"วิษณุ" โชว์ผลงานกฎหมาย เอื้อปชช. ติดต่อราชการ สะดวก เป็นธรรม ลดโกง

"วิษณุ" โชว์ผลงานกฎหมาย เอื้อปชช. ติดต่อราชการ สะดวก เป็นธรรม ลดโกง

"วิษณุ" เผย อยากเห็น 4ขึ้น 1ลง เอื้อ ปชช. สะดวกติดต่อราชการ รื้อกม.ล้าสมัย ลดโกง อีกหน่อย ทำผ่านอิเล็คทรอนิกส์ ได้ โว สมัยคสช. คลอด 450 ฉบับ "รัฐบาล" นี้ 45 ฉบับ รอโปรดเกล้า 7 ฉบับ ชี้ ติดอาวุธ ปชช. ถอดถอน ผู้บริหารท้องถิ่นได้

ที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอร์รัปชั่นทันที" ในเสวนา"Better Thailand ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" ตอนหนึ่งว่า คนทุกกลุ่มต้องติดต่อกับรัฐ ซึ่งทุกคนประจักษ์แก่ใจว่ามีความซับซ้อนหรือยากลำบากเพียงใด สภาพของราชการเป็นอย่างไรนั้น ในด้านกฎหมายถือว่ามีภาวะล้าสมัย ออกมาตั้งแต่ยุค ร.5 บางฉบับออกมาก่อนสงครามโลก ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ รวมถึงการออกกฏหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์เช่นตอนโควิด ไม่รู้จะใช้กฎหมายใด ซึ่งไม่มีก็ไม่ผิดเพราะไม่มีใครรู้จักโควิดมาก่อน แต่ก็ต้องเตรียมตัวแล้วตั้งแต่บัดนี้เพื่อรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับเรื่องคริปโตฯ หรือ โซเชียลมีเดียที่มีความก้าวหน้าแต่กฎหมายเราตามไม่ทัน นี่คือความล้าสมัย อีกส่วนคือกฎหมายซ้ำซ้อน อ่านยากช่วยเขียนให้ชาวบ้านเข้าใจได้หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ได้เพราะเป็นศัพท์เทคนิค ถึงต้องมีการเรียนนิติศาสตร์เพื่อให้คนรู้กฎหมายมาอธิบาย 

นายวิษณุ กล่าวว่า ระบบราชการเช้าชามเย็นชาม อืดเป็นเรือเกลือ ไม่เป็นมิตรประชาชน การยื่นคำขออนุญาตบางครั้งผ่านไปสองปีหน่วยงานราชการถึงบอกว่าไม่อนุญาต เพราะยื่นเอกสารไม่ครบ แล้วทำไมไม่บอกเขาตั้งแต่เจ็ดวันแรก หน่วยงานราชการก็บอกว่าไม่มีกฎหมาย ความไม่สะดวกและล่าช้าต่างๆ นำมาสู่การคอร์รัปชั่น คำว่าใต้โต๊ะ รีดไถ โอนเงินทอนระบาดไปทั่วนี่คือสภาพระบบราชการกาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ หากปล่อยไว้ประเทศจะล่มจมถ้าเป็นอย่างเดิมจับมือใครดมไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครอยากมาลงทุน ทุกคนก็เอื้อมระอากันหมด ดังนั้น การแก้ปัญหาเพื่อให้ชีวิตแต่ละคนในการติดต่อราชการหรือการทำมาหากินเกิดความสะดวกรวดเร็ว ง่าย ไม่โกง เป็นธรรม ทำได้ไม่เกินวิสัย แต่ต้องใช้เวลาความร่วมมือความหนักแน่นเข้มแข็งใจเด็ดในการตัดสินใจทำ ด้วย 1. มาตรการทางบริการจัดการ 2.มาตรการทางปกครอง และ 3.มาตรการทางกฎหมาย 

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ม.77 เขียนขึ้นครั้งแรกในประเทศ ระบุว่ารัฐพึงออกกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ต้องถามความเห็นประชาชน และเมื่อผ่านห้าปีจะมีการประเมินว่ากฎหมายคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่ก็ยกเลิกได้ รวมถึงให้มีคณะกรรมการเท่าที่จำเป็น นอกจากนั้นรัฐบาลนี้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน ซึ่งก็ทำได้ดี 3-7 วันเสร็จส่งสภา 

ในอดีตออกกฏหมายล่าช้าด้วยหลายสาเหตุ แต่เมื่อมีคสช. ปี57-62 สามารถออกกฏหมายได้ถึง 450 ฉบับ เพราะมีสนช. พิจารณากฎหมายที่แต่ละกระทรวงร่างไว้นานแล้ว หรือร่างกฎหมายฉบับที่รู้ว่าเสนอไปก็ไม่ผ่าน หรือเสียประโยชน์กับกระทรวง ให้เอามาพิจารณาหมด แม้จะมากแค่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพดีก็สามารถแก้ไขหรือยกเลิกได้ แต่ต้นทุน450 ฉบับก็พอกินพอใช้ในวันนี้ได้แล้ว

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนรัฐบาลนี้ที่เข้ามาตั้งแต่ปี 62 ออกกฏหมายมาแล้ว 45 ฉบับ ทูลเกล้าฯรอลงพระปรมาภิไธย 7 ฉบับ กฎหมายหลายฉบับเช่น พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ ทางหน่วยงานราชการต้องทำคู่มือของตัวเองว่ามีขั้นตอนในการขออนุญาตอะไรบ้าง และต้องให้ความสะดวกกับประชาชนไม่เช่นนั้นมีความผิด

"ใครเป็นข้าราชการกรุณาทำความรู้จักกฎหมายฉบับนี้ให้ดี ประชาชนก็ควรจะรู้ ถ้าพ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็คทรอนิกส์  ประกาศใช้ในอีกสองถึงสามเดือนข้างหน้า การติดต่อราชการไม่ว่าเรื่องอะไร เดิมต้องไปโชว์ตัวเข้าคิวเสียเวลา ต้องยื่นบัตรประชาชนถึงติดต่อราชการได้ แต่สิ่งนี้กำลังจะเป็นอดีต กฎหมายฉบับนี้อยู่ในสภาเมื่อสภาเปิดจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ ประชาชนติดต่อหน่วยงานราชการได้ผ่านอิเล็คทรอนิกส์ ไลน์ แอพลิเคชั่น เว็บไซต์ ที่สำคัญสะใจเหลือเกิน หน่วยงานราชการห้ามให้ประชาชนมาปรากฎตัวเด็ดขาด ยกเว้น การจดทะเบียนสมรส การหย่า หรือการทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น อะไรไม่ยกเว้นทำอยู่กับบ้านได้" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังมีร่างพ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ที่อีกไม่กี่เดือนจะคลอด จะมีการกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ป.ป.ช. อัยการ ศาล นี่คือกฎหมายที่จะทำให้การดำรงชีวิตของประชาชนสะดวกขึ้น 

นายวิษณุ กล่าวว่า การใช้ระบบ E-Service เพิ่งจะเริ่มนำมาใช้แล้วจะเต็มรูปแบบมากขึ้น จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัลตรวจสอบได้ ลดโกง เพราะที่โกงประชาชนต้องไปเกาะโต๊ะต่อรองกับเจ้าหน้าที่ 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้ออก พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องทำประมวลจริยธรรมของตัวเองหากฝ่าฝืนมีความผิดวินัยถูกฟ้องร้องและลงโทษได้ รวมถึงนักการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ก็ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรม ส.ส.หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตก็เพราะกฎหมายนี้เริ่มออกฤทธิ์แล้ว ทุกคนต้องเอาใจใส่ประมวลจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง มันจะค่อยค่อยแสดงอิทธิฤทธิ์ตามลำดับ 

นอกจากนั้น ยังมีร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ซึ่งตามปกติคนทำผิดหรือถูกปรับมีโทษอาญามีประวัติอาชญากรรม คนมีเงินเวลาถูกปรับไม่เดือดร้อน แต่คนจนเดือดร้อนไม่มีเงินเสียค่าปรับจึงถูกขัง จึงไม่เป็นธรรม จึงออกกฏหมายนี้ โดยกฎหมายใดที่มีโทษปรับศาลสามารถเปลี่ยนให้เป็นพินัยได้หรือไม่มีโทษปรับ ไม่มีประวัติอาชญากรรม คนที่ไม่มีเงินเสียค่าพินัย ก็ไม่ถูกขัง ศาลอาจลดราคาโดยให้ทำงานอื่นแทนได้ 

รวมถึงร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาครูที่ค้ำประกันให้กับนักเรียน แต่เมื่อนักเรียนเรียนจบกลับไม่ชำระคืนจนต้องไปไล่เบี้ยกับครูจำนวนมาก จึงเปลี่ยนให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นญาติเท่านั้น และสามารถผ่อนได้ งดดอกเบี้ยได้ คนดีลดเงินกู้ได้

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลนี้เพิ่มอำนาจติดอาวุธประชาชน ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชน เช่นการออกกฎหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยไม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด หรือแม้แต่ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ. ... กรณีประพฤติปฏิบัติไม่ดี ทุจริต

ซึ่งอีกไม่กี่วันจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา ประชาชนจะเลือกใครเลือกไป เมื่อเลือกแล้วประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนได้โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดยแจ้งต่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริงก็สามารถยื่นถอดถอนแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่

"เราต้องการเห็น 4 ขึ้น 1 ลง คือ เป็นธรรมขึ้น รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเข้าท่ากว่าเดิมยิ่งขึ้น โดยลดต้นทุนรัฐและชาวบ้านลง ต้องเกิดให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ ประเทศไทยน่าจะดีขึ้น" นายวิษณุ กล่าว