"56 สู่ 65" ศึกเสาชิงช้า เกมชี้ชะตา "ปชป."

"56 สู่ 65" ศึกเสาชิงช้า เกมชี้ชะตา "ปชป."

"สนามเมืองหลวง" ศึกแห่งศักดิ์ศรี โดยเฉพาะ "ค่ายสีฟ้า" รอบนี้แบกโจทย์ใหญ่คือการรักษาพื้นที่เดิม แก้มือจากศึกเลือกตั้งสนามใหญ่เมื่อปี2562

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันเราจะได้รู้กันว่า “ศึกเสาชิงช้า” ที่ว่างเว้นมากว่า 9 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 ที่สุดแล้ว 4,374,131 เสียงคนกรุงในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะตัดสินว่า ใครจะทำหน้าที่เป็น “พ่อเมืองหลวง” คนที่ 17 ต่อไป

อย่างที่รู้กันว่า ยิ่งใกล้รู้ผลมากเท่าไร ความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองในช่วงโค้งสุดท้าย จะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองและผู้สนับสนุน “ฝ่ายขวา” ที่ยามนี้พยายามปลุกวาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หวังโกยคะแนน ดังที่ “พรรคประชาธิปัตย์” เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556

โฟกัสไปที่ “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ศึกรอบนี้ถือเป็นศึกเดิมพันศักดิ์ศรีครั้งสำคัญ

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 ครั้งนั้น เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ฟาก ปชป.ส่ง “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ป้องกันแชมป์ ชนกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ ประกาศนโยบายในการหาเสียงว่า จะทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ ขณะที่สำรวจความคิดเห็น (โพลล์) แทบทุกสำนัก เป็นผู้มีความนิยมในอันดับที่หนึ่ง แซงหน้า “คุณชายหมู” ไปหลายช่วง

ทว่า กลเกมการเมืองเวลานั้นมีการ "แบ่งขั้ว-เลือกข้าง" เห็นได้ชัด จะมีก็แค่ “กลุ่มที่เอาทักษิณ” กับ “กลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ”

ขณะที่ ปชป.เห็นท่าไม่ดี งัดกลยุทธ์โค้งสุดท้าย ปลุกกระแสเลือกพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวอย่าเหลียวไปที่ผู้สมัครไม้ประดับเพราะจะ"เสียของ" และตัดแต้มปชป.อีกทางหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ศึกครั้งดังล่าวยังมีการปลุกหลากหลายวาทกรรม อาทิ ไม่เลือกเราเขามาแน่  หยุดยั้ง “พรรคเพื่อไทย” คือ “รวมพลังหยุดผูกขาดประเทศไทย” ฉายภาพซ้ำด้วย “เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง” เมื่อปี 2553 

มิหนำซ้ำ ก่อนเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน มีการปล่อยข่าวผ่าน “โซเชียลมีเดีย” โดยผู้หวังดีประสงค์ร้ายว่า “จตุพร พรหมพันธุ์”  ประธาน นปช.จะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. หาก “พรรคเพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “คุณชายหมู” จากค่าย ปชป.ได้รับคะแนนแบบ “ฉีกผลโพลล์” ได้รับเลือกตั้งในท้ายที่สุด

ทว่า ผ่านไปกว่า 9 ปี “บริบทการเมือง” ที่เปลี่ยนไป สนามเมืองหลวงโดยเฉพาะ “ขั้วขวา” ถูก “หั่น-เฉือน” ให้บรรดาพรรคการเมืองกลุ่มการเมืองขั้วเดียวกัน 

จนเกิดปรากฎการณ์ “ชิงแต้มกันเอง” ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 ซึ่ง ปชป.สูญพันธ์ุ ไร้ที่นั่ง ส.ส.

ไม่ต่างจากศึกเลือกตั้งเมืองหลวงรอบนี้ “ค่ายสีฟ้า” ซึ่งส่ง “ดร.เอ้ ”สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผนึกกำลังกับผู้สมัคร ส.ก.ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ รวม 50 เขต แต่กลับเผชิญเกมชิงแต้มฝ่ายขวาด้วยกัน ระหว่าง “2 พรรค-3 ผู้สมัครอิสระ”

 ยังไม่นับรวม “วิกฤติฉาว” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ลามเป็นเอฟเฟกต์ ที่พุ่งตรงไปยังผู้สมัครทั้งผู้ว่ากทม.และส.ก.

ทำให้ค่ายสีฟ้าต้องเร่งพลิกวิกฤติ โดยเฉพาะในส่วนของ “ดร.เอ้” ที่ต้องดึง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชูจุดขายการเป็นอดีต ส.ส.และอดีตพ่อเมืองหลวง เพื่อช่วยโกยเรตติ้งจากบรรดาแม่ยกที่ยังเหนียวแน่น

ไม่ต่างจากทีม “ผู้สมัคร ส.ก.” ค่ายสีฟ้าที่มีทั้งผู้สมัครหน้าเก่าถึง 37 คน และหน้าใหม่ 13 คน เดิมที “ค่ายสีฟ้า” วางเป้าไว้สูง “เกินครึ่ง” จากจำนวน ส.ก.ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 25 คนจากทั้งหมด 50 คน

 แต่ด้วยสถานการณ์ที่กลับตาลปัตร บรรดาผู้สมัคร ส.ก.เอง ต้องปรับเกมแบบเร่งด่วน

บางรายที่แม้จะสวมเสื้อสีฟ้า แต่เลือกที่จะสลัดแบรนด์พรรคแบบกลายๆ ด้วยการชูจุดขายเป็นผลงานตัวบุคคล หวังผลไปถึงคะแนนสงสาร บวกฐานแฟนคลับเดิมซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นกลางขึ้นไป ที่ยังเหนียวแน่นจะยังให้โอกาส และสนับสนุนอีกครั้ง

สะท้อนจากการหาเสียงวันก่อน ที่ปรากฎภาพ “ดร.โจ” พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯกทม.ซึ่งก่อนหน้าประกาศสนับสนุน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ

แต่กลับขึ้นรถแห่ช่วย "พินิจ กาญจนชูศักดิ์"  ผู้สมัครส.ก. พรรคประชาธิปัตย์แบบบังเอิญพบกัน ขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนย่านเยาวราช

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน เราจะได้รู้กันว่า สนามเมืองหลวงทั้ง 2 สนาม จะมีผู้สมัครคนใด หรือพรรคการเมืองใดรับชัยชนะ 

โดยเฉพาะค่ายประชาธิปัตย์ ซึ่งครั้งนี้มีคำว่า“ศักดิ์ศรี”เป็นเดิมพัน ซ้ำยังเป็นเสมือนศึกชี้ชะตาสนามเลือกตั้งใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย