ย้อนรอย 3 ศึกซักฟอก “ฝ่ายค้าน” บทพิสูจน์-เดิมพัน ครั้งสุดท้าย

ย้อนรอย 3 ศึกซักฟอก “ฝ่ายค้าน” บทพิสูจน์-เดิมพัน ครั้งสุดท้าย

ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย น่าจับตาอย่างมากว่า ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลใหม่อะไร มาเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์ จนลงจากตำแหน่งได้ หากฝีมือฝ่ายค้าน ยังคงมาตรฐานเดิม รัฐบาลก็คงลอยนวล เพราะไม่เหลือด่านอันตรายให้เสี่ยงอีกแล้ว

ใกล้ถึง “ศึกซักฟอก” ครั้งที่ 4 ซึ่งถือเป็น “ครั้งสุดท้าย” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายค้านนำโดย “พรรคเพื่อไทย” แถลงชี้แจงถึง 6 ประเด็นพุ่งเป้าโจมตีรัฐบาลชุดนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

ได้แก่ 1.ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม 3.การทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง 4.ไม่ปฎิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 5.การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 6.การทำลายประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา

ล่าสุด ฝ่ายค้านมีการปรับแผนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวาระแรก 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. จากเดิมที่จะยื่นญัตติหลังการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ เนื่องจากท่าทีของรัฐบาล และ ส.ว. พยายามใช้แท็กติกดีเลย์ โดยแทรกร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เข้ามาคั่น

เนื้อหาสาระสำคัญในศึกซักฟอกครั้งนี้ เบื้องต้น “ฝ่ายค้าน” จองกฐิน 5 ราย ตามการเปิดเผยของ “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประเด็นความล้มเหลวในการบริหารแผ่นดิน โดยเฉพาะกรณี “เหมืองทองอัครา” ที่อาจทำให้ไทยต้องเสียค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท และขยายผลกรณี “ถุงขนม 5 ล้านบาท” จากขบวนการ “ล้มนายกฯ” ในศึกซักฟอกรอบที่แล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม้จะยังไม่มีการแย้มข้อมูลว่าจะถูกอภิปรายประเด็นใดบ้าง แต่ชื่อถูกวางไว้ในคิวล่วงหน้า

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข การบริหารจัดการแก้โควิด-19 รวมถึงการจัดหาวัคซีนไม่เพียงพอ 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กรณีวิกฤติเศรษฐกิจ สินค้าราคาแพง เช่น น้ำมันปาล์ม และเนื้อหมู รวมถึงการปกปิดโรคระบาดในหมู เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประเด็นการปกปิดโรคระบาด “อหิวาต์สุกร”

นอกจากนี้ อาจมีการเสริมเพิ่มเติม “รัฐมนตรี” ที่จะถูกอภิปราย เช่น “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง กรณีโครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่มีปัญหาคาราคาซังในการประมูลระหว่าง “อีสท์วอเตอร์” เจ้าเก่า และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เจ้าใหม่ผู้ชนะการประมูล เบื้องต้น “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และให้รายงานผลภายใน 20 พ.ค. แล้ว

ที่น่าสนใจคือยัง “ไม่มีชื่อ” พล.อ.ประวิตร ในฐานะ “คีย์แมน” ของรัฐบาล แต่พอมีเชื้อเรื่องเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์ ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” ดันขึ้นเป็น “นายกฯสำรอง” ในช่วงนี้

หากไม่นับประเด็นใหม่ กรณี “ประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี” เห็นได้ว่าเรื่องอื่นแทบไม่มี “เนื้อหนัง” และอาจไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา หากไม่มีหลักฐานแบบ “คาหนังคาเขา” เอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้

ย้อนกลับไปการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของ “รัฐนาวาประยุทธ์” เมื่อ ก.พ. 2563 พบว่า ฝ่ายค้านโฟกัสอยู่แค่กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) ในประเด็นเคยต้องคำพิพากษาศาลออสเตรเลียให้จำคุก คดีเกี่ยวกับยาเสพติด โดยได้รับคะแนนไว้วางใจ “น้อยที่สุด” แค่ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง ยังรอดพ้นบ่วงมาได้

ส่วน “พี่น้อง 3 ป.” มี รองนายกฯ“บิ๊กป้อม” ได้รับเสียงไว้วางใจมากสุด 277 เสียง นายกฯ“บิ๊กตู่”และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เท่ากันที่คนละ 272 เสียง

ตัดมาที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้เมื่อ ก.พ. 2564 เรียกได้ว่าเป็นศึก “เชือด กปปส.” เพราะฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ (ขณะนั้น) และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปมแต่งตั้ง “คนสนิท” นั่งเก้าอี้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคุรุสภา จนได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ “ต่ำสุด” แค่ 258 เสียง และไม่ไว้วางใจ “สูงสุด” ถึง 215 เสียง รองลงมาคือ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ได้รับเสียงไว้วางใจ 263 เสียง ไม่ไว้วางใจ 212 เสียง

นอกจากนี้ ยังเป็นศึกซักฟอกที่มันส์หยดติ๋ง เพราะมีปรากฎการณ์ “งูเห่า ภาค 2” เลื้อยกันยั้วเยี้ยเต็มสภาฯไปหมด แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองยังโหวตไม่ไว้วางใจ และงดออกเสียงให้รัฐมนตรีในรัฐบาล

ปรากฎการณ์นี้ ส่งผลให้ในเวลาต่อมา “ปีก กปปส.” ใน พปชร.ระส่ำระสายอย่างหนัก กระทั่งปลายเดือน ก.พ. 2564 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกลุ่ม กปปส.คดีชุมนุมทางการเมือง มีชื่อของ “ณัฏฐพล” และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 3 ของ พปชร. โดนบ่วงกรรมโทษจำคุกไปด้วย ส่งผลให้ทั้ง 2 คนชิงลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาล ในพรรค พปชร. และตำแหน่ง ส.ส. ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทั้ง 2 รายหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และต้องพ้นจากตำแหน่ง

ถัดมาในศึกซักฟอกครั้งที่ 3 เรียกได้ว่า “อื้อฉาว” และกลายเป็นอีกตำนานในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากมี “ขบวนการล้มนายกฯ” เกิดขึ้น นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โดยโค้งสุดท้ายก่อนลงมติซักฟอก มีสารพัด “ดีลลับ” เกิดขึ้น จน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับออกมาพูดว่า ใครแอบอ้างเบื้องสูง หวังกระแสเปลี่ยนตัวนายกฯ ขอให้ระวัง

ท้ายที่สุดศึกซักฟอกครั้งนี้ แทบไม่มีคนสนใจในรายละเอียดข้อกล่าวหาของรัฐบาล เพราะสนใจเรื่องขบวนการล้มนายกฯกันหมด โดยผลสรุปคือ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจ “มากสุด” 208 เสียง และคะแนนไว้วางใจ “รองบ๊วย” แค่ 264 เสียง ส่วนบ๊วยตกเป็นของ “สุชาติ ชมกลิ่น” ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 201 เสียง  ได้รับการไว้วางใจ 263 เสียง

หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฟ้าจึงผ่าลงที่ทำเนียบรัฐบาลทันควัน พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ และนฤมล พ้นเก้าอี้ รมช.แรงงาน จนเกิดเป็นรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลมาถึงปัจจุบัน โดย ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจากพรรค ไปตั้ง “เศรษฐกิจไทย” อยู่ในตอนนี้

ประเด็นที่น่าสนใจ ข้อกล่าวหารัฐบาลของฝ่ายค้านทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา เช่น กรณีการบริหารจัดการโควิด-19 ผิดพลาด หรือกรณี “บ้านพักในค่ายทหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ หลายครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่มีครั้งใดเลยที่จะ “เอาผิด” พล.อ.ประยุทธ์ ได้ เนื่องจากข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีที่ออกมาชี้แจงแทน เช่น วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ต่างอธิบายให้เห็นภาพเป็นฉาก ๆ มีข้อเท็จจริง รายละเอียด ข้อกฎหมายครบถ้วน ยากมากที่จะเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ได้

แม้ฝ่ายค้านพยายามเล่นการเมือง โดยเฉพาะ “ดีลลับ” ช่วงศึกซักฟอกครั้งที่ 3 หวังโค่นเก้าอี้นายกฯ ก็ตาม แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จนคนที่ต้องพ้นจาก ครม.ไปกลับเป็น “ธรรมนัส-นฤมล” แทน

นั่นจึงนำไปสู่ความคาดหวังของฝ่ายค้านในศึกซักฟอกหนที่ 4 ครั้งสุดท้ายว่า ต้องมี “หมัดเด็ด” เป็นโครงการหรือเรื่องทุจริตที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เกี่ยวข้องจริง ๆ เท่านั้น จึงจะสามารถเอาผิดนายกฯ จนหลุดจากเก้าอี้ได้

ดังนั้นศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย น่าจับตาอย่างมากว่า ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลใหม่อะไร มาเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์ จนลงจากตำแหน่งได้ หากฝีมือฝ่ายค้าน ยังคงมาตรฐานเดิม รัฐบาลก็คงลอยนวล เพราะไม่เหลือด่านอันตรายให้เสี่ยงอีกแล้ว