แกะรอย “ศนิ” เด็กเพื่อไทย ผช.เลขาผู้ว่าฯ กทม. ตั้ง บ.ร่วมทีมพีอาร์ “ชัชชาติ”

แกะรอย “ศนิ” เด็กเพื่อไทย ผช.เลขาผู้ว่าฯ กทม. ตั้ง บ.ร่วมทีมพีอาร์ “ชัชชาติ”

แกะรอย “ศนิ จิวจินดา” อดีต ผจก.สถาบันเยาวชนเพื่อไทย เคยโดน ก.ล.ต.ฟันคดีปั่นหุ้นปี 64 ตั้งบริษัท วิจัยฯ ร่วมทีมพีอาร์ “ชัชชาติ” มีลูกชายผู้สมัครนายก อบจ.ระยอง “คณะก้าวหน้า” ร่วมเป็นกรรมการด้วย

หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า 1 ในทีมงานผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ปรากฏชื่อ ศนิ จิวจินดา เป็นหนึ่งในทีมงานด้วย

สำหรับ ศนิ จิวจินดา คืออดีตผู้จัดการสถาบันเยาวชนเพื่อไทย ของพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2556 ตามการแถลงข่าวของ “ภูมิธรรม เวชชยชัย” อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

โดยโครงสร้างสถาบันดังกล่าวมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ภูมิธรรม และ “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชาย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นที่ปรึกษา “ณหทัย ทิวไผ่งาม” อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย และอดีตโฆษกรัฐบาล “ทักษิณ” เป็นผู้อำนวยการสถาบัน และประธานคณะกรรมการสถาบัน นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (นักกิจกรรมทางการเมือง ปัจจุบันหายสาบสูญ) เป็นคณะทำงาน

นอกจากนี้ “ศนิ” เคยถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง พร้อมกับพวกรวม 13 ราย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 กรณีสร้างราคาหุ้น “เกียรติธนา ขนส่ง” หรือ KIAT ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาทระหว่างวันที่ 4 - 2 ธ.ค. 2557

ก.ล.ต. ระบุพฤติการณ์ของนางสาวศนิ ว่า ได้แบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างราคาหุ้น และทำหน้าที่ซื้อขายหุ้น KIAT เพื่อให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

นางสาวศนิ กับพวก ได้ร่วมทำรายการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ (Big lot) เป็นจำนวนมากหลายครั้งตามราคาที่ทีมที่ 1 ได้ผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว จนทำให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่าบริษัทฯ มีผู้ร่วมลงทุนใหม่สนใจลงทุนในราคาที่สูงขึ้นตามลำดับ ขณะที่ราคาหุ้นของ KIAT ได้เพิ่มสูงขึ้น โดย ก.ล.ต. มีมาตรการทางแพ่งสั่งปรับ นางสาวศนิกับพวก รวม 13 ราย รวม 291.17 ล้านบาท เฉพาะนางสาวศนิ ถูกปรับจำนวน 7,746,735 บาท

อ่านข่าว: พบ "ศนิ จิวจินดา" ทีมเลขาผู้ว่าฯ กทม.เคยโดน ก.ล.ต.ฟันปั่นหุ้นปี 64

อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณี น.ส.ศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เคยถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง พร้อมกับพวกรวม 13 ราย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 กรณีสร้างราคาหุ้น “เกียรติธนา ขนส่ง” หรือ KIAT ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาทระหว่างวันที่ 4 - 2 ธ.ค. 57 ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดเมื่อปี 2557 ทราบว่า น.ส.ศนิ โดนสั่งปรับเท่านั้น ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา 

“กรณีดังกล่าวเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิดในการร่วมลงทุนซื้อขายหุ้น” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบประวัติของทีมงานเรียบร้อยแล้ว น.ส.ศนิ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่มีหน้าที่ประสานงานเท่านั้น จึงมั่นใจว่าทำงานได้อย่างแน่นอน

อ่านข่าว: “ชัชชาติ” แจง ผช.เลขาผู้ว่าฯ กทม.ปัดเอี่ยวปั่นหุ้น แค่โดนปรับ ทำงานต่อได้

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า “ศนิ จิวจินดา” เป็นกรรมการบริษัทเอกชนทำธุรกิจเกี่ยวกับ “ประชาสัมพันธ์” โดยร่วมงานกับ “ทีมหาเสียง” ของ “ชัชชาติ” 2 ราย

มีรายหนึ่งเป็น “ลูกชาย” ของอดีตผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ของ “คณะก้าวหน้า” ซึ่ง “ชัชชาติ” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เคยออกตัวเชียร์มาแล้ว

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 พบว่า “ศนิ จิวจินดา” เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท โอกาสวิจัยและพัฒนาธุรกิจ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้นที่ 24 ห้องเลขที่ TT11 ถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์

ปรากฏชื่อกรรมการ ดังนี้

  • นายธีรภัทร เจริญสุข นักวิชาการ นักเขียน หนึ่งในทีมงานหาเสียงของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
  • นางสาวศนิ จิวจินดา อดีตผู้จัดการสถาบันเยาวชนเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย
  • นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ยุคก่อตั้ง โดยเป็นบุตรชายของ “สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์” ผู้สมัครนายก อบจ.ระยอง สังกัดคณะก้าวหน้า

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลงบการเงิน

สำหรับนายธีรภัทร เจริญสุข ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทอีก 1 แห่ง คือบริษัท พะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ตำราเรียนพจนานุกรมและสารานุกรมลงบนสื่อต่าง ๆ (ยกเว้นทางออนไลน์)