"วิโรจน์" แจงยิบ! ยันทุกนโยบายทำได้จริง ไม่เกินอำนาจ "ผู้ว่าฯ กทม."

"วิโรจน์" แจงยิบ! ยันทุกนโยบายทำได้จริง ไม่เกินอำนาจ "ผู้ว่าฯ กทม."

"วิโรจน์" แจงยิบทุกนโยบายทำได้จริงไม่เกินอำนาจ "ผู้ว่าฯ กทม." ถามกลับที่ผ่านมาไม่ทำเพราะไม่มีอำนาจหรือไม่กล้ากันแน่

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแสดงความเห็นที่ระบุว่า “ผู้ว่า กทม. ไม่มีอำนาจทำอะไร อย่าหาเสียงเพ้อฝันเกินจริง” ว่า ประเด็นนี้ตนคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนากรุงเทพฯ แม้ผมจะเห็นว่าท้องถิ่นทั่วประเทศรวมถึงกรุงเทพ ยังขาดอำนาจ ทรัพยากร และความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ แต่มีหลายสิ่งอย่างที่ผู้ว่าฯ กทม. และส.ก. สามารถทำได้ทันที

โดยนายวิโรจน์ ยกตัวอย่างความเข้าใจผิด 3 เรื่อง เกี่ยวกับนโยบายที่เสนอ เพื่อทำให้เห็นว่าทุกเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ผู้ว่า กทม. ทำได้ทั้งสิ้น

ความเข้าใจผิดที่ 1 “การเพิ่มสวัสดิการเป็นอำนาจของรัฐบาลกลางอย่างเดียว ท้องถิ่นทำไม่ได้”

กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ สามารถจัดทำสวัสดิการในรูปเงินอุดหนุนได้ ตามอำนาจของ พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 มาตรา 18

ส่วนปัญหาที่ว่าจะหาเงินมาจากไหน ในการเสนอนโยบายของเราก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าการจัดทำสวัสดิการที่เราเสนอใช้งบประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเราจะนำงบประมาณมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% ซึ่งกทม. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท/ปี ใช้งบประมาณเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นส่วนนี้เท่านั้น

ความเข้าใจผิดที่ 2 “กทม. ไม่มีอำนาจขึ้นค่าขยะห้างใหญ่”

เรื่องการเก็บค่าขยะสภากรุงเทพฯสามารถออกข้อบัญญัติได้ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 20 และมาตรา 63 เรื่องนี้คุณอัศวินเองก็ยอมรับในดีเบตช่อง 3 แล้วว่าทำได้ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมผู้ว่าฯคนเก่าไม่ทำ

ความเข้าใจผิดที่ 3 “ผู้ว่า กทม. จะเอาที่ดินเอกชนมาใช้ประโยชน์ได้ยังไง!?!”

กลไกภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือสำคัญของท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง

สำหรับกรุงเทพถึงแม้อัตราภาษีจะถูกกำหนดมาจาก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 แต่ มีประกาศกระทรวงการคลังให้ท้องถิ่น สามารถยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินสำหรับที่เอามาใช้ประโยชน์สาธารณะได้

ส่วนอัตราภาษีก็มีประกาศกระทรวงการคลัง ที่ให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บภาษีที่ดินมากกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน

การ ‘เพิ่ม’ หรือ ‘ลด’ ภาษี คือกลไกให้คุณให้โทษที่ กทม. สามารถทำได้เลย ตามข้อเสนอของผมให้ใช้ที่ดินเอกชนไปทำประโยชน์เพื่อประชาชน ในขณะเดียวกันเจ้าของที่ดินก็ได้รับการยกเว้นภาษี แทนที่จะต้องมาหาช่องเลี่ยงภาษีด้วยการซอยที่หรือปลูกกล้วยปลูกมะนาวกลางเมืองแบบนี้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าผู้ว่าฯ กทม.สามารถทำอะไรได้อีกมาก ตนมาในฐานะนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง แบกอุดมการณ์ของตัวเองและความหวังประชาชนเอาไว้ ดังนั้น ไม่แปลกที่เราจะต้อง "ทำสิ่งที่เขาอนุญาตให้ทำ" ควบคู่ไปกับการ "ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมด้วย"

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าผู้ว่ากรุงเทพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีอำนาจงบประมาณ และความเป็นอิสระในการบริหารจัดการงานในท้องถิ่นน้อยเกินไป จนทำให้ไม่สามารถตอบสนองปัญหาพี่น้องประชาชนได้ดีพอ และนี่คือเหตุผลที่ผมและพรรคก้าวไกลผลักดันการปฏิรูปกฎหมายกระจายอำนาจ

"สุดท้ายแล้วผู้ว่ากทม.คนเดียวคงทำไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพันธมิตรเราทั้งในสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งในสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ทั้งประชาชนนอกสภา เพื่อผลักดันสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่ดีกว่า ให้สำเร็จได้ นี่คือการทำงานเป็นทีมในทุกระดับ เห็นภาพชัดเจน มีเป้าหมายตรงกัน และผมขอยืนยันอีกครั้งว่าเหตุผลที่ผมตั้งใจลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าในนามพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพียงเพราต้องการแค่ "เปลี่ยนตัวผู้ว่า" แต่ตั้งใจ "เปลี่ยนเกม" ด้วย" นายวิโรจน์ กล่าว