เลขาฯ กกต.ยันรับรอง “ชัชชาติ” เร็วไม่เกี่ยวถูกสังคมกดดัน ลั่นยึดหลักกฎหมาย

เลขาฯ กกต.ยันรับรอง “ชัชชาติ” เร็วไม่เกี่ยวถูกสังคมกดดัน ลั่นยึดหลักกฎหมาย

เลขาฯ กกต. แจงเร่งรัดทำเรื่องร้องเรียนเร็วขึ้น ประกาศผลรับรอง “ชัชชาติ” ได้ใน 8-9 วัน ไม่เกี่ยวถูกสังคมกดดัน แต่เป็นเพราะพัฒนาการสอบสวน ยันเรื่องป้ายหาเสียงทำกระเป๋า ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลักการเดียวกับแจกซีดี-เสื้อสกรีนตัวหนังสือ ลั่นทำงานตรงไปตรงมา

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาธิการ กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจัดพิธีมอบใบรับรองให้แก่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ ส.ก. รวม 45 ราย ที่ กกต.ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 โดยยังเหลือ ส.ก.ที่ยังไม่ได้รับรองอีก 5 ราย ว่า เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงาน กกต. โดยจะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว เพราะประชาชนรอ ส.ก.ของเขาอยู่ เหมือนกับการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 45 เขต เป็นครั้งแรกที่สำนักงานได้มีการเร่งรัดเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เป็นการพัฒนาการทำงานของสำนักงานตามนโยบายของ กกต. ที่อยากให้เรื่องการประกาศผล การเร่งรัดสำนวนทำให้เร็วขึ้น เราสามารถประกาศผลได้ภายใน 8-9 วัน ไม่ได้เกี่ยวกับการถูกกระแสกดดันจากสังคม

เมื่อถามถึงกรณีคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นร้องเรียนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กกต.จะชี้แจงอะไรหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ชี้แจงหรอก เป็นไปตามข่าว คือตีตกไป

เมื่อถามว่า หากนายชัชชาติจะฟ้องกลับจะดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เป็นเรื่องของท่าน เป็นสิทธิส่วนตัวของท่าน ถ้าท่านรู้สึกว่า มีคนไปริดรอนสิทธิส่วนตัวของท่าน ท่านก็ต้องพิจารณาดูเอง

ส่วนกรณีป้ายหาเสียงที่สามารถทำไปทำเป็นกระเป๋าได้นั้น กกต.จะมีการศึกษาเพื่อวางกรอบในการเลือกตั้งในอนาคตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องแบบนี้เคยมีแนวมาแล้ว ถ้าจำได้สมัยก่อนมีซีดี ถามว่าเป็นการให้ทรัพย์สินหรือไม่ ในข้อเท็จจริงสิ่งเหล่านี้เป็นสื่อที่จะใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับประชาชน เหมือนเสื้อสกรีนตัวหนังสือก็ถือว่าเป็นสื่อชนิดหนึ่งในการโฆษณาหาเสียงของผู้สมัคร กรณีป้ายหาเสียงของนายชัชชาติจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สังคมอาจจะลืมไปว่าหลักการมันเหมือนกันแต่รูปแบบมันต่างกัน คิดว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็ชัดเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการไปแก้ไขกฎหมาย ขอแค่คนใช้กฎหมายตรงไปตรงมา ใครให้ความเห็นเราก็ฟัง แต่เราเป็นคนทำงาน เราจะเห็นหน้างานทุกงาน แต่การแสดงความเห็นบางครั้งไม่ได้ดูกฎหมาย บางความเห็นดูกฎหมายแต่ก็สำคัญผิดไป บางความเห็นไม่รู้ข้อเท็จจริงไม่รู้หน้างาน กกต.รับฟังหมด แต่เวลาทำงานต้องยึดหลักกฎหมาย ไม่ได้ทำตามความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ความเห็นต่าง ๆ ความรู้สึก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความถูกต้องตามกฎหมายอย่างที่ตนได้พูดว่าวานนี้ถูกต้อง วันนี้ถูกต้อง อนาคตก็ต้องถูกต้อง ทุกอย่างเรามีคำอธิบาย

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่ขณะนี้มีการลงชื่อถอดถอน กกต.นั้น นายแสวง กล่าวว่า ทราบว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคม แต่ก็ไม่เฉพาะ กกต. ก่อนหน้านี้ก็มีเกิดขึ้นกับหน่วยงานอื่น ๆ เป็นอารมณ์ของสังคม ส่วนที่มีคนบอกว่าหลังจากการเลือกตั้งเสร็จ กกต.น่าจะประกาสผลได้เลย แต่ในข้อเท็จจริงมีคนอีกครึ่งหนึ่งที่มอง กกต.อยู่ว่าถ้าไม่ทำตามกฎหมาย เราก็อาจจะถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างกรณีผู้ว่าฯกทม. มาตรา 17 พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นระบุว่าจะต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่ง 3 วัน หลังการเลือกตั้ง กกต.รายงานผลคะแนน จากนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรายงานผลภายใน 4-5 วัน สำนักงาน กกต.ก็ต้องมาประมวลผลก่อนบรรจุวาระการประชุมกกต. ซึ่งตนก็คิดว่าเร็วสุดๆแล้ว

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งลำปาง เรามีแผนเตรียมไว้แล้ว ในทุกการเลือกตั้งสำนักงานพร้อมอยู่เสมอ เรามีแผน หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็สามารถนำไปครอบได้เลย ว่าแต่ละช่วงเวลาต้องทำอะไรบ้าง ขอให้มีพระราชกฤษฎีกาก่อน กกต.ก็จะมีการประชุมและประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง