กสม.แถลงไตรมาสแรกปี 65 “สิทธิเสรีภาพในชีวิต” ครองแชมป์ร้องเรียนมากสุด

กสม.แถลงไตรมาสแรกปี 65 “สิทธิเสรีภาพในชีวิต” ครองแชมป์ร้องเรียนมากสุด

“กสม.” แถลงผลไตรมาสแรกปี 65 พบมี 356 เรื่องร้องเรียน “สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” ครองแชมป์มากสุด เน้นประสานคุ้มครอง เพิ่มความรวดเร็วช่วยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. แถลงผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งสิ้น 356 เรื่อง โดยเรื่องที่รับไว้ดำเนินการ มีจำนวน 284 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79.77 และเรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา มีจำนวน 72 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.23 เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วหรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น 
โดยประเภทสิทธิที่มีการร้องเรียน มากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

  1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย 
  2. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวเลขการร้องเรียนต่างจากสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพียงเล็กน้อย 
  3. สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี 
  4. สิทธิชุมชน
  5. สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน

นายพิทักษ์พล กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนจำนวน 284 เรื่องที่ กสม. รับไว้ดำเนินการ มีการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 161 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 45.22 และในช่วงเวลาเดียวกันสามารถตรวจสอบเรื่องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 108 เรื่อง พร้อมมีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการ นอกจากนี้มีการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 68 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.10 โดยสามารถประสานการคุ้มครองแล้วเสร็จจำนวน 62 เรื่อง เช่น การเร่งรัดการดำเนินคดีให้ผู้ร้องได้รับสิทธิประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ การเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล การแก้ไขปัญหาการประเมินผลการศึกษาตามการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และมีการดำเนินการช่วยเหลืออื่น ๆ 51 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.32 โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการส่งเรื่องให้สภาทนายให้ความช่วยเหลือทางคดี

กสม.แถลงไตรมาสแรกปี 65 “สิทธิเสรีภาพในชีวิต” ครองแชมป์ร้องเรียนมากสุด

เลขาธิการ กสม. กล่าวด้วยว่า มีการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบใน 4 เรื่อง คือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว และ ข้อเสนอแนะกรณีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน