เสรีแอลกอฮอล์...จะไปต่อหรือพอแค่นี้?! | ชิดตะวัน ชนะกุล

เสรีแอลกอฮอล์...จะไปต่อหรือพอแค่นี้?! | ชิดตะวัน ชนะกุล

จากกรณีในวันที่ 15 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดหารือคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเด็นยกเลิกการจำกัดเวลาขายเหล้า

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ในท้องที่จังหวัดนำร่อง รวมถึงลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ  

ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างดินแดน ที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในด้านการท่องเที่ยวของโลก เกี่ยวกับความเสรีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐซึ่งเป็นที่ตั้งของมหานครชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น LA, San Jose หรือ San Francisco ในระยะเวลาที่ผ่านมา นักการเมืองรัฐนี้ได้ใช้ความพยายามในการแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ในปี 2560 และ 2564

Scott Wiener สมาชิกวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เสนอร่างกฎหมาย SB384 และ SB930 ตามลำดับ เพื่ออนุญาตให้สถานบันเทิงและร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงตี 4 โดยให้เหตุผลว่า สถานบันเทิงยามค่ำคืนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ถูกตีตกไป เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแห่งแคลิฟอร์เนีย (CDPH) รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2564 จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 19,335 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 20%

นอกจากนี้ ผลการศึกษาชี้ชัดว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ งบประมาณที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย ต้นทุนความเสียหายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน จะสูงกว่ารายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมสุราและสถานบันเทิงหลายเท่าตัว 

ร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นอีกครั้งนับจาก Mark Leno นักการเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนียพยายามผลักดันให้มีการขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

ร่างกฎหมายขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ต้องพ่ายแพ้ต่อพลังความร่วมมือของประชาชนและกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ

และที่สำคัญคือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารรัฐแคลิฟอร์เนีย ในนามของคณะกรรมการผู้ดูแล (Assembly Appropriations Committee) ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต สุขภาพ ความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชนเหนือสิ่งอื่นใด

ข้ามฟากมาแถบยุโรป ในประเทศสเปน นอกจากกฎหมายจะกำหนดให้การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 22.00 น. เป็นสิ่งผิดกฎหมาย  

นับแต่ปี 2563 มีการออกกฎระเบียบจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะ Balearic และใน  รีสอร์ทหลายพื้นที่ของ San Antonio, Magaluf และ Playa de Palma อาทิ ห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 21.30 น. ถึง 08.00 น.

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่น่าสนใจคือ กฎการดื่มวันละไม่เกินหกแก้ว (Six-Drink Rule) กล่าวคือ นักท่องเที่ยวที่มาแบบ All-inclusive package จะถูกจำกัดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาอาหารกลางวันและเย็นได้ไม่เกินมื้อละ 3 แก้ว

Lago Negueruela รัฐมนตรีการท่องเที่ยวแห่งหมู่เกาะ Balearic ได้กล่าวเกี่ยวกับกฎนี้มีใจความโดยสรุปว่า “เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวอังกฤษ แม้ว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของหมู่เกาะก็ตาม”

มาต่อที่นอร์เวย์ ดินแดนในแถบนอร์ดิกที่ฟยอร์ด ภูเขา และธรรมชาติที่งดงาม เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หากทว่า นอกจากภาษีที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสูงลิบลิ่ว

การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐที่เข้มงวด อาทิ กฎหมายกำหนดให้การขายทำได้ไม่เกินเวลา 20.00 น. ในวันธรรมดา และไม่เกินเวลา 18.00 น. ในวันเสาร์ และต้องงดจำหน่ายในวันอาทิตย์และวันหยุดบางวันที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

มีเพียงบาร์และคลับที่ได้รับอนุญาตภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดเท่านั้นที่สามารถขายได้นอกเหนือเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการดื่มในที่สาธารณะ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

เป็นที่น่าสนใจว่า การวางรากฐานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดในนอร์เวย์ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 อันเป็นผลมาจากการเรียกร้องของฝ่ายศาสนาและประชาชน เนื่องจากผลกระทบจากโรคพิษสุราที่แพร่หลาย

แม้ว่าภายหลังนักการเมืองจากพรรคฝ่ายขวาจะพยายามแก้ไขกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ความพึงพอใจของประชาชนจากการมีสังคมสงบสุข เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลจากกฎระเบียบที่เข้มงวด รวมถึงการคัดค้านจากนักการเมืองส่วนใหญ่

ทำให้ความพยายามในการผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายขวา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ประสบความสำเร็จ

เมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลกยังตระหนักถึงหายนะภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเกิดกับประชาชน แล้วประเทศไทย...จะไปต่อหรือพอแค่นี้?!