“ไอติม” ชงนายกฯรับข้อเสนอ “ก้าวหน้า” เปิดช่องเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ” ทุกจังหวัด

“ไอติม” ชงนายกฯรับข้อเสนอ “ก้าวหน้า” เปิดช่องเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ” ทุกจังหวัด

“ไอติม” แนะ “ประยุทธ์” ต่อยอดจากเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ขานรับการกระจายอำนาจของ “คณะก้าวหน้า” เปิดโอกาสเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ” ทุกจังหวัด ชี้ผลเลือกตั้ง 22 พ.ค.สะท้อนชัด คน กทม.ไม่ยอมรัฐบาลที่มาไม่ชอบธรรม สืบทอดอำนาจ “รัฐประหาร”

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งใน กทม. ไม่สะท้อนกระแสนิยมของรัฐบาล เพราะเป็นเพียงการเลือกตั้งในจังหวัดเดียว ว่าเป็นคำพูดที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อ ว่าทำไม กทม. จึงเป็นเพียงจังหวัดเดียว ที่มีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ เพราะแม้จังหวัดอื่นทั่วประเทศ มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่สังกัดราชการส่วนท้องถิ่น แต่อำนาจส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการจังหวัด กลับตกอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นทั้งยังต้องเจอกับข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละจังหวัดได้เท่าที่ควร

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกจาก กทม. จะผูกขาดอำนาจ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพไว้แล้ว ความแตกต่างในเชิงโครงสร้างการบริหารจังหวัด ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง กทม. และ จังหวัดอื่นๆ ที่เรื้อรังมายาวนาน โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. นับเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับชาว กทม. ที่ได้ขีดเส้นทางอนาคตของตนเอง หลังจากกว่า 9 ปี ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ กว่า 12 ปี ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยผลเลือกตั้งที่ปรากฎเป็นสัญญาณที่ส่งออกมาชัดเจน ว่าพวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับผลงานของรัฐบาลและที่มาอันไม่ชอบธรรมซึ่งสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร 

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า หวังว่าความตื่นตัวของคนทั่วประเทศต่อการเลือกตั้ง กทม. “จะนำไปสู่พลังในการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการแก้กติกาให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดในจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ แต่ต้องรวมถึงการทำให้ผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้น มีอำนาจและงบประมาณเพียงพอในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองด้วย” 

“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นกลไกที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยการกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัด จะช่วยให้คนที่เกิดในจังหวัดอื่นๆ มีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องยอมแยกจากครอบครัวและย้ายถิ่นฐานเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ งานที่หลากหลาย และสวัสดิการที่มีคุณภาพ ที่อาจจะหาได้ยากกว่าในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง การแก้ปัญหา กทม. เอง ก็ต้องไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมอง กทม. เป็นสุญญากาศ ที่ตัดขาดจากส่วนอื่นของประเทศ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมอง กทม. เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ที่จะต้องไม่พัฒนาแบบสวนทางกับจังหวัดอื่น แต่ต้องพัฒนาไปควบคู่กับจังหวัดอื่น” นายพริษฐ์ กล่าว

ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การรัฐประหาร หลายคนอาจรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศไทยและประชาธิปไตย หวังว่าผลการเลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้ จะเป็น “รุ่งอรุณใหม่แห่งความหวัง” ที่นำไปสู่การที่สังคมร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการทลายปัญหาของ “รัฐราชการรวมศูนย์” และผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้หากท่านใดเห็นด้วยในเรื่องนี้ สามารถร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้าได้ที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization