ฝ่ายค้านโหมโรงคว่ำงบปีฯ 66 ชำแหละปมเสี่ยง“ทุนการเมือง”

ฝ่ายค้านโหมโรงคว่ำงบปีฯ 66  ชำแหละปมเสี่ยง“ทุนการเมือง”

“ขั้วฝ่ายค้าน” พร้อมที่จะชำแหละรายละเอียดของงบประมาณแบบละเอียดยิบ ซึ่งถือเป็นงบปีสุดท้ายก่อนจะครบเทอมสภา รายละเอียดในงบประมาณจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นทุนการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

วันนี้(31พ.ค.)เริ่มเปิดศึกอภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก่อนจะมีการโหวตรับร่างหรือไม่รับร่างวาระแรก ในวันที่ 2 มิ.ย. เบื้องต้นนั้น ส.ส.ที่สังกัดพรรคฝ่ายค้านที่มี 209 เสียง คาดว่าจะลงมติ “คว่ำ”แบบไม่เกรงใจเหมือนที่ผ่านมา ที่ออกเสียงเป็นมารยาท คือ “งดออกเสียง”

พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “หมอชลน่าน” ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียม 40 ขุนพล เอาไว้ชำแหละ พ.ร.บ.งบประมาณ โดยมองว่าการจัดงบประมาณปีนี้ค่อนข้างมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ

“ชลน่าน” ระบุว่า ตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้เหมือนกับเป็นตัวเลขที่อุปโลกน์ เช่นการจัดเก็บรายได้ ที่ตั้งไว้ 2.49 ล้านล้านบาท ถามว่า ความสามารถที่จะเก็บได้ทำไมต้องเพิ่มมาอีก 0.9 ล้านล้านบาท เพราะ2.4 ล้านล้านบาท ยังเป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นการตั้งการจัดเก็บรายได้ไว้ 2.49 ล้านล้านบาท มีผลต่อการที่จะวางกรอบของเงินกู้หรือไม่ เพราะถ้าตั้งรายได้ไม่ถึงการจะกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุล ตัวเลขก็จะต่ำ เพดานกู้จะแคบ

“ตรงนี้เราจะเห็นว่า เหมือนเป็นทางตัน แต่ที่สำคัญนำไปใช้ไม่ได้ก่อประโยชน์ ผิดที่ผิดทาง ผิดวัตถุประสงค์ และสุ่มเสี่ยงส่อไปในทางเอื้อประโยชน์และแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากใกล้ช่วงเลือกตั้ง จึงเห็นว่า การจัดทำงบประมาณนี้มีลักษณะกระจุกตัวมากกว่า”

ขณะเดียวกัน “เพื่อไทย” ยังจี้จุดตำตอไปที่ “งบกลาโหม” โดย "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  มองว่า ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณมีการจัดซื้อเครื่องบินรบลำใหม่รุ่น F35 จำนวน 2 ลำ ราคา 2,700 ล้านบาทต่อลำ กองทัพอากาศมีแผนจะซื้อทั้งหมด 8 ลำ แต่เป็นเครื่องบินเปล่าๆ ไม่มีอาวุธ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรค ไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้

พรรคก้าวไกล วางขุนพลชำแหละร่างพ.ร.บ.งบประมาณไว้ 15 คน โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปรียบว่าเหมือนกับ “งบช้างป่วย” โดยเห็นว่า งบประมาณที่ได้รับมากที่สุดคืองบกลาง ประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบบำเหน็จ บำนาญ และงบรักษาพยาบาลของข้าราชการ งบที่ปรับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คืองบของรัฐวิสาหกิจ

โดยหน่วยงานที่ได้รับสูงสุด เช่น ธ.ก.ส. เป็นงบที่นำไปจ่ายเรื่องการอุดหนุนการเกษตรย้อนหลังไปถึงปี 2551 ดังนั้นงบที่จัดสรรแทนที่จะเป็นเรื่องการฟื้นฟูประเทศ กลับเป็นงบของอดีต สมมุติว่าประเทศไทยเก็บภาษีได้ 100 บาท พบว่า 70 บาท ถูกใช้จ่ายกับอดีตจนหมด ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ จะมีเหลืออยู่เพียง 30 บาท ที่สำหรับบริหารในอนาคต

“ถ้าเราจัดงบแบบเดิม เราก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปีเช่นกัน ฉะนั้นพรรคก้าวไกลคงไม่สามารถที่จะให้งบประมาณผ่านวาระแรกไปได้ ในอดีตเราเห็นใจโดยใช้วิธีงดออกเสียง และไปพิจารณาในวาระ 2 แต่เราให้โอกาสมา 2-3 ครั้ง ในการแก้ตัวก็ไม่ดีขึ้น” พิธา ระบุ

นอกจากนี้ “ศิริกัญญา ตันสกุล” แม่ทัพด้านเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล เตรียมชำแหละงบกลางที่ได้ไปมากที่สุด โดยพบว่างบที่งอกเพิ่มคือสวัสดิการของข้าราชการ ส่วนภาพรวมของงบประมาณปี 2566 มีปัญหาเชิงโครงสร้างเพราะวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท กว่าร้อยละ 40 ใช้จ่ายไปกับค่าใช้จ่ายประจำบุคลากร และยังต้องใช้งบคืนหนี้เงินกู้ และงบภาระผูกพัน โดยเฉพาะงบปี 2566 ปีสุดท้ายเป็นงบใหญ่โต แต่ใช้ได้จริงเพียง 1 ใน 4

“การตั้งงบแบบนี้จะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งพัฒนาประเทศยาวนานหากไม่มีการแก้ไขปัญหา และการจัดเก็บรายได้ไม่สม่ำเสมอ และสุดท้ายรัฐบาลจะมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูประเทศให้ออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้”

ดังนั้น “พรรคก้าวไกล” จึงผนึกกำลังกับ “พรรคเพื่อไทย” ในการโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2566 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการอย่างแน่นอน 

โดยในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่ผ่านมาตลอดรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” พรรคก้าวไกลเคยโหวตไฟเขียวให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯในวาระที่ 1 แค่ครั้งเดียวคือ ปีงบประมาณ 2563 เท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ ภายหลังการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ดึง “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ “ไอติม” มาเป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯทั้งระบบ เบื้องต้นเห็นผลไปแล้วว่า มี “งบหาย” ไปกว่า 500 ล้านบาท โดยไม่มีคำชี้แจงหรือรายละเอียดใด ๆ จากหน่วยงานรัฐ

โดยการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณในครั้งนี้ พรรคก้าวไกลมีทีมรวบรวมข้อมูล ทีมสกัดข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นต้องรอดูผลว่าจะมีอะไร “เซอร์ไพรส์” เรียกเสียงฮือฮาในสภากันอีกหรือไม่

ทั้งหมดคือความพร้อมของ “ขั้วฝ่ายค้าน” ที่เตรียมชำแหละรายละเอียดของงบประมาณแบบละเอียดยิบ เพื่อเก็บแต้มการเมือง ก่อนจะไปลุยต่อในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะยื่นญัตติช่วงกลางเดือน มิ.ย.