ปลุกเลือกยุทธศาสตร์"บล็อกโหวต" จับสัญญาณแรง เวทีปราศรัยใหญ่

ปลุกเลือกยุทธศาสตร์"บล็อกโหวต" จับสัญญาณแรง เวทีปราศรัยใหญ่

“ไม่น่าจะใช้ได้ดีเท่ากับสมัยก่อน ประสิทธิภาพในการใช้ มันไม่ตรงไปตรงมา เรื่องความเป็นขั้วแบบขึงตึง เขา-เรา เริ่มคลายลงประมาณหนึ่ง ”เรา“ก็มีหลายเบอร์ ”เขา“ก็มี 2 เบอร์ มันไม่เหมือนเดิม”

ช่วง 3 วันอันตราย ของศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. จะมีอะไรมาหยุดกระแสเต็งหนึ่งของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ถูกจับจ้องอย่างหนัก โดยเฉพาะการจุดประเด็น “โหวตยุทธศาสตร์” ไม่เลือกเราเขามาแน่ จะได้ผลหรือไม่

มุมมองของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้วิเคราะห์สถานการณ์ร้อนนี้ ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” MCOT 9 ว่าจะมีผลอย่างไรหรือไม่ ในช่วงโค้งอันตรายนี้ว่า ปัจจัยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะคะแนนนิยมของนายชัชชาติ จะมากหรือน้อยมี 2 ปัจจัยหลัก คือคะแนนที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่จะตัดกันกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กับคะแนนของฝ่ายตรงข้ามอีก 3-4 เบอร์ ที่แย่งชิงกันอยู่เช่นกัน ดังนั้นหากรวมกันเป็นหนึ่งได้ก็มีปริมาณสูง

คราวนี้กลุ่มที่จะเลือกนายชัชชาติ และนายวิโรจน์คงไม่สวิง ถึงขั้นสลับขั้วไปเลือกอีกฝ่าย แต่จะเลือกคนใดคนหนึ่ง โดยยอมทิ้งชัชชาติมาเลือกวิโรจน์ หรือทิ้งวิโรจน์แล้วทิ้งชัชชาติ ซึ่งอยู่ในขั้วเดียวกันหรือไม่

หากดูแหล่งคะแนนของนายชัชชาติ สมมติเอานิด้าโพลเป็นตัวตั้ง โดยโพลล์สุดท้าย 7 วันก่อนเลือกตั้ง ระบุว่า 45% เลือกนายชัชชาติ หากคนเหล่านั้นออกมาใช้สิทธิเท่าเดิม แบบปี 2562 ราว 2.8 ล้านคน นายชัชชาติจะได้คะแนนราว 1.3 ล้านเสียง 

โดยมีแหล่งที่มาของคะแนนจาก 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 

1.กลุ่มที่เลือกพรรคเพื่อไทยเดิมในการเลือกตั้งปี 2562 

2.กลุ่มที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 แต่วันนี้ไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล แต่เลือกนายชัชชาติ

3.กลุ่มที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ใช่ 4 พรรคหลัก (ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ เพื่อไทย)

4.กลุ่มที่ เคยเลือก 2 พรรคเดิม คือพลังประชารัฐ  ประชาธิปัตย์ แต่วันนี้ไม่เลือกแล้ว เพราะอาจผิดหวังในรัฐบาล จึงหันมาเลือกนายชัชชาติ เพราะดูที่ตัวบุคคล และหากจะมีสวิงมาบ้างหรือไม่ ก็คือกลุ่ม 4 นี้

ส่วนใน 4 กลุ่มนี้ กลุ่มใดอ่อนไหวที่สุด มีโอกาสหลุดไปมากสุด ดร.สติธร ระบุว่า น่าจะเป็นกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 โอกาสจะหลุดไป ก็ด้วยปัจจัย เรื่องการดิสเครดิตรูปแบบต่าง ๆ การขุดประวัติต่าง ๆ จะสะเทือนความรู้สึก หรือการตัดสินใจของกลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 มากกว่ากลุ่ม 1 และกลุ่ม 2

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ได้เห็นสัญญาณกลุ่ม 3-4 สวิงกลับไปขั้วเดิมหรือไม่ ดร.สติธร มองว่า

“ยังไม่ชัดเจน อาจต้องช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง คือระหว่างวันพฤหัสบดี ถึงวันเสาร์นี้” 

ส่วนแคมเปญ “ปลุกผีทักษิณ” ที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวระบุว่า ปฏิบัติการของนายชัชชาติ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการใหญ่แลนด์สไลด์ของทักษิณ จะมีผลให้กลุ่ม 3-4 สวิงกลับขั้วเดิมตัวเองหรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า มีโอกาสเฉพาะในกลุ่ม 4 เพียงแต่กลุ่มนี้ มีจำนวนไม่มาก ที่เป็นกลุ่มก้อน และที่น่ากังวลจริงๆ ที่อาจจะส่งผลพลิกผลโพลล์ คือกลุ่ม 1 กับกลุ่ม 2 ขณะที่เรื่องความเป็นผีทักษิณ ไม่กระทบกลุ่ม 1 แน่นอน และกลุ่ม 1 จะยิ่งเหนียวแน่นขึ้น ยิ่งปลุกเท่าไหร่ ยิ่งแน่นขึ้นเท่านั้น

ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็เฉยๆ แต่กลุ่มที่ 4 ซึ่งมีไม่มาก คงกระทบอยู่บ้าง เพราะผิดหวังจากรัฐบาล พรรคเดิมที่เคยนิยม ไม่เอาขั้ว หันมาดูตัวบุคคล และหากมีตัวบุคคลที่ตัดสินใจไปแล้ว แต่รู้สึกมีข้อมูลใหม่เข้ามา แล้วไม่ถูกใจ ก็อาจเปลี่ยนใจใหม่ได้

 

เมื่อถามว่า หมอระวี พยายามปั่นกระแส ใครเลือกชัชชาติแปลว่าเอาทักษิณ ถ้าไม่เอาทักษิณก็ต้องเลือกอีกขั้วหนึ่ง ให้โหวตทางยุทธศาสตร์ บล็อกโหวต รวมกันเทให้อีกขั้วที่มี 4 คน แคมเปญนี้จะได้รับการตอบรับไหม มีความเป็นไปได้หรือไม่ ดร.สติธร ระบุว่า 

ได้รับการตอบรับ แต่ผลลัพท์อาจไม่ได้อย่างที่คาด ยุทธศาสตร์แบบนี้เหมือนปี 2556 คือ ไม่เลือกเราเขามาแน่ แต่ตอนนั้นมันชัดเจน คือ ฝ่ายละคน อย่างเที่ยวนี้ “เรา” มี 4 คน ถ้าแคมเปญนี้จุดติด ก็จะไปติดกันหลายเบอร์ กระจายกันไป ซึ่งก็ต้องส่งสัญญาณกันว่า เอาเบอร์ไหน เบอร์เดียว

 

เมื่อถามว่า ถ้าระบุไปที่ใครคนใดคนหนึ่งจะบรรลุเป้ามากกว่าหรือไม่ ดร.สติธร เห็นว่า

ก็อาจจะมากกว่า ขึ้นกับว่าคนอื่นเค้าเอาตามด้วยหรือไม่ วันนี้ คนหนึ่งก็เสนอเบอร์หนึ่ง กลุ่มหนึ่งก็อาจจะเสนออีกเบอร์ ในขั้วเดียวกัน บางคนสังกัดพรรค ทางพรรคจะไปเสนอเบอร์อื่นก็แปลก มันไม่ง่าย

ไม่เลือกเราเขามาแน่ พ.ศ.นี้ยังใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ อ.สติธร ระบุว่า “ไม่น่าจะใช้ได้ดีเท่ากับสมัยก่อน ประสิทธิภาพในการใช้ มันไม่ตรงไปตรงมา เรื่องความเป็นขั้วแบบขึงตึง เขา-เรา เริ่มคลายลงประมาณหนึ่ง ”เรา“ก็มีหลายเบอร์ ”เขา“ก็มี 2 เบอร์ มันไม่เหมือนเดิม” 

 

เมื่อถามถึงเรื่องขุดผลงานตอนเป็น รมว.คมนาคม ของนายชัชชาติ มาดิสเครดิต ตรงนี้จะมีผลหรือไม่ ดร.สติธร ระบุว่า

จะมีผลกับกลุ่มที่ กลุ่ม 3 - 4 คือ กลุ่มที่ไม่เคยเลือกเพื่อไทย อนาคตใหม่ ในปี 2562 กับกลุ่มที่เลือกพรรคอื่นจริงๆ จะไปอีกทางหนึ่ง ที่เขาจะหวังผลในการสร้างผลลัพท์ในการรวมคะแนนกันอันนี้มีผลเยอะ เพียงแต่เป็นผลให้เข้าใจตรงกันเฉยๆ แต่ยังไม่ตรงเบอร์เท่านั้นเอง

 

ส่วนจุดพลิกผัน 3 วันสุดท้าย จะทำให้คะแนนของนายวิโรจน์ แซงขึ้นมาชนะนายชัชชาติได้หรือไม่นั้น ดร.สติธร มองว่า

ก่อนหน้านี้อาจเห็นจุดที่ทำให้คะแนนนิยมของนายชัชชาติแกว่งนิดหน่อย โดยเฉพาะผ่านเวทีการดีเบต แฟนคลับฐานเสียงของทั้งสองเริ่มลังเลขึ้นมา มีกระแสเยอะมาก ก่อนหน้านี้ตัดสินใจไปที่นายชัชชาติ เพราะปัจจัยหลักคือ

1.เปิดตัวมานาน พอขึ้นเวที ไปเจอคำถามหลายคำถาม ที่เคยตอบไปแล้ว ได้คำตอบเดิมจึงรู้สึกไม่แปลกใหม่ 

2.อาจไม่ชัดเจนเท่านายวิโรจน์ มีความประนีประนอมมากกว่าในคำตอบ ทำให้พอหมดเวทีสำคัญไป หลังจากนั้นนายชัชชาติจึงไม่มีกระแส คนที่ถูกพูดถึงกลับเป็นนายวิโรจน์ ขณะที่นายวิโรจน์เพิ่งมา เมื่อแสดงความเห็นหรือตอบคำถามได้โดนใจ ทำให้ฐานแฟนคลับเริ่มลังเลว่าจะเลือกใคร ก็ผ่านจุดวิกฤติตอนนั้นมาแล้ว แต่ตอนนี้นายชัชชาติเริ่มตั้งหลักได้แล้ว เริ่มแก้เกมให้เห็น เช่นไปร่วมเวทีไหน ก็จะนำเสนอ สรุปผลคำถาม คำตอบของตัวเอง นำเสนอเอง สื่อสารเอง อย่างน้อยให้คนได้เห็น แทนที่จะปล่อยให้ชาวเน็ตเอามาเล่นเอง เป็นต้น

 

เมื่อถามถึงกระแส “นิวโหวตเตอร์” รอบนี้เอนเอียงไปทางใดบ้าง ดร.สติธร กล่าวว่า

นิวโหวตเตอร์ ถ้าระหว่างนายชัชชาติกับนายวิโรจน์ จะไปทางนายวิโรจน์มากกว่านิดหน่อย แต่ไม่มีนัยสำคัญมากพอจะทำให้นายชัชชาติแพ้  แต่นิวโหวตเตอร์จะเป็นกลุ่มที่ทำให้สองคนนี้เบียดกันมากกว่าช่วงอายุอื่น

 

หากมองข้ามช็อต 3 วันสุดท้ายจะมีอะไรเป็นจุดพลิกเกมได้หรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า 

“ตอนนี้อาจยังไม่เห็น มีแค่คนเริ่มออกมาขยับ ให้มีการโหวตทางยุทธศาสตร์ สิ่งที่น่าจับตาคือ โดยธรรมเนียมการเลือกตั้ง ต้องเป็นค่ำวันศุกร์ที่ทุกฝ่ายจัดเวทีปราศรัยใหญ่ของตัวเอง เวทีอย่างนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณแรงของผู้สมัครแต่ละคน ส่วนสัญญาณเสริมอื่นๆ คงไปลุ้นเอา ว่าจะมีใครช่วยส่งหรือไม่ คิดว่าเวทีนี้ จะชัดที่สุดว่าผู้สมัครจะสื่อสารอย่างไรให้คนโหวตเชิงยุทธศาสตร์ให้เข้าทางตัวเอง”