“พิธา” รุดฟังศาลไต่สวน ลุ้นประกันตัว “ทานตะวัน” นักกิจกรรมโดนคดี ม.112

“พิธา” รุดฟังการไต่สวนศาลอาญา ลุ้นให้ประกันตัว “ทานตะวัน” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี ม.112 หรือไม่ ห่วงปัญหาสุขภาพอดอาหารนานกว่า 30 วัน ชี้ทรมานตนเองเพื่อความยุติธรรมของทุกคน วอนรัฐบาลตระหนักผลกระทบหากบ้านเมืองไร้ขื่อแปสากล

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะนายประกันของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อฟังผลการไต่สวนกรณีขอปล่อยตัวชั่วคราวทานตะวัน ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการทำกิจกรรมโพลขบวนเสด็จ และถูกถอนการประกันตัว ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง พร้อมกับกระทำการอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลากว่า 30 วันแล้ว

ก่อนหน้านี้ นายพิธาได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ประกอบการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของทนายความมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 17 พ.ค. 2565 ศาลได้ปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลเรื่องไม่ปรากฏหลักฐานอัตราเงินเดือน และครั้งที่สองในวันที่ 20 พ.ค. 2565 แต่ศาลก็ได้อนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 7 วัน ด้วยเหตุผลว่าอัยการเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน จึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว กระทั่งมีการไต่สวนคำร้องในวันนี้

“พิธา” รุดฟังศาลไต่สวน ลุ้นประกันตัว “ทานตะวัน” นักกิจกรรมโดนคดี ม.112

นายพิธา ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นฟังการไต่สวนว่า เป็นความพยายามครั้งที่สาม ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดตอนนี้คือปัญหาสุขภาพของ น.ส.ทานตะวัน ที่ต้องอดข้าวมาสามสิบกว่าวัน จากการพูดคุยกับทนายความ ล่าสุดอาการของ น.ส.ทานตะวันถือว่าเป็นวิกฤติทางสุขภาพแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปรักษาตัวและออกมาสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา ในฐานะนายประกัน ยินดีทำทุกวิถีทางให้ น.ส.ทานตะวันออกมาตามที่กรอบกฎหมายกำหนด และสามารถรับรองได้ว่าจะไม่มีการหลบหนีอย่างแน่นอน

“พิธา” รุดฟังศาลไต่สวน ลุ้นประกันตัว “ทานตะวัน” นักกิจกรรมโดนคดี ม.112

“เรากำลังพูดถึงชีวิตคน ๆ หนึ่ง ที่กำลังทรมานตนเองเพื่อความยุติธรรม บ้านเมืองเราควรต้องมีขื่อมีแป มีกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือตามโลกสมัยใหม่ กระบวนการฝากขังต้องยึดตามหลักสากล บ้านเมืองที่ไม่มีขื่อแปทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยเป็นสมาชิกปฏิญญากับสากลหลายฉบับ โดยเฉพาะ ICCPR ที่ต้องให้สิทธิการประกันตัวและการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ไว้ก่อน (presumption of innocence) แต่ในสภาพการณ์ที่ไร้ขื่อแปเช่นนี้ย่อมไม่มีใครอยากคบค้ากับเรา จึงขอให้ผู้มีอำนาจคิดถึงผลกระทบเหล่านี้ให้มากไว้ด้วย” นายพิธา กล่าว