เกมคว่ำ"จุรินทร์" ชิงอำนาจปชป. "ก๊วนอภิสิทธิ์" จ้องเสียบ "ผู้นำค่ายสีฟ้า"

เกมคว่ำ"จุรินทร์" ชิงอำนาจปชป. "ก๊วนอภิสิทธิ์" จ้องเสียบ "ผู้นำค่ายสีฟ้า"

วิกฤติคดี “ปริญญ์” ลามเกมชิงอำนาจ ปชป. เช็คกรรมการบริหาร "15 เสียง” ตัวแปรคว่ำ “จุรินทร์” จับตาเซ็ตซีโร่ พลิกฟื้นวิกฤติคดีฉาว ดัน“อภิสิทธิ์” คัมแบ็ค

สถานการณ์ภายใน พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) หลังเกิดปมฉาวในคดีที่ “ปริญญ์ พาณิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรค ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ยามนี้ไม่ต่างอะไรกับ “อาฟเตอร์ช็อก” ครั้งใหญ่ ที่สั่นสะเทือนไปถึง 2 สนามเลือกตั้งเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นสนามผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.

ยิ่งไปกว่านั้น ปมฉาวที่เกิดขึ้น ยังลามเป็น “ศึกชิงอำนาจ” ภายใน “ค่ายสีฟ้า” ระลอกใหม่

ไล่เรียงมาตั้งแต่ เสียงทวงถามถึงความรับผิดชอบถูกส่งไปยัง “บิ๊ก ปชป.” ทันทีหลังเกิดเรื่อง

ไล่เรียงมาตั้งแต่ “แชทหลุด” จี้ถามถึงท่าที โดยเฉพาะในส่วนของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อปริญญ์ เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค และดันเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบรรดา “บิ๊กเนมพรรค” ในเวลานั้น 

ลามเป็นศึกสาดวิวาทะ ระหว่าง 2 กรรมการบริหารหญิง ทั้ง “ซ้อเจน” ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  และ “ติ่ง” มัลลิกา มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์

ที่ทิ้งปริศนาระหว่างการรับผิดในคดีฉาวที่เกิดขึ้น กับ กรณี “เป็นชู้-เป็นกิ๊ก” อันไหนควรรับผิดชอบมากกว่ากัน  

ท่าทีของ“จุรินทร์” ที่แถลงน้อมรับผิด “ยอมรับมีส่วนสำคัญในการพาปริญญ์เข้ามาในพรรค” แต่ยืนกรานที่จะไม่ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ด้วยการลาออก เพราะจะกลายเป็นการทิ้งปัญหา ไว้ให้กรรมการบริหารชุดต่อไป 

กลับยิ่งทำให้กลเกม“ชิงอำนาจ” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ทวีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น

เกมคว่ำ\"จุรินทร์\" ชิงอำนาจปชป. \"ก๊วนอภิสิทธิ์\" จ้องเสียบ \"ผู้นำค่ายสีฟ้า\"

ตอกย้ำชัดจากความเคลื่อนไหวของบรรดาส.ส.และสมาชิก โดยเฉพาะ “สายอภิสิทธิ์” (เวชชาชีวะ) ที่พยายามชิงจังหวะปมฉาว “เปิดศึกเลื่อยขา” หัวหน้าพรรค

ไล่เรียงมาตั้งแต่ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งเสียงทวงถามไปยังหัวหน้าพรรค ในฐานะที่ผลักดันบุคคลนี้เข้ามา 

"แม้จะแถลงขอโทษ แต่หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควร เช่นนี้สังคมจะเชื่อถือพรรคได้อย่างไร" 

ไม่ต่างจาก "พนิต วิกิตเศรษฐ์"  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มองว่า “สำหรับผมไม่มองว่า การรับผิดชอบด้วยการลาออก จะเป็นการทิ้งปัญหา หรือหนีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์คือสถาบันการเมือง ที่ขับเคลื่อนและยืนหยัดในหลักการไม่ใช่ตัวบุคคล ผมคิดเพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า เราคือสถาบันทางการเมืองที่ไว้วางใจได้”

หรือแม้แต่ “เทพไท เสนพงศ์” อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช  ผู้เคยได้รับฉายา “โทรโข่งมาร์ค” ที่ออกมาโพสต์ข้อความในวันประชุมใหญ่พรรค เมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา  “ไม่มีอะไรในกอไผ่ คนที่อยากเห็นคณะกรรมการบริหารพรรคลาออกทั้งชุด ต้องฝันค้าง เพราะการประชุมครั้งนี้เป็นแค่พิธีกรรม ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองเท่านั้น”

ความให้พยายามของสมาชิกปชป. “สายอภิสิทธิ์”  ในการช่วงชิงจังหวะวิกฤติคดีฉาว โดยหวังจะให้อดีตหัวหน้าพรรค หวนคืนตำแหน่ง “ผู้นำพรรค” อีกครั้ง ด้วยเหตุผลเพื่อกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

บวกความเคลื่อนไหวจากกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคบางคน ทั้ง “วิทยา แก้วภราดัย” ก่อนหน้าได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค หรือ “กนก วงศ์ตระหง่าน”  ที่ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคด้วยเหตุผลเดียวกันเวลานี้

 มีการจับตาไปที่สัญญาณการเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรค รวมไปถึงการ “เซตซีโร่” กรรมการบริหารพรรคทั้งชุด

สอดคล้องกับท่าทีของเด็กเก่าปชป.อย่าง "สมชัย ศรีสุทธิยากร"  ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 37(3) ระบุว่า กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ(รวมหัวหน้าพรรคจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์) พ้นตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด วันนี้ อาจได้เห็นหรือไม่?

ทั้งนี้เมื่อเปิดดู“เงื่อนไขสำคัญ” ในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์  ในข้อที่ 37 เขียนแจกแจงไว้ว่า กรรมการบริหารพรรคจะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะใน4กรณี แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่

(1) หัวหน้าพรรคลาออกจากตำแหน่ง หรือ (3)กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด

เกมคว่ำ\"จุรินทร์\" ชิงอำนาจปชป. \"ก๊วนอภิสิทธิ์\" จ้องเสียบ \"ผู้นำค่ายสีฟ้า\"

ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขตาม (1)ไม่เป็นผล ตัวหัวหน้าพรรคคือ “จุรินทร์” ยืนกรานที่จะไม่ลาออก

สัญญาณบวกกระแสกดดันเวลานี้จึงมีการจับตาไปที่อีกหนึ่งเงื่อนไขตาม(3) คือการบีบให้กรรมการบริหารลาออกเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้กรรมการบริหารที่เหลือต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยาย 

ทว่าเมื่อเช็คเสียงกรรมการบริหาร ปชป.ชุดปัจจุบันที่มีทั้งหมด 37 คน  

โดยมี 3 คนคือ ปริญญ์ ที่ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค หลังเกิดคดีฉาว , กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค รวมถึง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นไลน์หลุด ล่าสุด

เท่ากับว่า ขณะนี้ปชป.มีกรรมการบริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ล่าสุด34คน ฉะนั้นหากจะเดินเกมลาออกเกินกึ่งหนึ่งตามที่ระบุใน(3)เท่ากับว่าจะต้องมีกรรมการบริหารลาออกอีกอย่างน้อย 15 คนถึงจะเกินกึ่งหนึ่งคือ 18 คนจึงจะถือว่า กรรมการบริหารพ้นตำแหน่งทั้งคณะ 

จากที่จึงต้องไปลุ้นกันกันที่ กรรมการบริหารส่วนที่เหลือ ที่แม้ว่าล่าสุด  “ดร.กานต์”รัชดา ธนาดิเรก จะออกมาแถลงในนาม "7กก.บห.หญิง"  ยืนยันจะไม่ลาออก

ทว่าคล้อยหลังอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง สถานการณ์กลับตาลปัตรเมื่อ "อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์"  อดีตส.ส.กทม.หนึ่งใน7กก.บห.หญิง ออกมาระบุถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการแถลงท่าทีดังกล่าวที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

จากเดิมที่เห็นพ้องว่า ควรต้องออกมาแสดงรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน แถมยังมีการฝากจดหมายลาออกจากกก.บห.ไว้เรียบร้อยแล้ว

"คิดว่าจะยื่นใบลาออกจากการเป็น กก.บห.ของพรรคหลังวันที่ 22 พ.ค.65 จึงคิดว่าจะรอให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน" อรอนงค์ย้ำหนักแน่น

ทำไปทำมากลับมา "บิ๊กปชป." ที่พยายามเกลี้ยกล่อมขอให้ชะลอการแถลงลาออกนำมาสู่จุดพลิกดังกล่าว โดยเฉพาะ "เจน" ศรีสมร ที่ไม่เข้าร่วมแถลงข่าว เพราะมีความเห็นต่างกัน

จริงอยู่ที่แม้ก่อนหน้าผู้หลักผู้ใหญ่พรรคโดยเฉพาะ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภา จะออกมาบอกว่า "เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาไม่หนีปัญหา"   

แต่ด้วยกลเกมบวกแรงกดดันรอบทิศทางที่ส่งสาส์น กระตุ้นมายังค่ายสีฟ้าตลอดหลายวันที่ผ่านมา

งานนี้กก.บห.ส่วนที่เหลือ โดยเฉพาะ“สายเฉลิมชัย ” หรือแม้แต่ “ก๊วนเด็กปั้นนายหัวชวน” ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญทำไปทำมาอาจต้องคิดหนักว่าจะตัดสินใจอนาคตพรรคอย่างไรหลังจากนี้?