"สาธิต" เร่งทำ ร่างกม.ลูก เชื่อเสร็จเร็ว ไม่เกิด "เดดล็อกการเมือง"

"สาธิต" เร่งทำ ร่างกม.ลูก เชื่อเสร็จเร็ว ไม่เกิด "เดดล็อกการเมือง"

"สาธิต" เชื่อรัฐบาลบริหารจัดการเสียงในสภาฯ ได้ ชี้ต้องเร่งทำร่างพ.ร.ป.ที่ใช้เลือกตั้งให้เสร็จเร็ว เลี่ยงเกิดเดดล็อกการเมือง ประเมินเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ

            นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมกมธ.ฯ ซึ่งสัปดาห์นี้ เพิ่มเวลาการประชุมเป็นเวลาเต็มวัน ตั้งแต่ 09.30 - 16.30 น. ว่า เพื่อชดเชยช่วงที่กมธ.งดประชุมเนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดต่อเนื่อง ส่วนสัปดาห์หน้าคาดว่าจะกลับมาใช้เวลาพิจารณา 09.30 - 13.30 น. เหมือนเดิม อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่เพิ่มวันประชุม แม้มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา และกมธ.ตั้งเป้าจะทำให้แล้วเสร็จก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 22 พฤษภาคม

           นายสาธิต กล่าวตอบคำถามถึงประเด็นการแก้ไข ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ... เกี่ยวกับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครส.ส. หรือไพรมารี่โหวต ว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา โดยต้องสะท้อนความเป็นจริงที่พรรคการเมืองมองว่ามีอุปสรรค ปัญหา ขณะเดียวกันในหลักการที่ให้ประชาชนและสมาชิกพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งมีส่วนแสดงความคิดเห็น  ดังนั้นต้องหาตรงกลางเพื่อหาวิธีให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น ไม่ลงมติ แต่รับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนทางกฎหมาย

 

            "เรื่องไพรมารี่โหวตต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมกมธ.ว่าจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายคิดว่าพอทุกอย่างไหลลื่นไปได้คงไม่มีอะไรที่จะต้องใช้เวลานานมากนัก หากกมธ. ตกลงกันไม่ได้ก็จะนำไปสู่การลงมติ อย่างไรก็ดีขณะนี้มี 2-3 เหตุผล เช่น จำเป็นต้องคงไว้ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หรือ วิธีที่ให้สมาชิกพรรคหลักร้อยแสดงความต้องการแทนประชาชนในเขตที่มีแสนกว่าคนได้หรือไม่  ส่วนผมมองว่าหากเขียนกฎหมายควรทำให้ได้จริง ไม่เช่นนั้นจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น" นายสาธิต กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของ กมธ.ฝั่งส.ว. นายสาธิต กล่าวว่า  เป็นไปได้ด้วยดี  ส.ว.แต่ละคนมีความคิดเห็นและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา สำหรับการจลงมติ ส.ว.มีความเป็นเอกภาพเป็นไปทิศทางเดียวกัน ขณะที่พรรคการเมืองก็อาจมีความเห็นที่แตกต่าง  ทั้งนี้ตนหวังว่ากมธ.จะลงมติในเชิงความเห็นส่วนตัวเป็นหลัก และรับฟังความคิดเห็น พร้อมลงมติในส่วนที่น่าจะเป็นทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยใช้การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีกติกาที่ออกแบบได้สมบูรณ์และทำได้จริงที่สุด 

 

              เมื่อถามว่า มีส.ว.บางคนประเมินว่าทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ ทางฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะทำให้การพิจารณากฎหมายลูกสะดุดหรือไม่  นายสาธิต กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ขณะที่เป้าหมายของกมธ.ต้องทำให้เสร็จเร็วเพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อก และมีกฎหมายลูกเพื่อใช้ได้จริงในกติกาบัตรเลือกตั้ง2 ใบ

 

                "เราจำเป็นต้องออกกฎหมายลูกให้ทัน สมมติว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในเสียงในสภาฯ กฎหมายนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปใช้ไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในทางออกของการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นตัวเครื่องมือจะต้องพร้อม เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าเครื่องมือไม่พร้อมและเกิดสถานการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุก็จะทำให้เกิดเดดล็อกที่ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ หากต้องไปออกพระราชกำหนด ทุกฝ่ายอาจไม่ยอมรับ" นายสาธิต กล่าว 

 

               เมื่อถามว่า ประเมินแล้วจะไม่ถึงขั้นเดดล็อกใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลก็คงจะบริหารจัดการเสียงได้.