สถานะของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในศาลรัฐธรรมนูญ

สถานะของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 20/2564 เกี่ยวกับปัญหาว่าการกำหนดเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายถึงสถานะของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ว่า 

“...หากวิทยาการก้าวหน้า มีการค้นพบรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าสัตว์โลกบางประเภทมีพฤติกรรม หรือลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไป ก็จัดให้เป็นกลุ่มต่างหากเพื่อแยกศึกษาต่อไป เช่นเดียวกับรัฐหรือผู้บัญญัติกฎหมายพบกลุ่มบุคคลที่มีวิถีทางเพศแตกต่างออกไป...ก็สามารถกำหนดการคุ้มครองได้เป็นการเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่ม

เพื่อคุ้มครองบุคคลผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะที่เป็นกรณียกเว้น เห็นได้จากมีการตรา พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาใช้บังคับ...”

สถานะของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในศาลรัฐธรรมนูญ

Pride Month In Thailand 2022

จากข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจัดเป็นกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรม หรือมีลักษณะทางชีวภาพที่แปลกแยกออกไปต่างหากจากกลุ่มชายและหญิง ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้มีความเป็นปกติ” ด้านพฤติกรรม หรือมีลักษณะทางชีวภาพในความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในคำวินิจฉัยนี้ ไม่สอดคล้องกับแนวทางการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งอาจส่งผลเป็นการแบ่งแยกหรือตีตราบุคคล เพราะเหตุแห่งเพศซ้ำยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก คำว่า “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นผลมาจากความพยายามขององค์การสหประชาชาติในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในฐานะที่เป็น “เพศวิถีของคนส่วนน้อย” โดยถือเป็น “กลุ่มทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่มีวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติร่วมกันบางอย่าง โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแยกออกจากสังคมขนาดใหญ่ 

การดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เป็นที่รับรู้ได้จากสังคมและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักความเสมอภาค และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

สถานะของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในศาลรัฐธรรมนูญ

(ภาพโดย National Geographic)

ส่วนประเด็นว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหมายถึงบุคคลใดบ้างนั้น ยังเป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามักนำมาใช้เพื่อสื่อถึงเพศวิถีของคนส่วนน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึง หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) บุคคลรักสองเพศ (Bisexual) บุคคลข้ามเพศ (Transgender) 

บางครั้งยังรวมถึงบุคคลอินเทอร์เซ็ก (Intersex) ซึ่งเกิดมาโดยมีเพศสรีระได้มากกว่าหนึ่งแบบ และมีความซับซ้อนในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เราจึงมักรู้จักกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในอีกชื่อหนึ่งว่า “กลุ่ม LGBTI

อย่างไรก็ดี ในทางวิชาการยังมีความเห็นว่า ความหลากหลายทางเพศมิได้เป็นเรื่องเพศวิถีของคนส่วนน้อยเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงเพศวิถีทุกรูปแบบของบุคคลทุกกลุ่ม รวมถึงเพศวิถีแบบรักต่างเพศที่เกิดขึ้นระหว่างเพศชายกับเพศหญิงได้อีกด้วย กล่าวได้ว่า บุคคลทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่เป็นสมาชิกของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งสิ้น

ประการต่อมา ภายใต้หลักความจริงเรื่องเพศปัจจุบันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพศของมนุษย์มิได้มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง หากแต่ยังหมายความรวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศบนพื้นฐานของความหลากหลายและมีตัวตนอยู่จริงในสังคม 

ความแตกต่างเช่นว่านี้มิอาจได้ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตหรือพฤติกรรม หากแต่เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของบุคคลที่มีแต่กำเนิด และไม่อาจนำมาใช้กล่าวอ้างเพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ให้แตกต่างไปจากบุคคลอื่นได้

เมื่อกลับมาพิจารณาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศในมุมมองของศาล คือ กลุ่มบุคคลที่มิใช่เพศชายและหญิง และมีสถานะเป็นกลุ่มเฉพาะที่เป็นกรณียกเว้นจากเพศชายและหญิงทั่วไป จึงสามารถตรากฎหมายคุ้มครองเป็นการเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะกลุ่มได้

การตีความเช่นนี้ย่อมส่งผลทำให้ความหลากหลายทางเพศของบุคคล กลายเป็นเรื่องความแตกต่างเฉพาะกลุ่มในลักษณะของการเป็น “ข้อยกเว้น” มิใช่ความแตกต่างของบุคคลทั่วไปในลักษณะเป็นเรื่องของ “ความสามารถในการกำหนดตัวตนของความเป็นมนุษย์” จากการที่เขาเกิดมาเป็นเช่นนั้น (Born that way) ทั้งที่แท้จริงแล้ว เพศและความหลากหลายทางเพศล้วนเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ติดตัวบุคคลทุกคนเหมือนกัน

ผู้เขียนจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศคือกลุ่มคนที่มีความผิดปกติ แปลกแยกไปจากบุคคลเพศชายและเพศหญิงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นปกติ (ชายและหญิง) และกลุ่มบุคคลที่เป็นกรณียกเว้น (ที่มิใช่ชายและหญิง) และนำไปสู่การสร้างระบบกฎหมายขึ้นมาใหม่ในลักษณะคู่ขนานไปกับระบบกฎหมายของชายและหญิงต่อไปในอนาคตอย่างไม่มีที่จบสิ้น

ทั้งที่ความจริงแล้ว บุคคลเหล่านั้นเพียงแค่ต้องการโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในทางกฎหมาย โดยมีจุดเริ่มต้นอย่างเดียวกันในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนบุคคลอื่นๆ และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศภายใต้ระบบกฎหมายอย่างเดียวกันเท่านั้นเอง

คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา สุขสม
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์