เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" ลาออก เขย่าเอกภาพประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" ลาออก เขย่าเอกภาพประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

เปิดไทม์ไลน์ 2562-2565 "บิ๊กเนม" ประชาธิปัตย์ทยอยลาออก สะเทือนเอกภาพยุค "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรค ท่ามกลางวิกฤตร้อนคดี "ปริญญ์"

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การลาออกจากกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจาก "กนก วงษ์ตระหง่าน" คล้อยหลังเพียงไม่กี่วันที่ "วิทยา แก้วภราดัย" อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช หลายสมัยยื่นไปลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นอาฟเตอร์ช็อคลูกใหญ่ ที่สะเทือนมาจากคดีร้อน "ปริญญ์ พานิชภักดิ์"

โดยเฉพาะบิ๊กเนมประชาธิปัตย์ อย่าง "วิทยา" ถือเป็นหนึ่งการเคลื่อนไหวที่สะท้อนมาจาก "เอกภาพ" ภายในพรรค ตั้งแต่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 จากมติประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 ต่อจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค.ยังมีชื่อ "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และ "เสี่ยโต" อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางความคุกรุ่นภายในพรรค ตั้งแต่ชื่อ "กษิต ภิรมย์" อดีต รมว.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยื่นใบลาออกความเป็นสมาชิกพรรคเป็นคนแรกๆ

เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" ลาออก เขย่าเอกภาพประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมรายชื่อขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ระดับ "บิ๊กเนม" ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2562 ถึงล่าสุด มีดังนี้

1.กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในสมัยนายอภิสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นใบลาออกความเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 โดยให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เห็นต่าง หากเป็นสมาชิกพรรคต่อไปไม่ได้จึงตัดสินใจลาออก

2.กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 พร้อมให้เหตุผลทางทวิตเตอร์ว่า “ผมเป็นสมาชิกพรรค ปชป.เมื่อปี พ.ศ.2539 เช้านี้ส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ผมขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้การสนับสนุนการทำงานทางการเมืองของผมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด”

3.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก แกนนำตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 19 พ.ย.62 จากนั้นได้ไปร่วมพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำผู้ก่อตั้ง จากนั้นได้ลาออกเพื่อมาตั้งพรรคไทยภักดีในเวลาต่อมา

4.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ยื่นลาออกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.62 พร้อมระบุว่า "ขอบคุณผู้ใหญ่หลายท่านที่เมตตา เป็นตัวอย่างที่ดี ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่สนับสนุน เป็นกำลังใจเสมอมา ขอบคุณบ้านหลังนี้ที่ให้โอกาสทำงานนานเกือบสามสิบปี" จากนั้นนายพีระพันธุ์ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ 

เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" ลาออก เขย่าเอกภาพประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

5.กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ยื่นลาออกเมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 พร้อมระบุเหตุผลว่า "เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ร่วมพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินจนเสร็จเรียบร้อย จึงคิดว่าผมได้ทำภารกิจที่พรรคได้มอบหมายไว้จนครบถ้วนหมดแล้ว ผมจึงได้ยื่นใบลาออกตามที่ตั้งใจไว้" จากนั้นนายกรณ์ได้ดำเนินการก่อตั้งพรรคกล้า

6.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 16 ม.ค.63 พร้อมเหตุผลว่า "การเมืองที่ผมอยากเห็น คือการเมืองที่กระชับ ชัดเจน รองรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อนำประเทศเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็น Startup ทางการเมืองที่จะฉีกกรอบแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินอย่างสร้างสรรค์อยากเห็นคนจริง คนทำงานในหลากหลายอาชีพ มาช่วยกันขับเคลื่อนพลิกโฉมประเทศไทย" จากนั้นนายอรรถวิชช์ ได้ร่วมกับ "กรณ์" ก่อตั้งพรรคกล้า 

7.นพ.ปรีชา มุสิกุล อดีต ส.ส.กำแพงเพชร อดีต รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ รมช.วิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาล"ชวน หลีกภัย" ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 5 ก.พ.63

8.วิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 โดยระบุเหตุผล ไม่มีที่ยืน และไม่มีตำแหน่งอะไรที่พรรคมอบให้

9.นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง อดีต รมว.วัฒนธรรม ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 โดยไปร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ร่วมกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และสนธิรัตน์สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์

10.ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และอดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 โดยระบุเหตุผลการลาออกว่า "แนวทางการเมืองไม่มีทางให้เลือกมากนักการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นการตัดสินใจที่ยาก สาเหตุหนึ่งนั้นมาจากปัจจุบัน การตัดสินใจในหลายๆ เรื่องของพรรคนั้น ไม่เห็นด้วย" สำหรับนายไพรจะไปร่วมพรรคเศรษฐกิจไทย และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 สงขลา

11.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. อดีตแกนนำ กปปส. ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 16 มี.ค.65 โดยระบุว่า "วันนี้ผมได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาตกราบลาจากพรรคฯ แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่ผมขอคงไว้ซึ่งความเคารพ ความรักและผูกพันธ์ เต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ตลอดไปครับ" 

12.อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 17 มี.ค.65 โดยระบุว่าใช้เวลาตัดสินใจมาได้สักพักใหญ่แล้ว ก่อนจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่เลือกตั้งส.ส.และ ส.ก.ในกรุงเทพฯ

13.วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 22 เม.ย.65 โดยให้เหตุผลโดยเฉพาะกรณีนายปริญญ์ สร้างความเสียหายให้กับพรรค จึงอยากให้ กรรมการบริหารพรรคแสดงสปิริตและความรับผิดชอบ เพื่อยกระดับเรื่องมาตรฐานจริยธรรมต้องสูงกว่ากฎหมาย 

ทั้งหมดเป็นไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" จากประชาธิปัตย์ในยุค "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรค ช่วงวิกฤตประชาธิปัตย์ที่ขณะนี้ ยังคงสั่นคลอนเอกภาพและความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคอายุยืนยาวกว่า 76 ปี!!

เปิดไทม์ไลน์ "บิ๊กเนม" ลาออก เขย่าเอกภาพประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"