล้ว ซึ่งต้นทุนผลิตอันละไม่ถึงร้อยบาทด้วยซ้ำ


 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 อังกฤษ ตัดสินจำคุกแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล 7 ปี ข้อหาจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ให้หลายประเทศโดยการฉ้อโกง

 

ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมกว่า 7.9 ล้านปอนด์หรือราว 395 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของบริษัทจอมลวงโลก

 

สำหรับประเทศไทย กองทัพอากาศ ในสมัย "บิ๊กต๋อย" พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.ขณะนั้นเป็นเจ้าแรกที่จัดซื้อเครื่อง GT200

 

กองทัพบก "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.ได้ทดลองใช้เครื่องตรวจ GT200 ปรากฏว่าพบอาวุธในมัสยิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงเชื่อว่าเครื่องนี้ใช้การได้จริง

 

ปี 2551-2552 ยุคที่ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.สั่งซื้อเครื่อง GT200 รวม 541 เครื่อง

 

โดยหน่วยงานรัฐ 16 แห่งจัดซื้อ GT200 และ ALPHA 6 อาทิ กรมสรรพาวุธทหารบก กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กรมราชองครักษ์ กองทัพเรือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมการปกครอง กรมศุลกากร ตำรวจภูธร จ.ชัยนาท ตำรวจภูธร จ.พิษณุโลก ฯลฯ รวมแล้ว 1,398 เครื่องมูลค่า 1,178 ล้านบาท

 

ณ ตอนนั้นมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ GT200 ของกองทัพไทย ตอนนั้นเหตุระเบิดยังเกิดขึ้นแทบรายวัน ต่อมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบหมายให้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพ GT200 และ ALPHA 6 มี อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก ร่วมเป็นกรรมการฯ

 

ผลทดสอบ 10 ครั้ง ออกมาในทางลบ ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยได้ไม่ถึงครึ่ง เครื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่อวดอ้าง ในที่สุด กองทัพบก ก็สั่งเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดจากการใช้งาน

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบเรื่องนี้ พบความผิดปกติ 2 กรณี

กรณีที่ 1.หน่วยงานรัฐ 13 แห่งจัดซื้อในราคาที่สูงแพงเกินความจำเป็น อาจจะก่อให้เกิดความเสียต่อทางราชการ จัดซื้อตั้งแต่ราคาเครื่องละ 5 แสนบาทจนถึง 1.6 ล้านบาท

ผลการทดสอบการใช้งานของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ GT200 และ ALFA 6 ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง เครื่องไม่มีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางของเครื่อง ที่ทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีสนามแม่เหล็กรบกวน

 

กรณีที่ 2.พบพฤติการณ์กลุ่มบริษัทที่เสนอขาย และขายเครื่อง มีพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะสุจริต

ALFA 6 และ GT200 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท คอมส์แทร็ค จำกัด บริษัทดังกล่าวแต่งตั้ง บริษัท แจ็คสัน อิเล็คทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทน และผู้แทนจำหน่ายในไทย

 

บริษัทแจ็คสันฯ ตั้งบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท เปโตรกรุงเทพ จำกัด เป็นตัวแทน แต่เมื่อเปิดประมูลของหน่วยงานราชการ บริษัท แจ็คสันฯ ยื่นซองเสนอราคาแข่งขันกับบริษัท ยูจีซีฯ และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ ที่เป็นบริษัทลูก

 

บริษัทยูจีซีฯ และบริษัทเปโตรฯ เสนอราคาต่ำกว่าบริษัทแจ็คสันฯ พฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทดังกล่าว ไม่น่าจะสุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล มูลค่าความเสียหาย 300 ล้าน

 

กรณีนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิดร่วมด้วยจึงอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.

 

ปี 2558 นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่มีกล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ กับพวกจัดซื้อเครื่อง GT200 โดยมิชอบว่า การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.ว่า "เรื่องนี้จะหยุดวิจารณ์กันได้หรือยัง เมื่อบอกว่าใช้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แล้วเราเลิกใช้กันมานาน 2-3 ปีแล้ว ส่วนใครจะผิดหรือถูกไปฟ้องร้องในศาลเอาเอง"