​รัฐบาลเชิญชวน จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมนอกพื้นที่ตั้งที่ดินออนไลน์

​รัฐบาลเชิญชวน จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมนอกพื้นที่ตั้งที่ดินออนไลน์

​รัฐบาลเชิญชวนใช้บริการสำนักงานที่ดินออนไลน์ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนอกพื้นที่ตั้งที่ดินได้ นำร่องในกรุงเทพฯ ในปี 2566-67 จะขยายไปใน 10 จังหวัด

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้พัฒนาบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนโดยตรงนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับการให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วยนั้น  

กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินออนไลน์ ให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินแห่งใดของกรุงเทพมหานคร ก็ได้ที่ใกล้บ้านหรือที่สะดวก โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่    

อย่างไรก็ตาม สิทธิหรือนิติกรรมที่จะดำเนินการจดทะเบียนต่างสำนักงานได้นี้จะต้องเป็นแบบที่ไม่มีการต้องประกาศหรือรังวัด ต้องมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดินเท่านั้น และเจ้าของที่ดินต้องเข้าไปดำเนินการด้วยตนเอง  โดยผู้ต้องการใช้บริการจดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์นี้  จะต้องจองคิวล่วงหน้าโดยโหลดแอปพลิเคชัน e-QLands เพื่อเข้าไปลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า 3 วันทำการ  โดยเข้าไปในแอปพลิเคชันแล้วกดเลือกจองคิวจดทะเบียนต่างสำนัก เลือกสำนักงานที่ใกล้บ้านหรือที่สะดวกรอการยืนยัน จากนั้นก็เดินทางไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่จองไว้ได้ 

“รัฐบาลขอเชิญชวนผู้ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมที่ดินใช้บริการจดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก ลดลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดเวลาทำนิติกรรมได้มาก เพราะปีหนึ่งๆในกรุงเทพมหานครมีผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมถึงปีละ 9 แสนรายการ โดยบริการนี้จะครอบคลุมที่ดินในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 2.2 ล้านแปลง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว  

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริการนี้เริ่มนำร่องในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แรก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายจะขยายบริการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2566-67 จะขยายไปใน 10 จังหวัด แยกเป็น

4 จังหวัดในปี 2566 ได้แก่

  1. อุบลราชธานี
  2. หนองคาย
  3. เชียงใหม่
  4. สงขลา

6 จังหวัดในปี 2567 ประกอบด้วย

  1. ขอนแก่น
  2. ปทุมธานี
  3. นนทบุรี
  4. สมุทรปราการ
  5. เพชรบุรี
  6. สิงห์บุรี

โดยบริการที่กว้างขวางขึ้นจะช่วยยกระดับเรื่องการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ในระยะยาวของประเทศไทยด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อประเทศไทยของนักลงทุนต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์