“กรมอุตุฯ - กรมอนามัย”เซ็นเอ็มโอยูพัฒนาระบบเตือนภัยสาธารณสุข

“กรมอุตุฯ - กรมอนามัย”เซ็นเอ็มโอยูพัฒนาระบบเตือนภัยสาธารณสุข

“กรมอุตุฯ - กรมอนามัย” เซ็นเอ็มโอยูบูรณาการงานเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข จับมือทำคลังข้อมูลเชื่อม 2 หน่วยงาน คาดการณ์เตือนภัยด้านสุขภาพ ตั้งเป้าลด - ป้องกันผลกระทบต่อประชาชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ “การบูรณาการ การดำเนินงานการพัฒนาวิชาการ และวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข” ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัย โดยมีผู้ลงนาม ได้แก่ น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมทั้งมีผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นพยาน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ MOU ครั้งนี้คือ ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในส่วนของกระทรวงดีอีเอส โดยกรมอุตุนิยมวิทยา มีข้อมูลสภาพอากาศที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายแขนง เช่นในวันนี้ จะเห็นได้ว่าข้อมูลอุตุนิยมวิทยานั้นมีบทบาทสำคัญในการประเมินความเปราะบาง การสร้างความรับรู้ และการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนได้ 

ซึ่งนอกจากด้านสาธารณสุขแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกยังส่งผลต่อภาคการเกษตร การจัดการน้ำ ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม ฯลฯ ซึ่งก็จะมีการดำเนินการประสานงานร่วมกันต่อไป ในลักษณะของการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือ โครงการ งานวิจัยต่างๆ ร่วมกัน
 

ด้าน นายสาธิต กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นประเด็นที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญ ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลด และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น ภาคสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย และแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564–2573) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 

“การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดีอีเอส ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและสภาพอากาศ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม” นายสาธิต ระบุ
 

ขณะที่ น.ส.ชมภารี กล่าวว่า การ MOU ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการ การดำเนินงานพัฒนาด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย และกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มความร่วมมือการสนับสนุนภารกิจระหว่างหน่วยงานนำไปสู่การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ โดยประเด็นในการ MOU ครั้งนี้ ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะทำร่วมกัน

ประเด็นที่ 1 การบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ จัดทำคลังข้อมูลที่ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงานด้วยกัน โดยการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง คาดการณ์เตือนภัยสุขภาพ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต และร่วมกันส่งเสริมความรอบรู้ พัฒนาศักยภาพ ให้ประชาชนให้มีความรู้ในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ประเด็นที่ 2 การพัฒนางานวิชาการและงานวิจัย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับด้านสาธารณสุข โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG13)

ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม ภัยแล้ง และมลพิษอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตประชาชน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดย WHO คาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยระหว่างปี 2573- 2593 หากไม่มีมาตรการป้องกัน จะมีผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นปีละ 2.5 แสนราย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคนำโดยแมลง โรคจากความร้อน โรคอาหารและน้ำเป็นสื่อ รวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยพิบัติต่างๆ 

ดังนั้น จึงเกิดเป็นการบูรณาการ การดำเนินงานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว และสำหรับการลงนามบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันดำเนินงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การลด และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์